ไมเบฟราดิล (Mibefradil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไมเบฟราดิล(Mibefradil หรือ Mibefradil dihydrochloride) เป็นยาในกลุ่ม แคลเซียมแชนแนล บล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker) ทางคลินิก นำมาใช้เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(Angina) โดย รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ จะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 70% จากนั้นจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 99% ยาไมเบฟราดิลจะถูกทำลายโดยตับ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 17 – 25 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดผ่านทางตับ และส่วนน้อยผ่านทางปัสสาวะ

ยังมีข้อจำกัดของการใช้ยาไมเบฟราดิลที่ผู้บริโภคควรทราบ อาทิ

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความไวต่อการใช้ยาชนิดนี้

ทั้งนี้มียาอื่นๆอยู่หลายรายการที่ถือเป็นข้อห้ามใช้ร่วมกับยาไมเบฟราดิล ด้วยสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงจากปฏิกิริยาระหว่างยาที่รุนแรงต่อผู้ป่วยได้ เช่นยา Astemizole, Cisapride, Terfenadine, Atorvastatin, Cerivastatin, Lovastatin, Simvastatin, Atenolol, Carvedilol, Oxprenolol, Penbutolol, Pindolol, Propranolol, Timolol, Digitalis, Diltiazem, Verapamil, Cyclosporine, Sandimmune, Desipramine, Imipramine, Tacrolimus

ยาไมเบฟราดิล ยังสามารถส่งผลข้างเคียงต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายได้ เช่น ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อ สภาพจิตใจ รวมถึงผิวหนัง และยังมีข้อควรระวังอีกมากมาย ดังนั้นการจะเลือกใช้ยาไมเบฟราดิลในการรักษาหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

ไมเบฟราดิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไมเบฟราดิล

ยาไมเบฟราดิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง(Hypertension)
  • รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(Angina)

ไมเบฟราดิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาไมเบฟราดิล มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะลดการนำเข้าของแคลเซียมในเลือดเข้าไปในกล้ามเนื้อเรียบที่อยู่ในผนังเซลล์ของหลอดเลือด รวมถึงของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ความดันโลหิตลดลง รวมถึงลดการหดตัวของหัวใจอีกด้วย จากกลไกที่กล่าวมา จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไมเบฟราดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไมเบฟราดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 50 มิลลิกรัม/เม็ด

ไมเบฟราดิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไมเบฟราดิลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อน หรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงประโยชน์และโทษของยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง:

  • ขนาดการใช้ยานี้ของผู้ใหญ่สามารถปรับขึ้นลงได้ตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยแพทย์พิจารณาจากการตอบสนองของอาการผู้ป่วยต่อยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไมเบฟราดิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาไมเบฟราดิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไมเบฟราดิล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไมเบฟราดิลตรงเวลา

ไมเบฟราดิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไมเบฟราดิลอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: : เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ท้องอืด มีเลือดออกบริเวณทวารหนัก/อุจจาระเป็นเลือด
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริว
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน ผื่นผิวหนังอักเสบ
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อบุตาอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ไมเบฟราดิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไมเบฟราดิล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีสภาพการทำงานของหัวใจผิดปกติ หรือที่เรียกกันว่า Cardiac conduction disorders โดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • ในระหว่างการใช้ยานี้ แล้วพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรง ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไมเบฟราดิลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไมเบฟราดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไมเบฟราดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมเบฟราดิลร่วมกับยา Acebutolol ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
  • ห้ามใช้ยาไมเบฟราดิลร่วมกับยา Simvastatin ด้วยจะทำให้เกิดตะคริว หรือมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือ ภาวะกล้ามเนื้อลายสลายตามมา
  • การใช้ยาไมเบฟราดิลร่วมกับยา Terfenadine, Propafenone(ยาโรคหัวใจ) จะก่อให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงต่อการทำงานของหัวใจอย่างรุนแรง จึงถือเป็นข้อห้ามในการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมเบฟราดิลร่วมกับยา Verapamil ด้วยจะทำให้หัวใจเต้นช้าผิดปกติ

*อนึ่ง ยาไมเบฟราดิล ยังมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นอีกมากมาย และอาจส่งผลรุนแรงต่อผู้ป่วยเมื่อมีการใช้ยาเหล่านั้นร่วมกัน ซึ่งมีรายงานจากต่างประเทศว่าผู้ป่วยบางรายถึงกับเสียชีวิตเนื่องจากภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)จากมีการใช้ไมเบฟราดิลร่วมกับยาต่างๆ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยาไมเบฟราดิลถูกเพิกถอนออกจากตลาดยาของต่างประเทศในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป เมื่อปี ค.ศ.1998 (พ.ศ.2541)

ควรเก็บรักษาไมเบฟราดิลอย่างไร?

ควรเก็บยาไมเบฟราดิลภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไมเบฟราดิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไมเบฟราดิล ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Posicor (โปซิคอร์)Roche

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Calcium_channel_blocker [2016,Sept17]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Mibefradil [2016,Sept17]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/mibefradil/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept17]
  4. http://medical-dictionary-search-engines.com/drug/?name_id=1523&level=2&flag=0 [2016,Sept17]
  5. https://www.drugs.com/sfx/mibefradil-side-effects.html [2016,Sept17]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/mibefradil-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Sept17]
  7. http://www.drugbank.ca/drugs/DB01388 [2016,Sept17]