ไมนอกซิดิล (Minoxidil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไมนอกซิดิล (Minoxidil) จัดเป็นยาลดความดันโลหิตสูงที่นำมาใช้กับผู้ป่วยซึ่งร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาขับปัสสาวะและยาลดความดันโลหิตตัวอื่น มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัวจึงส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง

ต่อมาพบว่าหลังการใช้ยานี้ทำให้ผมงอกขึ้นได้ในผู้ที่มีศีรษะล้าน บริษัทยาบางบริษัทจึงคิดค้นและผลิตไมนอกซิดิลในรูปแบบยาทาเฉพาะที่และระบุให้มีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการผมร่วง ศีรษะล้าน จึงเป็นอีกหนึ่งสรรพคุณของยานี้

ในสูตรตำรับแรกๆของไมนอกซิดิลที่ใช้เป็นยาทา มักมีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์และโพรพิลีนไกลคอล (Propylene glycol ซึ่งเป็นสารประกอบชนิดหนึ่งใช้เป็นส่วนผสมเพื่อเป็นสารกันเสีย/Preservative และตัวทำละลาย/Solvent) ผลปรากฏว่าหลังการทายานี้ที่หนังศีรษะ ก่อให้เกิดผิวหนังแห้งและมีรังแคตามมา จึงมีการพัฒนาสูตรตำรับเปลี่ยนไปใช้ตัวทำละลายใหม่ประเภท Lipid Nanosomes เพื่อลดผลข้างเคียงจากแอลกอฮอล์และโพรพิลีนไกลคอลดังกล่าว

ปัจจุบันเราจะพบเห็นการใช้ยาไมนอกซิดิลทั้งในลักษณะยารับประทานเพื่อลดความดันโลหิตและยาทาเฉพาะที่เพื่อรักษาอาการผมร่วง ศีรษะล้าน ไม่ว่าจะใช้ยาเพื่อวัตถุประสงค์ของการรักษาใดๆก็ตามควรจะต้องเป็นไปตามคำแนะนำหรือใช้ตามดุลยพินิจของแพทย์เสมอ

ไมนอกซิดิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไมนอกซิดิล

ยาไมนอกซิดิลมีสรรพคุณดังนี้เช่น

  • รักษาความดันโลหิตสูงโดยใช้เป็นยารับประทาน
  • รักษาอาการผมร่วง ศีรษะล้าน โดยใช้ในลักษณะของยาทาเฉพาะที่

ไมนอกซิดิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาไมนอกซิดิลคือ

  • ในเรื่องการลดความดันโลหิต ยาไมนอกซิดิลจะทำให้เกิดกระบวนการบางอย่างที่เรียกว่า การเปิดช่องของเกลือโพแทสเซียม (Opening of potassium channels) ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดแดงจึงทำให้ความดันโลหิตลดลง
  • ในเรื่องการช่วยให้ผมดกขึ้น กลไกในเรื่องนี้ของยาไมนอกซิดิลยังไม่ทราบชัดเจน เชื่อว่าการขยายตัวของหลอดเลือดที่หนังศีรษะจากการทายานี้ อาจเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงเซลล์ผมมากขึ้น ผมจึงเจริญเติบโตได้ดีส่งผลให้ผมดกขึ้นได้

ไมนอกซิดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไมนอกซิดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น

  • ยาเม็ดรับประทาน ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด (ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต)
  • ยาน้ำใช้ทาภายนอก ขนาดความแรง 2, 3 และ 5 กรัม/100 มิลลิลิตร (ใช้รักษาภาวะผมร่วง)

ไมนอกซิดิลมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?

ยาไมนอกซิดิลมีขนาดการใช้ยาดังนี้เช่น

ก. สำหรับรักษาความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทาน 5 - 40 มิลลิกรัมเพียงครั้งเดียว/วัน หรือแบ่งรับประทานโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี: รับประทาน 200 ไมโครกรัม - 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยรับประทานเพียงครั้งเดียว/วันหรือแบ่งรับประทาน ตามคำแนะนำของแพทย์

***** อนึ่ง การใช้ยานี้ในเด็กต้องสั่งยาและอยู่ในการดูแลใกล้ชิดของแพทย์เท่านั้น

ข. สำหรับทาเพื่อรักษาอาการศีรษะล้าน:

  • ผู้ใหญ่: ทายาวันละ 2 ครั้ง โดยแพทย์จะเป็นผู้คัดเลือกความเข้มข้นของยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย
  • เด็ก: การใช้ยากับเด็กต้องเป็นไปตามคำสั่งและอยู่ในการดูแลใกล้ชิดจากแพทย์

***** อนึ่ง:

  • ก่อนทายาให้ล้างทำความสะอาดบริเวณศีรษะที่จะทายา เช็ดให้แห้ง เทยาบนศีรษะส่วนนั้นเพียงเล็กน้อยประมาณ 1 มิลลิลิตร จากนั้นทาบนผิวหนังศีรษะที่ต้องการกระตุ้นให้เส้นผมงอก ค่อยๆลูบและทาเพียงเบาๆให้ทั่ว ทิ้งไว้ให้แห้งตามธรรมชาติ ห้ามใช้ความร้อนเป่าให้ผมแห้ง (ยาอาจติดไฟได้) ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง ระวังมิให้ยาสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา ล้างมือให้สะอาดหลังทายาทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องสระผมทันทีตาม หลังการใช้ยา ให้สระผมตามปกติที่เคย โดยใช้แชมพูที่อ่อนโยนหรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไมนอกซิดิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาทาอะไรอยู่ เพราะยาไมนอกซิดิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาหรือลืมทายาไมนอกซิดิลสามารถรับประทาน/ทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ทายาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไมนอกซิดิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไมนอกซิดิลมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

  • ยาไมนอกซิดิลชนิดรับประทานสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงดังนี้เช่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการเจ็บหน้าอกและการหายใจติดขัด/หายใจลำบาก หน้าแดง ขาหรือเท้าบวม อาจพบอาการชาตามมือ เท้า หรือที่ใบหน้า สำหรับอาการข้างเคียงที่พบได้น้อยเช่น อาการผื่นคันตามผิวหนัง เรายังอาจพบอาการผมงอกเร็ว ขนดก ขึ้นบนใบหน้า แขน และหลังได้ด้วย นอกจาก นี้ทั้งชายและหญิงอาจมีอาการคัดตึงเต้านมได้ด้วยเช่นเดียวกัน
  • สำหรับอาการข้างเคียงของยาชนิดทาภายนอกได้แก่ การระคายเคืองของผิวที่สัมผัสกับยา มีขนขึ้นที่ใบหน้า เจ็บหน้าอก สับสน ปวดศีรษะ วิงเวียน หน้าแดง เป็นต้น

***** หมายเหตุ:

  • ไม่ว่าจะเป็นอาการข้างเคียงใดๆก็ตามที่ส่งผลให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ควรต้องกลับไปพบแพทย์ผู้รักษาเพื่อแพทย์ปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ยากับผู้ป่วยให้เหมาะสม

มีข้อควรระวังการใช้ไมนอกซิดิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการช้ยาไมนอกซิดิลดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาไมนอกซิดิล
  • ห้ามใช้ยาไมนอกซิดิลชนิดรับประทานเพื่อการปลูกหรือกระตุ้นให้ผมงอกขึ้น
  • ห้ามใช้ไมนอกซิดิลทาแก้ผมร่วงกับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมนอกซิดิลชนิดรับประทานกับสตรีตั้งครรภ์ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ยาไมนอกซิดิลสามารถขับออกมากับน้ำนมมารดาได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยากับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร แนะนำให้เลี้ยงบุตรด้วยนมผงสำเร็จรูปที่มีเกณฑ์มาตรฐานตรงกับอายุของทารกแทนนมมารดา
  • ระวังยาไมนอกซิดิลชนิดทาเข้าตา ด้วยจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหรือเยื่อตาอักเสบ
  • หากพบอาการแพ้ยาเช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นขึ้นเต็มตัว บวมตามใบหน้า คอ ลิ้น ให้หยุดการใช้ยาและรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไมนอกซิดิลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไมนอกซิดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไมนอกซิดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาไมนอกซิดิลชนิดทาผิวหนังเพื่อปลูกผมร่วมกับยาลดความดันโลหิตเช่น Tadalafil ร่างกายสามารถดูดซึมยาไมนอกซิดิลผ่านผิวหนังและไปเสริมฤทธิ์ของผลข้างเคียงร่วมกับ Tadalafil โดยจะมีอาการความดันโลหิตต่ำ บวมตามร่างกาย ชีพจร/หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจพบอาการวิงเวียนหรืออาการปวดศีรษะร่วมด้วย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาทั้ง 2 ตัวให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาไมนอกซิดิลชนิดรับประทานร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อบางตัวเช่น Tizanidine สามารถทำให้ความดันโลหิตต่ำลงมาก อาจมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม ชีพจรเต้นผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยาไมนอกซิดิลร่วมกับยา Hydrocortisone สามารถทำให้เกิดความดันโลหิตสูงผิดปกติ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป

ควรเก็บรักษาไมนอกซิดิลอย่างไร?

ควรเก็บยาไมนอกซิดิลทั้ง 2 รูปแบบระหว่างอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ ควรเก็บยาบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไมนอกซิดิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไมนอกซิดิลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Loniten (โลนิเทน)Pfizer
Manoxidil (มานอกซิดิล)March Pharma
Minodil (มิโนดิล)Charoon Bhesaj
Minor (ไมเนอร์)T. Man Pharma
Modil (โมดิล)General Drugs House
Noxidil/Noxidil Forte (นอกซิดิล/นอกซิดิล ฟอร์ท)T.O. Chemicals
Regaine (รีเกน)Johnson & Johnson
Regrowth (รีโกรว์)Medicine Products
Reten/Reten 5 (รีเท็น/รีเท็น 5)T.O. Chemicals
S.M. (เอส.เอ็ม.)T. Man Pharma

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Minoxidil [2014,Dec20]
2. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=minoxidil&page=0 [2014,Dec20]
3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Loniten/?type=brief [2014,Dec20]
4. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Minodil/?type=brief [2014,Dec20]
5. http://www.drugs.com/cons/minoxidil.html [2014,Dec20]
6. http://www.drugs.com/mtm/minoxidil-topical.html [2014,Dec20]
7. http://www.medicinenet.com/minoxidil/article.htm [2014,Dec20]
8. http://www.guysandstthomas.nhs.uk/resources/patient-information/pharmacy/minoxidil-lotion-for-hair-loss.pdf [2014,Dec20]