ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (5-HT4 receptor agonists)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
- ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
- ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (GI motility stimulant or Prokinetic drugs)
- ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Selective serotonin receptor agonists)
บทนำ
ยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (5-HT4 receptor agonist หรือ 5 hydroxytryptamine receptor agonist) หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ซีโรโทนิน ไทป์ 4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Serotonin type 4 receptor agonists) เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์เพิ่มการเคลื่อนไหวหรือการบีบตัวของระบบทางเดินอาหาร/ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (Prokinetic agent) ส่งผลทำให้มวลของอาหารเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้เร็วยิ่งขึ้น จึงช่วยบำบัดอาการ จุก/แน่นท้อง บรรเทาอาการกรดไหลย้อน และอาการท้องผูก ด้วยสรรพคุณดังกล่าว ทำให้ยากลุ่มนี้สามารถนำไปรักษาอาการโรคลำไส้แปรปรวนอีกด้วย
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ที่มักพบเห็นการใช้ทางยา จะเป็นแบบรับประทาน และมีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่ยาบางตัวของกลุ่มนี้ได้ถูกเพิกถอนและถูกระงับการใช้ในประเทศแถบตะวันตก ด้วยผลข้างเคียงที่มีต่อการทำงานของหัวใจ แต่ก็ยังพบเห็นยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ตัวดังกล่าวมีใช้อยู่ในแถบเอเชีย อาจยกตัวอย่างยากลุ่มไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ ดังนี้ เช่น Cinitapride, Cisapride, Dazopride, Metoclopramide, Mosapride, Prucalopride Renzapride, Tegaserod, และ Zacopride
ยาบางตัวของยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์สามารถออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ชื่อ ไฟว์-เอชที รีเซพเตอร์(5 HT receptor ย่อมาจาก 5 hydroxytryptamine receptor ชื่ออื่นคือ Serotonin receptor)ชนิดอื่น นอกจากจะใช้เป็นยารักษาอาการทางกระเพาะอาหารและลำไส้แล้ว ในอนาคตเราอาจจะพบเห็นยากลุ่มนี้ใช้เพิ่มศักยภาพการเรียนรู้และความจำอีกด้วย
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ชนิดต่างๆของ Serotonin receptor ได้ในเว็บ haamor.com บทความชื่อ ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Selective serotonin receptor agonists)
ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บรรเทาอาการ แน่นท้อง ท้องอืด ท้องผูกเรื้อรัง
- ลดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน
- บรรเทาอาการโรคลำไส้แปรปรวน
ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ 5-HT4 receptor ที่อยู่ตามลำไส้เล็กอย่างจำเพาะเจาะจง ส่งผลกระตุ้นทำให้ลำไส้เล็กบีบตัวเพื่อไล่อาหารที่คั่งค้างเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้น
ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- เป็นยารับประทาน
ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาในกลุ่มไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ มีหลายรายการ ขนาดรับประทานและการบริหารยา/ใช้ยาจึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วยร่วมด้วยกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
สามารถรับประทานยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ เมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว ใบหน้าแดง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ปวดศีรษะไมเกรน นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ ท้องอืด อาเจียน เบื่ออาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ เ กิดริดสีดวงทวาร หิวอาหารบ่อย
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น มีภาวะตับอักเสบ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโปแตสเซียมในเลือด ต่ำ ปริมาตรเลือดในร่างกายน้อยลง/ภาวะซีด
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ เกิดตะคริว
- ผลต่อการเกิดมะเร็ง: เช่น ยาบางตัวของกลุ่มนี้อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเต้านม เช่นยา Tegaserod
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดอาการหอบหืด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน เหงื่อออกมาก
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมาก เกิดโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
- อื่นๆ: ประจำเดือนผิดปกติในสตรี
มีข้อควรระวังการใช้ยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ ยาMetoclopramide ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานอย่าง ยาInsulin อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดของการให้ยาInsulin เป็นกรณีบุคคลไป
- ห้ามใช้ยาCisapride ร่วมกับยาปฏิชีวนะ เช่นยา Clarithomycin, Erythromycin, สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
ควรเก็บรักษาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไฟว์-เอชที4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cipasid (ซิพาซิด) | Siam Bheasach |
Cisapac (ซิซาแพค) | Inpac Pharma |
Cisapid (ซิซาพิด) | Inpac Pharma |
Cisaride (ซิซาไรด์) | Pharmasant Lab |
Palcid (แพลซิด) | Pharmadica |
Emetal (อีเมทัล) | Asian Pharm |
Hawkperan (ฮ็อกเพอแรน) | L.B.S. |
H-Peran (เฮท-เพอแรน) | L.B.S. |
K.B. Meta (เค.บี. เมต้า) | K.B. Pharma |
Manosil (แมโนซิล) | March Pharma |
Maril (แมริล) | Atlantic Lab |
บรรณานุกรม
- https://livertox.nih.gov/Serotonin5-HT4ReceptorAgonists.html [2018,Jan20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:5-HT4_agonists [2018,Jan20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tegaserod [2018,Jan20]
- https://www.drugs.com/sfx/tegaserod-side-effects.html [2018,Jan20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dazopride [2018,Jan20]