ไพโลคาร์พีน (Pilocarpine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาไพโลคาร์พีน/ยาพิโลคาร์ปีน (Pilocarpine) คือ ยาที่นำมาใช้รักษาโรคต้อหิน และอาการปากคอแห้งในผู้ป่วยมะเร็ง ยาไพโลคาร์พีนจัดเป็นสารเคมีที่อยู่ในกลุ่มแอลคาลอยด์/อัลคาลอยด์ (Alkaloid) ประเภท Parasympathomimetic alkaloid (สารที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทพาราซิมพาเทติก) ซึ่งพบมากในใบของพืชในแถบอเมริกาใต้ที่มีชื่อว่า Pilocarpus microphyllus

องค์การอนามัยโลกจัดให้ยาไพโลคาร์พีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระบบสาธารณสุขในชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้เป็นยารักษาโรคต้อหิน เราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน โดยมีรูปแบบของการใช้ยาเป็นชนิด รับประทาน และยาหยอดตา

ไพโลคาร์พีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไพโลคาร์พีน

ยาไพโลคาร์พีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาโรคต้อหิน
  • รักษาอาการปากคอแห้งในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งได้รับการรักษาโดยการฉายรังสีที่ช่องปาก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
  • รักษาผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s syndrome)

ไพโลคาร์พีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพโลคาร์พีนคือ ตัวยาจะกระตุ้นตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า Cholinergic receptors ในลูกตา ส่งผลให้รูม่านตาหดตัวลง อีกทั้งทำให้กล้ามเนื้อในลูกตาที่ชื่อ Ciliary muscle หดตัว ส่งผลให้ผ่อนคลายและลดความดันลูกตา จึงเกิดฤทธิ์รักษาอาการจากต้อหินตามสรรพคุณ นอกจากนั้น ยังออกฤทธิ์กระตุ้นเซลล์ต่อมน้ำลายให้สร้างน้ำลายเพิ่มมากขึ้น จึงช่วยบรรเทาอาการปากคอแห้งได้

ไพโลคาร์พีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไพโลคาร์พีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 2 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร

ไพโลคาร์พีนมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?

ยาไพโลคาร์พีนมีขนาดการใช้ยา: เช่น

ก. สำหรับอาการปากคอแห้งในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณช่องปาก: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดเริ่มต้นรับประทาน 5 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ถ้าจำเป็นแพทย์สามารถปรับเพิ่มขนาดรับประทานทีละน้อยหลังจากรับประทานขนาดเริ่มต้นไปแล้ว 4 สัปดาห์ จนอาการของคนไข้ดีขึ้นและเป็นที่น่าพอใจ โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการศึกษาถึงขนาดยานี้ในเด็กที่ชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

ข. สำหรับรักษากลุ่มอาการโจเกรน(Sjogren’s syndrome): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 5 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิ กรัม/วัน หากใช้ยาไปแล้วเป็นเวลา 3 เดือนอาการไม่ดีขึ้นให้หยุดการใช้ยา และรีบพบแพทย์/เพื่อประเมินการรักษา
  • เด็ก: กลุ่มอาการนี้เป็นโรคมักพบในผู้ใหญ่ จึงไม่มีข้อมูลขนาดยาในเด็กที่ชัดเจน การใช้ยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

ค. สำหรับต้อหิน (Open-angle glaucoma): เช่น

  • ผู้ใหญ่: หยอดตาครั้งละ 1 - 2 หยดวันละ 3 - 4 ครั้ง หรือตามแพทย์แนะนำ
  • เด็ก: ขนาดการใช้ยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยา/ใช้ยาไพโลคาร์พีนก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • การได้รับยาไพโลคาร์พีนเกินขนาดอาจทำให้เกิดภาวะ Cholinergic crisis ซึ่งสังเกตได้จากอาการเหงื่อออกมาก น้ำตาไหล การบีบตัวของช่องทางเดินอาหารมากขึ้น หัวใจเต้นช้า รวมถึงมีอาการหดเกร็งตัวของหลอดลม/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย หากเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไพโลคาร์พีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไพโลคาร์พีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาไพโลคาร์พีน สามารถรับประทานยา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไพโลคาร์พีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไพโลคาร์พีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • เมื่อใช้เป็นยาหยอดตา: ผลข้างเคียง เช่น
    • มีอาการเจ็บและระคายเคืองที่ลูกตา
    • ตาพร่า
    • รูม่านตาหดตีบ
    • เลือดออกในน้ำวุ้นตา (Vitreous haemorrhage)
    • อาจก่อให้เกิดพยาธิสภาพที่เยื่อบุตา (เช่น คันตา ตาบวม ตาแดง)
    • ปวดบริเวณขมับ (Browache)
  • เมื่อใช้เป็นยารับประทาน: ผลข้างเคียง เช่น
    • ท้องเสีย
    • ปวดท้อง
    • คลื่นไส้- อาเจียน
    • ปวดศีรษะ
    • หัวใจเต้นช้า หรือ หัวเต้นใจเร็ว ก็ได้
    • หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
    • ตัวสั่น
    • ตาพร่า /ตามัว

มีข้อควรระวังการใช้ไพโลคาร์พีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพโลคาร์พีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็น
    • โรคต้อหินชนิด Angle-closure glaucoma
  • มีการอักเสบของผนังลูกตาชั้นกลาง/Acute iristis และ Anterior uveitis (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง ยูเวียอักเสบ/ การอักเสบของยูเวีย)
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับ
    • ผู้ป่วยที่มีจอตาหลุดลอก (Retinal detachment) หรือ
    • ผู้ป่วยที่กระจกตาเป็นแผล หรือ
    • กระจกตาถลอก
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะกระจกตาขุ่นมัว
  • หลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักรเมื่อต้องใช้ยานี้เพราะอาจมีปัญหาทางการมองเห็นที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพโลคาร์พีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไพโลคาร์พีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไพโลคาร์พีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ยาบางกลุ่มเมื่อใช้ร่วมกับยาไพโลคาร์พีนสามารถลดประสิทธิภาพการรักษาของยาไพโลคาร์พีนได้ เช่น ยากลุ่ม Aminoglycosides, Clindamycin, Colistin (ยาปฏิชีวนะ), Quinine (ยาต้านมาลาเรีย), Lithium, Procainamide (ยาต้านมาลาเรีย) และยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์(Beta blocker) หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • เมื่อใช้ไพโลคาร์พีนร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ เช่นยา Suxamethonium สามารถทำให้การออกฤทธิ์ของยา Suxamethonium ยาวนานขึ้น การใช้ยาร่วมกันต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการรักษาของยาทั้ง 2 ตัว อีกทั้งอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงที่อาจติดตามมาได้ การใช้ยาร่วม กันควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาว่าสมควรปรับเปลี่ยนขนาดการใช้ยาหรือไม่
  • การใช้ยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์ร่วมกับยาไพโลคาร์พีน สามารถลดประสิทธิภาพในการรักษาของยาไพโลคาร์พีน หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาที่เหมาะ สมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาไพโลคาร์พีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาไพโลคาร์พีน เช่น

  • เก็บยาไพโลคาร์พีนชนิดยาหยอดตาที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาไพโลคาร์พีนชนิดยารับประทานที่อุณหภูมิ 2 - 27 องศาเซลเซียส

อนึ่ง: สำหรับยานี้ทุกรูปแบบ

  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่ควรเก็บในห้องน้ำ
  • เก็บให้พ้นแสงแดด และความชื้น และ
  • เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไพโลคาร์พีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไพโลคาร์พีน มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Isopto Carpine (ไอซอปโต คาร์พีน) Alcon
Salagen (ซาลาเจน) Eisai

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pilocarpine [2021,June12]
  2. https://www.medicinenet.com/pilocarpine/article.htm [2021,June12]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Salagen/?type=brief [2021,June12]
  4. https://www.mims.co.uk/drugs/eye/glaucoma/pilocarpine [2021,June12]
  5. https://www.drugs.com/mtm/pilocarpine.html [2021,June12]
  6. https://www.drugs.com/pro/pilocarpine-eye-drops.html [2021,June12]
  7. https://www.drugs.com/mtm/salagen.html [2021,June12]