ไพร์วิเนียม (Pyrvinium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไพร์วิเนียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไพร์วิเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไพร์วิเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไพร์วิเนียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไพร์วิเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไพร์วิเนียมอย่างไร?
- ไพร์วิเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไพร์วิเนียมอย่างไร?
- ไพร์วิเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
- พยาธิเข็มหมุด
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- ผื่นแพ้แสง ผื่นแพ้แสงแดด (Photodermatitis)
- การตรวจอุจจาระ (Stool examination)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
บทนำ
ยาไพร์วิเนียม (Pyrvinium หรือ Pyrvinium Pamoate หรือ Pyrvinium embonate) หรืออีกชื่อคือ วิไพร์เนียม (Viprynium) เป็นยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุด แต่ไม่สามารถนำมาใช้กับการติดเชื้อพยาธิตัวกลม และพยาธิตัวตืดได้ ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดจะมีอาการคันในบริเวณทวารหนักที่ส่งผลรบกวนการนอนหลับอย่างมาก การติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดมีกลไกจากการรับประทานอาหารที่มีไข่พยาธินี้ ซึ่งจะมีการฟักตัวที่ลำไส้เล็ก พยาธิเข็มหมุดตัวเมียจะเริ่มวางไข่เมื่อตัวมันเคลื่อนย้ายมาอยู่ในส่วนปลายลำไส้ใหญ่
ก่อนตัดสินใจเลือกใช้ยาไพร์วิเนียมในการรักษาโรคพยาธินั้น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจยืนยันจากแพทย์ จนมั่นใจว่ามีการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดจริง โดยทั่วไป การรับประทานยานี้ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษแต่อย่างใด การใช้ยานี้ต้องอาศัยน้ำหนักตัวของผู้ป่วยมาคำนวณขนาดรับประทาน ผู้ป่วยรับประทานยานี้เพียงครั้งเดียวก็เห็นประสิทธิผลแล้ว หรืออาจต้องใช้ยาซ้ำอีกครั้งในเวลา 2 – 3 สัปดาห์ต่อมา
ยาไพร์วิเนียมสามารถส่งผลให้ผิวหนังของผู้ที่ใช้ยานี้ เกิดการตอบสนองหรือผิวแพ้แสงแดดได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้นระหว่างที่ได้รับยาไพร์วิเนียมผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการออกแดดโดยตรง หรือกรณีต้องออกไปในที่โล่งแจ้ง ควรต้องสวมใส่เสื้อผ้าปกปิดอย่างมิดชิด และควรใช้โลชั่น/ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 (SPF 15)เป็นอย่างต่ำ และด้วยวัตถุดิบของยาไพร์วิเนียมมีลักษณะเป็นผงผลึกสีแดง จึงทำให้ผู้ที่รับประทานยานี้มีอุจจาระสีแดงซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด อาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อหยุดใช้ยา
เราอาจพบเห็นการใช้ยานี้ในแถบยุโรปภายใต้ชื่อการค้าว่า “Pyrcon” โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ในรูปแบบเป็นยาน้ำแขวนตะกอน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม)
อนึ่ง เพื่อความปลอดภัยของการใช้ยาไพร์วิเนียมผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรต้องใช้ยานี้และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ไพร์วิเนียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไพร์วิเนียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยารักษาการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุด
ไพร์วิเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไพร์วิเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์คือ หลังรับประทาน ตัวยาไพร์วิเนียมจะไม่ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร แต่จะเข้าออกฤทธิ์ที่ตัวพยาธิ โดยทำให้กระบวนการนำสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมาใช้ให้เกิดพลังงานในตัวพยาธิถูกยับยั้ง จนเป็นเหตุให้พยาธิตายลง และถูกขับทิ้งออกมาพร้อมกับอุจจาระ
ไพร์วิเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไพร์วิเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ที่มีส่วนประกอบของตัวยา Pyrvinium ขนาด 50 มิลลิกรัม/1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร)
ไพร์วิเนียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไพร์วิเนียมมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานยา 5 มิลลิลิตร (50 มิลลิกรัมไพร์วิเนียม)/น้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม ครั้งเดียว
- เด็กที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 10 กิโลกรัม: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- เขย่าขวดทุกครั้งก่อนรับประทานยานี้
- หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจ่ายยานี้ซ้ำอีก 1 ครั้งภายใน 2–4 สัปดาห์ นับจากการรับประทานยาครั้งแรก
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- การรับประทานยานี้เกินขนาด อาจทำให้มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆตามมา การดูแลรักษาคือ ต้องรีบนำส่งผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์อาจใช้วิธีการล้างท้อง หรือให้รับประทานยาถ่านกัมมันต์เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยตามความเหมาะสม
- อุจจาระของผู้ที่ใช้ยานี้ จะมีสีแดงซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และอาการนี้จะหายไปเองเมื่อหยุดใช้ยานี้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไพร์วิเนียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น มีแผลในทางเดินอาหาร ท้องเสียเป็นประจำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพร์วิเนียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาไพร์วิเนียมตามคำสั่งแพทย์ สามารถรับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์จะให้รับประทานเพียงครั้งเดียว การจะรับประทานยานี้ครั้งถัดไป ควรต้องมาพบแพทย์อีกครั้งเพื่อแพทย์ตรวจยืนยันอาการก่อนใช้ยานี้ซ้ำ
ไพร์วิเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไพร์วิเนียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย
มีข้อควรระวังการใช้ไพร์วิเนียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไพร์วิเนียม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ กรณีแพทย์อนุญาตให้ใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ แพทย์จะคำนวณขนาดการรับประทานยานี้จากน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน ยาตกตะกอนเป็นก้อนแข็ง
- กรณีใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น เช่น ยังมีอาการคันทวารหนัก ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ประเมินการรักษาอีกครั้ง
- ดูแลสุขลักษณะส่วนตัวอยู่เป็นประจำ เช่น ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ เสื้อผ้าที่อาจสัมผัสกับไข่พยาธิควรได้รับการซักล้างและนำไปตากแดดให้แห้ง ด้วยแสงแดดสามารถทำลายไข่พยาธิได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้กลับไปติดเชื้อพยาธิอีก
- หลีกเลี่ยงการออกแดด/ผิวหนังสัมผัสแสงแดดโดยตรง ระหว่างที่มีการรับประทานยาชนิดนี้
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด เพื่อแพทย์ตรวจติดตามอาการว่า หายจากการติดเชื้อพยาธิหรือยัง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพร์วิเนียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไพร์วิเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปัจจุบัน ทางคลินิก มีข้อมูล/มีรายงานปฏิกิริยาระหว่างยาของยาไพร์วิเนียมกับยาอื่นๆน้อยมาก อย่างไรก็ตามยานี้อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆได้ ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบว่าตนเองว่ามีการใช้ยาอะไรอยู่บ้าง และกรณีใช้ยาไพร์วิเนียมร่วมกับยาตัวใดแล้วเกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยาจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อขอคำแนะนำหรือดำเนินการรักษาโดยเร็ว
ควรเก็บรักษาไพร์วิเนียมอย่างไร?
ควรเก็บยาไพร์วิเนียมในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ไพร์วิเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไพร์วิเนียมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Pyrcon (ไพร์คอน) | Krewel Meuselbach GmbH |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Molevac, Pirok, Pyrvin, Vanquin
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cons/pyrvinium.html [2017,March4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pyrvinium [2017,March4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pinworm_infection [2017,March4]
- https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/pyrvinium#section=Computed-Properties [2017,March4]
- http://goldpharma.cn/search/pyrcon/lang/ENGLISH/ap/pyrvinium/df/suspension/ [2017,March4]
- https://www.europa-apotheek.com/pyrcon-suspension-4023245.html [2017,March4]
- https://www.drugs.com/mmx/pyrvinium-pamoate.html [2017,March4]