ไพรีทริน (Pyrethrin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา/สารไพรีทริน(Pyrethrin) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีฤทธิ์ฆ่าแมลงโดยการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท มนุษย์สามารถสกัดสารไพรีทรินจากดอกไม้ประเภทเบญจมาศ อาจกล่าวได้ว่าสาร/ยาไพรีทรินเป็นสารเคมีอินทรีย์ที่ใช้กำจัดแมลงมายาวนานกว่า 1,000 ปี สารไพรีทรินเป็นสารกำจัดแมลงที่เข้ามาแทนที่สารประเภทออกาโนฟอสเฟต(Organophosphates,สารฆ่าแมลงที่ทีผลต่อ DNAและRNAของมนุษย์และสัตว์ที่รวมถึงแมลง)/ออกาโนคลอไรด์ (Organochlorides) เพื่อสนองความต้องการใช้สารไพรีทรินมากขึ้นมนุษย์ ไม่ได้รอการสกัดสารนี้จากธรรมชาติเท่านั้น แต่ได้ใช้เทคโนโลยีพัฒนาสารประกอบที่มีโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกับสารไพรีทรินที่มีชื่อว่า ไพรีทรอยด์ (Pyrethroid) เพื่อใช้เป็นสารกำจัดแมลง โดยมีข้อห้ามทิ้งสารไพรีทรอยด์ลง แม่น้ำ คู คลอง ด้วยสารไพรีทรอยด์สามารถก่อให้เกิดพิษต่อสัตว์น้ำ แต่สารนี้ก็สามารถถูกทำลายโดยแสงแดดภายในเวลา 1–2 วันเช่นกัน

สารไพรีทรินยังถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามโครงสร้างเคมีที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย เช่น Pyrethrin I, Cinerin I , Jasmolin I , Pyrethrin II , Cinerin II, และ Jasmolin II, อนุพันธ์ของสารไพรีทรินทั้ง 6 ชนิด จะถูกสกัดรวมผสมกันมาเพื่อใช้เป็นยาฆ่าแมลง ปัจจุบัน การสกัดสารไพรีทรินจะได้มาจากต้นพืชที่ปลูกในภูมิประเทศที่มีอากาศร้อนแถบภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 3,000–6,000 เมตร ซึ่งแหล่งวัตถุดิบของสารไพรีทรินส่วนใหญ่มาจากประเทศเคนย่า

จากคุณสมบัติที่เป็นยาฆ่าแมลงที่มีการสลายตัวได้รวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์จึงได้ยกระดับการใช้งานสารไพรีทรินโดยนำมาผลิตเป็น”แชมพูยา(Pyrethrin shampoo หรือ Piperonyl shampoo หรือ Piperonyl Butoxide Topical)” เพื่อกำจัดเหาตามหนังศีรษะและตามร่างกายของมนุษย์ ตลอดรวมไปจนถึงในสัตว์เลี้ยง

การใช้ผลิตภัณฑ์แชมพูไพรีทรินอย่างผิดวิธี อาจก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน หรือถ้าร่างกายได้รับสารไพรีทรินไม่ว่าจะปนเปื้อนกับ อาหาร น้ำดื่ม จะสามารถก่อให้เกิดอาการพิษต่างๆดังต่อไปนี้ เช่น ชาตามลิ้นและริมฝีปาก น้ำลายยืด/น้ำลายมาก ไม่มีแรง/กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก หายใจขัด/หายใจลำบาก อาเจียน ท้องเสีย มีอาการชักจนถึงขั้นเสียชีวิต

การใช้แชมพูยาสารไพรีทรินตามเอกสารที่กำกับยา/กำกับมากับผลิตภัณฑ์นี้ จะ ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในกำจัดเหา รวมถึงมีความปลอดภัยต่อตัวผู้บริโภค/ผู้ป่วยและสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ไพรีทรินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไพรีทริน

ไพรีทรินแชมพูยา มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อใช้เป็นแชมพูกำจัดเหาตามหนังศีรษะและตามร่างกาย

ไพรีทรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

แชมพูสาร/ยาไพรีทริน มีฤทธิ์รบกวนการทำงานของระบบประสาทในตัวแมลง/เหา ทำให้เกิดภาวะอัมพาต รวมถึงการทำงานของส่วนต่างๆในแมลง/ในเหา ล้มเหลวและตายลงในที่สุด

ไพรีทรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไพรีทริน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • แชมพูยาสระผม ที่มีส่วนประกอบของสาร Piperonyl butoxide 4% ร่วมกับสารสกัดไพรีทรัม (Pyretrum extract) ซึ่งเทียบเท่า ไพรีทริน 0.33%

ไพรีทรินมีขนาดการใช้อย่างไร?

แชมพูไพรีทริน มีขนาดการใช้สำหรับกำจัดเหาบนหนังศีรษะและตามร่างกาย เช่น

ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป:

  • เขย่าขวดแชมพูก่อนใช้ หลังจากนั้น เทแชมพูลงฝ่ามือแล้วชโลมไปตามเส้นผมที่แห้ง จนเปีย หรือชโลมบริเวณร่างกายที่พบเหา
  • รอเวลาให้แชมพูที่ชโลมบนหนังศีรษะหรือบริเวณร่างกายออกฤทธิ์เป็น เวลาประมาณ 10 นาที
  • จากนั้นใช้น้ำอุ่นสระผม หรือชำระล้างคราบแชมพูตามร่างกาย ให้ทั่ว/ให้สะอาด
  • ล้างน้ำต่อเนื่องอย่างพอเพียงจนมั่นใจว่า ไม่มีคราบแชมพูหลงเหลืออยู่อีก เช็ดผม/เช็ดตัว รอจนแห้ง หรือใช้เครื่องเป่าผมเพื่อทำให้ผมแห้งจากนั้นใช้หวีเสนียด(หวีที่ใช้สางเหา/ไข่เหา)สาง และหวีผม เพื่อกำจัดซากเหาและไข่เหาออกให้มากที่สุด

เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: การจะใช้แชมพูนี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง:

  • ระวังมิให้แชมพูนี้เข้าปาก เข้าตา เข้าจมูก
  • เว้นระยะเวลาไปอีก 7–10 วัน หากตรวจพบเหาหรือไข่เหา ให้ใช้แชมพูนี้เพื่อกำจัดเหาบนหนังศีรษะหรือตามร่างกายอีกครั้ง หรือใช้ตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ไพรีทรินแชมพูที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งการใช้แชมพูนี้ของแพทย์ได้ การใช้ไพรีทรินแชมพูที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมแชมพูยา/สารไพรีทริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้สารเคมีทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้สารเคมีแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหืด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/ใช้สารเคมีอะไรอยู่ เพราะแชมพูไพรีทริน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา/สารเคมีอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทรวมถึงแชมพูไพรีทริน สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมสระผมควรทำอย่างไร?

ในกรณีลืมสระผมด้วยแชมพูไพรีทรินเมื่อครบกำหนดต้องสระผมด้วยแชมพูนี้ ให้สระผมด้วยแชมพูนี้ได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณแชมพูนี้มากเป็น 2 เท่า ให้ใช้แชมพูนี้ในปริมาณปกติ

ไพรีทรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

แชมพูไพรีทริน อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้ เช่น ระคายผิวหนัง/หนังศีรษะ มีผื่นคันเกิดขึ้น อาจกระตุ้นให้จาม ตลอดจนกระทั่งหายใจขัด/หายใจลำบาก กรณีที่พบอาการข้างเคียงรุนแรงจนอาจเกิดอันตรายต่อตัวผู้ที่ใช้แชมพูนี้ เช่น ใบหน้าบวม เกิดหอบหืด หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ไพรีทรินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไพรีทรินแชมพู เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาแชมพูนี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของแชมพูไพรีทริน
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ห้ามรับประทาน ห้ามมิให้แชมพู เข้าตา เข้าปาก หรือเข้าจมูก
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์แชมพูนี้ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น กลิ่นเหม็น หรือตกตะกอนเป็นก้อนแข็ง
  • ห้ามใช้แชมพูไพรีทรินเป็นเวลานานเกินมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่ระบุในเอกสารกำกับยา/กำกับผลิตภัณฑ์
  • ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์แชมพูไพรีทรินลงใน แม่น้ำ คู คลอง โดยตรง ด้วยจะก่อให้เกิด พิษต่อสัตว์น้ำตามธรรมชาติ
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ผลิตภัณฑ์แชมพูนี้ด้วยตนเอง
  • เพื่อประสิทธิผลของการรักษาให้ปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้แชมพูนี้ที่ระบุอยู่ในเอกสารที่กำกับมากับผลิตภัณฑ์
  • หลังการใช้แชมพูนี้ แล้วพบอาการผิวหนังอักเสบ หรือผิวหนังติดเชื้อ เช่น เป็นแผล/เป็นหนอง ให้รีบมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ห้ามใช้แชมพูนี้ที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บแชมพูนี้ที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมผลิตภัณฑ์ไพรีทรินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไพรีทรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยไพรีทรินแชมพูเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกร่างกาย จึงยังไม่มีรายงาน พบ ปฏิกิริยาระหว่างยา/แชมพูนี้กับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาไพรีทรินอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์ไพรีทรินแชมพู ภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บผลิตภัณฑ์ในรถยนต์

ไพรีทรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ไพรีทรินแชมพู มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
RID (ริด)BAYER

อนึ่ง ชื่อการค้าอื่นของแชมพูนี้ เช่น Licide,Tisit, Klout Shampoo, Piperonyl butoxide topical, Pronto, A-200, Nomite shampoo

บรรณานุกรม

  1. https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/archives/fdaDrugInfo.cfm?archiveid=38280[2017,April22]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Pyrethrin#Chronic_pyrethrin_toxicity_in_humans[2017,April22]
  3. https://www.drugs.com/monograph/pyrethrins-with-piperonyl-butoxide.html[2017,April22]
  4. https://www.drugs.com/sfx/piperonyl-butoxide-pyrethrins-topical-side-effects.html[2017,April22]
  5. http://npic.orst.edu/factsheets/pyrethrins.pdf[2017,April22]