ไพราซีแตม (Piracetam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไพราซีแตม(Piracetam) เป็นยาในยากลุ่มนูโทรปิก (Nootropic drug) ที่มีคุณสมบัติเสริมสร้างกระบวนการรับรู้ของสมอง ทางคลินิก นำยานี้มาใช้บำบัดอาการความจำเสื่อม อารมณ์ซึมเศร้า และวิตกกังวล โดยตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์โดยช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท ที่ชื่อ Acetylcholine จากการผ่านทางตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า Muscarinic cholinergic receptor ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจดจำของสมอง และยังเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมอง จากการที่ตัวยายังส่งผลยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดที่อาจจับตัวรวมกันจนอุดกั้นในหลอดเลือด และทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองทำได้ไม่ดีพอ ยานี้ไม่มีฤทธิ์กล่อมประสาท/ยาคลายเคลียด หรือกระตุ้นสมองแต่อย่างใด

รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาไพราซีแตมที่มีการจำหน่ายในไทย จะเป็นลักษณะของยารับประทาน และยาฉีด ในกรณีเป็นยารับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาไพราซีแตมสามารถกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไป หลังยานี้เข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย โดยผ่านไปกับปัสสาวะ

สำหรับข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้ป่วย/ผู้บริโภคไม่สามารถใช้ยาไพราซีแตมได้ เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไพราซีแตมมาก่อน
  • เป็นผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ป่วยด้วยโรคฮันติงตัน (Huntington’s disease, โรคสมองชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำ)
  • เป็นผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในสมอง(ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ)

นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มความระมัดระวังกับผู้ป่วยที่มีการใช้ยาบางประเภทอยู่ก่อน เช่น ยา Thyroxin ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาแอสไพริน(Aspirin) เพราะเมื่อมีการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาไพราซีแตม อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการรักษาของยาไพราซีแตมได้ ดังนั้น จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกรทุกครั้งว่า ปัจจุบันมีการใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง

สำหรับกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ก็จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงสูงจากการใช้ยาแทบทุกประเภทรวมถึงยาไพราซีแตม การจะใช้ยาไพราซีแตมกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เราอาจจะพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาไพราซีแตมได้ เช่น รู้สึกกระสับกระส่าย วิตกกังวล ปวดศีรษะ ปวดท้อง หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น

การใช้ยาไพราซีแตม ต้องใช้ขนาดรับประทานตามคำสั่งแพทย์ และแพทย์อาจปรับขนาดยาเป็นระยะๆตามการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละรายบุคคลแตกต่างกันออกไป การลืมหรือหยุดการรับประทานยานี้เอง อาจทำให้อาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลงกว่าเดิม

ทั้งนี้ เราจะพบเห็นการใช้ยาไพราซีแตม ตามสถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาอาการทางสมอง อย่างเช่น บำบัดภาวะความจำเสื่อม อารมณ์ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล และยานี้ยังมีจำหน่ายตามร้านขายยาตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไป

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้จัดให้ยาไพราซีแตมอยู่ในหมวดยาอันตราย ซึ่งผู้ป่วย/ผู้บริโภคจะต้องใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ไพราซีแตมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไพราซีแตม

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาไพราซีแตมคือ ตัวยานี้ จัดเป็นยาอนุพันธ์ที่มีโครงสร้างเคมีใกล้เคียงกับสารกาบา (GABA) ของมนุษย์ จึงถูกนำมาใช้บำบัดรักษาอาการทางสมอง(ทางระบบประสาท) เช่น ความจำเสื่อม อาการซึมเศร้า วิตกกังวล อาการวิงเวียน รวมถึงอาการกล้ามเนื้อกระตุกรัว หรือที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Cortical myoclonus

ไพราซีแตมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพราซีแตมจะเกิดขึ้นที่สมอง โดยตัวยาจะช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท ชื่อ Acetylcholine ผ่านทางตัวรับที่จำเพาะเจาะจง และส่งผลเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจดจำของสมอง นอกจากนี้ ตัวยายังเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมอง โดยตัวยาจะช่วยชะลอการรวมตัวของเกล็ดเลือดเป็นลิ่มเลือดที่อาจอุดกั้นหลอดเลือด/อุดกั้นการไหลเวียนเลือดภายในสมอง จึงช่วยทำให้สมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น จากกลไกเหล่านี้เองจึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

ไพราซีแตมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไพราซีแตมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 400, 800, และ 1,200 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 400 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาฉีด ขนาด 1 กรัม/5 มิลลิลิตร และ 3 กรัม/15 มิลลิลิตร

ไพราซีแตมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไพราซีแตมมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับบำบัดรักษาภาวะสูญเสียความทรงจำ/สมองเสื่อม รวมถึงอาการเวียนศีรษะ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 2.4 – 4.8 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 – 3 ครั้ง

ข.สำหรับบำบัดรักษาภาวะ Cortical myoclonus:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 7.2 กรัม/วัน ในนทุก 3 – 4 วัน แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มอีก 4.8 กรัม จนกระทั่งขนาดรับประทานสูงสุดเป็น 24 กรัม และต้องแบ่งการรับประทานออกเป็นวันละ 2 – 3 ครั้ง

*อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือหลัง อาหารก็ได้
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทาน หรือหยุด การใช้ยานี้ด้วยตนเอง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไพราซีแตม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพราซีแตมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไพราซีแตม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไพราซีแตม ตรงเวลา

ไพราซีแตมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไพราซีแตมอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น กระสับกระส่าย วิงเวียน สูญเสียการทรงตัว ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน วิตกกังวล ประสาทหลอน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบเกิด ผื่นคัน ลมพิษ

มีข้อควรระวังการใช้ไพราซีแตมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพราซีแตม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่มอนุพันธ์ Pyrrolidone(สารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ยาได้) ซึ่งจัดเป็นยาประเภทเดียวกันกับยาไพราซีแตม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกในสมอง(เลือดออกในกะโหลกศีรษะ) ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคฮันติงตัน (Huntington’s chorea)
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องเป็น ไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัด/แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพราซีแตมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไพราซีแตมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไพราซีแตมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไพราซีแตมร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่น Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไพราซีแตมร่วมกับยากลุ่มไทรอยด์ฮอร์โมน เช่น Thyroxin ด้วยจะทำให้การนอนหลับของผู้ป่วยผิดปกติไป รวมถึงเกิดความรู้สึกสับสนตามมา

ควรเก็บรักษาไพราซีแตมอย่างไร?

ควรเก็บยาพราซีแตมภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แช็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไพราซีแตมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพราซีแตม ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Embol (เอมโบล)Yung Shin
Mancetam (แมนเซแทม)T.Man Pharma
Mempil (เมมพิล)General Drugs House
Noocetam (นูซีแทม)Central Poly Trading
Nootropil (นูโทรพิล)GlaxoSmithKline
Scarda (สการ์ดา)Pharmaland

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Alcetam, Arit, Braintam, Cerecetam

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Piracetam#Other [2016,Aug27]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/piracetam/?type=brief&mtype=generic [2016,Aug27]
  3. https://www.drugs.com/uk/piracetam-800mg-tablets-leaflet.html [2016,Aug27]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/nootropil [2016,Aug27]
  5. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/27470 [2016,Aug27]
  6. https://www.smartdrugsforthought.com/what-is-piracetam/ [2016,Aug27]