ไพรมาควิน (Primaquine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 มกราคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ไพรมาควินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไพรมาควินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไพรมาควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไพรมาควินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไพรมาควินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไพรมาควินอย่างไร?
- ไพรมาควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไพรมาควินอย่างไร?
- ไพรมาควินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency)
- โรคพุ่มพวง / โรคลูปัส (Lupus) / โรคเอสแอลอี (SLE)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
บทนำ
ยาไพรมาควิน (Primaquine หรือ Primaquine phosphate) จัดเป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม 8-Aminoquinoline (ยากลุ่มรักษาไข้จับสั่น/มาลาเรีย) ทางคลินิกได้นำยาไพรมาควินมารักษาการติดเชื้อมาลาเรีย รวมถึงภาวะปอดอักเสบที่มีสาเหตุมาจากเชื้อโปรโทซัว (Pneumocystis pneumonia) ยานี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) และองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรต้องมีสำรองใช้เมื่อจำเป็น
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาไพรมาควินจะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี ตัวยาในกระแสเลือดจะอยู่ในร่างกายได้นานถึงประมาณ 6 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกตับทำลายโครงสร้างทางเคมีและขับออกจากร่างกายทางน้ำดีและบางส่วนทางไต
ยาไพรมาควินสามารถออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อมาลาเรียทั้งชนิด P.vivax, P.ovale และ P.falcipa rum (หมายเหตุ P ในที่นี้คือเชื้อมาลาเรีย ชื่อเต็มทางการแพทย์คือ Plasmodium) มีข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลกให้ใช้ยาไพรมาควินที่เป็นลักษณะยาเดี่ยวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อมาลาเรียชนิด P.falciparum อีกด้วย
อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาไพรมาควินที่สามารถพบได้ทั่วไปหลังการใช้ยาไพรมา ควินคือ ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง
ทั้งนี้มีข้อมูลบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาไพรมาควินอาทิเช่น
- ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไพรมาควิน
- ต้องไม่ป่วยด้วยโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคลูปัส (Lupus) หรือป่วยด้วยโรคเลือดในแบบต่างๆเช่น Granulocytopenia (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ)
- ต้องไม่ได้รับยา Quinacrine (ยาต้านเชื้อโปรโทซัว) ในระยะเวลาเดียวกัน การใช้ร่วมกันอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาไพรมาควินมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ผู้บริโภค/ผู้ป่วยที่มีอาการป่วยด้วยมาลาเรีย หากจะเข้ารับการรักษาจากไพรมาควินจะต้องแจ้งข้อมูลประวัติการเจ็บป่วย ประวัติของสุขภาพ ให้แพทย์ผู้รักษานำมาประกอบเพื่อช่วยในการสั่งจ่ายยาไพรมาควินได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและเหมาะสมเช่น
- มีการรับประทานยาอื่นใดอยู่ก่อนหน้านี้โดยเฉพาะยาที่สามารถกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
- มีอาการป่วยด้วยโรค/ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดีหรือไม่
- มีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจ หรืออยู่ในภาวะเกลือโพแทสเซียมต่ำในเลือด หรือเกลือแมกนีเซียมในร่างกายมีระดับต่ำกว่าปกติ
ทั้งนี้คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาไพรมาควินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาล และการใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
ไพรมาควินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไพรมาควินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาการติดเชื้อมาลาเรีย
- ป้องกันการติดเชื้อมาลาเรีย
- ใช้บำบัดอาการปอดอักเสบที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโปรโทซัวหรือที่เรียกว่า Pneumo cystis pneumonia ซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย
ไพรมาควินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไพรมาควินมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมของเชื้อมาลาเรีย และยังทำให้ส่วนประกอบภายในเซลล์ของเชื้อมาลาเรียที่มีชื่อว่า ไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) แตกออก จากกลไกเหล่านี้ทำให้เชื้อมาลาเรียหยุดการเจริญเติบโต หยุดการกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด
ไพรมาควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไพรมาควินรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 15 มิลลิกรัม/เม็ด
ไพรมาควินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานยาไพรมาควินเฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้
ก. สำหรับรักษาการติดเชื้อมาลาเรีย:
- ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 15 มิลลิกรัมครั้งเดียวเป็นเวลา 14 วัน
- เด็ก: รับประทาน 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 14 วัน
ข. สำหรับรักษาภาวะ Pneumocystic pneumonia:
- ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 30 มิลลิกรัมครั้งเดียวเป็นเวลา 21 วัน
- เด็ก: รับประทานวันละ 0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียวเป็นเวลา 21วัน ขนาดรับประทานสูงสุดของเด็กไม่ควรเกิน 30 มิลลิกรัมในการให้ยาแต่ละครั้ง
*อนึ่งสามารถรับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไพรมาควิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไพรมาควินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไพรมาควินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไพรมาควินตรงเวลา
ไพรมาควินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไพรมาควินอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ มีอาการ ปวดหลัง ปวดขา ปวดท้อง ปัสสาวะมีสีคล้ำ มีไข้ เบื่ออาหาร ผิวซีด อ่อนเพลีย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการวิงเวียน เจ็บคอ หายใจลำบาก (ถ้ามีอาการนี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน)
มีข้อควรระวังการใช้ไพรมาควินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไพรมาควินเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไพรมาควิน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ โรคลูปัส
- กรณีที่ผู้ป่วยมียาอื่นรับประทานอยู่ก่อนจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ
- หากพบอาการแพ้ยานี้ให้หยุดใช้ยานี้แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพรมาควินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไพรมาควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไพรมาควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ห้ามใช้ยาไพรมาควินร่วมกับยา Clozapine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวในร่างกายต่ำ จนทำให้เกิดการติดเชื้อต่างๆตามมาได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไพรมาควินร่วมกับยา Sodium nitrite ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะ Methemo globinemia (โรคเลือดชนิดหนึ่ง) ตามมาส่งผลให้เลือดไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเต็มที่ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย หายใจเร็ว วิตกกังวล รู้สึกสับสน เป็นต้น
- ห้ามใช้ยาไพรมาควินร่วมกับยา Tizanidine ด้วยจะทำให้ระดับ Tizanidine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา
- การใช้ยาไพรมาควินร่วมกับยา Codeine จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของ Codeine ด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาไพรมาควินอย่างไร?
ควรเก็บยาไพรมาควินในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่อง แช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไพรมาควินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไพรมาควินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Primaquine GPO (ไพรมาควิน จีพีโอ) | GPO |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Primaquine [2016,Jan2]
- http://www.drugs.com/cdi/primaquine.html [2016,Jan2]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Primaquine%20GPO/ [2016,Jan2]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/99#item-8676 [2016,Jan2]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Primaquine [2016,Jan2]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/primaquine-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Jan2]