ไฝแดง หรือ เชอร์รีแองจิโอมา(Cherry angioma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ไฝแดง(Cherry angioma)คือ เนื้องอกของหลอดเลือดฝอยที่เจริญผิดปกติจนทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อที่คนทั่วไปเรียกว่า ‘ไฝแดง’ ซึ่งไฝแดงเป็นเนื้องอกธรรมดา ‘ไม่ใช่มะเร็ง(Benign tumor)’ มีลักษณะเป็นก้อนกลมหรือรูปไข่ สีแดง ขนาดเล็กมักไม่เกิน 5 มม. พบบ่อยที่ลำตัวและแขน และ’ไม่กลายเป็นมะเร็ง’ โดยแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุเกิด

ไฝแดง หรือ เชอร์รีแองจิโอมา เป็นเนื้องอกพบบ่อยมากทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ แต่ยังไม่มีการศึกษารายงานสถิติเกิดเพราะทั่วไปผู้ป่วยมักไม่ได้มาพบแพทย์เพราะไม่ก่ออาการ พบทุกวัยแต่พบบ่อยขึ้นในวัย30-40ปีขึ้นไปโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพศชายและเพศหญิงพบได้เท่าๆกัน

อนึ่ง: ชื่ออื่นของ ไฝแดง/ เชอรรีแองจิโอมา คือ

  • Senile angioma (ไฝแดงผู้สูงอายุ) เพราะพบบ่อยมากในผู้สูงอายุ
  • Campbell de Morgan spot : ตั้งชื่อตาม นพ. Campbell de Morgan ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษที่รายงานโรคนี้เป็นคนแรกในศตวรรษที่19

ไฝแดงมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากอะไร?

ไฝแดง

ปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดไฝแดง/เชอร์รีแองจิโอมา/ไฝแดงผู้สูงอายุ แต่พบว่า พบไฝแดงบ่อยขึ้นในกรณีของ

  • พันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้: เพราะมักพบในคนมีประวัติในครอบครัวมีไฝแดงเกิดเยอะ
  • อายุ: ยิ่งอายุมาก ก็ยิ่งพบไฝแดงบ่อยขึ้น และอาจขยายใหญ่ขึ้นได้บ้างตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งมีรายงานพบไฝแดงได้ถึง 75%ของคนอายุมากกว่า75ปี
  • ฮอร์โมนเพศบางชนิด: เพราะพบไฝแดงบ่อยขึ้นในหญิงตั้งครรภ์, และในผู้ป่วยเนื้องอกสมองชนิด โปรแลคติโนมา
  • สารเคมีหรือยาบางชนิด: มีรายงานพบไฝแดงสูงขึ้นในคนที่สัมผัสหรือบริโภคในระยะเวลานาน หรือในปริมาณมากต่อสารเคมีและ/หรือยาบางชนิด เช่น แกสมาสตาด(แก๊สพิษชนิดหนึ่ง), ยาในกลุ่มโบรไมด์, ยาไซโคลสปอริน
  • อื่นๆ:
    • บางรายงาน พบไฝแดง/ เชอรรีแองจิโอมา/ไฝแดงผู้สูงอายุ สูงขึ้นใน
      • ผู้มีถิ่นอาศัยในเขตร้อน
      • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
      • ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
      • ผู้ป่วยเบาหวาน
    • ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่า การได้รับแสงแดดจัดต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดไฝแดงหรือไม่ แต่การหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดต่อเนื่องจะช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังลงได้เพราะแสงแดดจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง อย่างไรก็ตาม มะเร็งผิวหนัง’ไม่สัมพันธ์กับไฝแดง’

ไฝแดงมีอาการอย่างไร?

อาการของไฝแดง/ เชอร์รีแองจิโอมา/ไฝแดงผู้สูงอายุ คือ

  • เป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก 1-3 มม.(มักไม่เกิน5มม.) รูปร่างค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ ผิวเรียบ สีแดง(สีลูกเชอร์รี) และเมื่อใช้นิ้วกดบนไฝ สีแดงของไฝจะยังคงอยู่ไม่จางหายไป
  • ก้อนอาจโตตามอายุได้(แต่โตช้ามากๆ) แต่ขนาดจะไม่ใหญ่มาก มักไม่เกิน 5 มม.
  • ก้อนมักนูนเหนือผิวหนังเล็กน้อย
  • ไม่เจ็บ
  • ไม่เคลื่อนที่
  • ถ้าเกาแรงๆ อาจมีเลือดออกได้

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพราะเป็นก้อนเนื้อไม่ก่ออาการ, ขนาดคงที่หรือโตช้ามากๆ, และไม่กลายเป็นมะเร็ง(จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานว่าไฝแดงเปลี่ยนเป็นมะเร็ง)

อย่างไรก็ตาม ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อพบว่าก้อนเนื้อที่ผิวหนังชนิดใดๆก็ตามที่รวมถึง ไฝแดง มีลักษณะดังจะกล่าวต่อไป เพื่อให้แพทย์ได้วินิจฉัยว่าเป็นไฝหรือก้อนเนื้อชนิดใด: ได้แก่

  • ก้อน/ไฝโตเร็ว
  • มีเลือดออกจากไฝต่อเนื่อง
  • ผิวของไฝแตกเป็นแผลโดยเฉพาะแผลเรื้อรัง
  • ไฝกินลึกลงใต้ผิวหนัง
  • ผิวของไฝขรุขระผิดปกติ
  • ขอบรอบๆไฝ ขรุขระ ไม่กลมเรียบเหมือนเดิม
  • ไฝเปลี่ยนสี โดยเฉพาะเป็นสีดำหรือน้ำตาล หรือมีตั้งแต่2สีขึ้นไปในไฝเม็ดเดียวกัน

แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไฝแดงได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไฝแดง/ เชอร์รีแองจิโอมา/ ไฝแดงผู้สูงอายุ จากลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยโดยไม่ต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ, การตรวจทางรังสีวิทยา(เช่น เอกซเรย์อวัยวะที่มีอาการ), หรือ การตัดชิ้นเนื้อ, ซึ่งลักษณะทางคลินิกที่สำคัญ คือ

  • อาการผู้ป่วย, อายุ, ประวัติโรคนี้ในครอบครัว, สิ่งแวดล้อม, การงาน, โรคประจำตัว, การใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกายทั่วไป ที่รวมถึงการตรวจดูและคลำรอยโรค

อย่างไรก็ตาม กรณีไฝแดงมีลักษณะผิดปกติ ดังกล่าวใน ’หัวข้อ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่ชัดที่อาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อ(ตัดรอยโรค)เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาไฝแดงอย่างไร?

แนวทางการรักษาไฝแดง/ เชอร์รีแองจิโอมา/ ไฝแดงผู้สูงอายุ: คือ

ก. ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะไม่ก่ออาการ ไม่ใช่มะเร็งและไม่กลายพันธ์เป็นมะเร็ง, *ยกเว้นในบางกรณีที่ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์วินิจฉัยโรคที่แน่ชัด และ/หรือเพื่อการรักษา กรณีดังกล่าว ได้แก่

  • ไฝฯ มีลักษณะผิดปกติ ดังได้กล่าวใน ’หัวข้อ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์’
  • ไฝฯเกิดในตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บบ่อยจนก่อเลือดออกบ่อย
  • ไฝฯก่ออาการคันเรื้อรัง
  • ไฝฯก่อให้เกิดปัญหาด้านความสวยงามสำหรับผู้ป่วย

ข. กรณีมีการรักษาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่กล่าวใน ‘ข้อ ก.’ การรักษาคือผ่าตัดเอาไฝแดงออก ร่วมกับส่งตรวจก้อนเนื้อที่ผ่าออกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งการตัดก้อนเนื้อออกมีได้หลายวิธีขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น

  • ผ่าด้วยมีด
  • ใช้เลเซอร์
  • ตัด/จี้ด้วยไฟฟ้า(Electrocauterization)
  • ตัด/จี้ด้วยความเย็น(Cryosurgery)

ไฝแดงก่อผลข้างเคียงไหม? กลายเป็นมะเร็งไหม?

การกลายเป็นมะเร็ง:

  • ไฝแดง/ไฝแดงผู้สูงอายุ/เชอรรีแองจิโอมา ‘ไม่กลายเป็นมะเร็งแน่นอน’ เพราะจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีรายงานว่าไฝแดงกลายพันธ์เป็นมะเร็ง

ผลข้างเคียง: ที่อาจพบได้ คือ

  • เพราะเป็นเนื้องอกที่ประกอบด้วยหลอดเลือด ดังนั้นถ้าได้รับบาดเจ็บ อาจทำให้เกิดเลือดออกจากไฝแดงได้
  • เมื่ออยู่ในตำแหน่งที่เหงื่อออกมาก อาจก่ออาการคันเรื้อรัง
  • มีผลต่อความสวยงามสำหรับบางคน

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีไฝแดง/ เชอร์รีแองจิโอมา/ไฝแดงผู้สูงอายุ:

  • ทั่วไป คือ ดูแลตามปกติ ไม่มีการดูแลเป็นพิเศษจำเพาะ
  • *ทุกคนทั่วไป ควรต้องมีการดูแลผิวหนังในทุกส่วนของร่างกายเสมอ รวมถึงหนังศีรษะและผิวหนังอวัยวะเพศ เพราะมะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งพบบ่อย ดังนั้น แพทย์โรคมะเร็งจึงแนะนำให้ทุกคน ควรหมั่นสังเกตผิวหนังของตนเองโดยเฉพาะกรณีมีไฝหรือก้อนเนื้อทุกประเภท ถ้ามีลักษณะผิดปกติดังกล่าวใน’หัวข้อ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

ป้องกันเกิดไฝแดงได้ไหม?

เนื่องจากไฝแดง/ เชอร์รีแองจิโอมา/ไฝแดงผู้สูงอายุ เป็นโรคไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่แพทย์โรคมะเร็งได้แนะนำการดูแลตนเองในเรื่องมะเร็งผิวหนังคือ

  • ควรหมั่นสังเกตผิวหนังของตนเองรวมถึงหนังศีรษะและผิวหนังอวัยวะเพศ โดยเฉพาะกรณีมีไฝหรือก้อนเนื้อทุกประเภทเกิดมีลักษณะผิดปกติดังกล่าวใน’หัวข้อ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

บรรณานุกรม

  1. https://www.healthline.com/health/cherry-angioma#see-a-doctor[2021,July24]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cherry_angioma [2021,July24]
  3. https://patient.info/doctor/campbell-de-morgan-spot [2021,July24]