ไบอะเพเนม (Biapenem)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 กรกฎาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไบอะเพเนมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไบอะเพเนมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไบอะเพเนมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไบอะเพเนมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ไบอะเพเนมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไบอะเพเนมอย่างไร?
- ไบอะเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไบอะเพเนมอย่างไร?
- ไบอะเพเนมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- คาร์บาเพเนม (Carbapenem)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
บทนำ
ยาไบอะเพเนม(Biapenem)เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาคาร์บาเพเนม (Carbapenem) ยานี้ถูกนำมาใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียประเภทแอนแอโรบิคแบคทีเรีย (Against anaerobes,แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนเพื่อการเจริญเติบโต) ยาไบอะเพเนมถูกนำมา ใช้ครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด โดยต้องหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ และตัวยาในกระแสเลือดจะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ ตัวยาในกระแสเลือดจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยานี้ เช่นแบคทีเรียชนิด P.aeruginosa(Pseudomonas aeruginosa) ,B.fragilis(Bacteroides fragilis) , K.pneumoniae (Klebsiella pneumonia), S.pneumoniae (Streptococcus pneumonia) , E.coli (Escherichia coli ) และอื่นๆ
สำหรับข้อบ่งใช้ทางคลินิกของยาไบอะเพเนม มีอยู่หลายประการ อาทิเช่น ใช้รักษาการติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ปอดบวม ฝีในปอด โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ รวมถึงเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์ต้องให้ยานี้กับผู้ป่วยวันละ 2 ครั้งจนครบเทอมการรักษา
ยังมี ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง รวมถึงข้อมูลความปลอดภัย บางประการของยาไบอะเพเนมที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไบอะเพเนม
- หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ(อาจสูงขึ้นหรือต่ำลงก็ได้) แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการใช้ยารักษาเบาหวานให้ผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมที่สุด
- ยานี้ถูกจำกัดการใช้ในสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร รวมถึง เด็ก ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาไบอะเพเนม
- การใช้ยาไบอะเพเนมกับผู้สูงอายุ แพทย์มักจะปรับขนาดการใช้ยานี้ลดลงเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่อาจเกิดขึ้น
- เมื่อเตรียมยาไบอะเพเนมสำหรับฉีดโดยเจือจางกับสารละลายโซเดียมคลอไรด์(Sodium chloride) ควรต้องใช้ยาเตรียมดังกล่าวให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเสื่อมสลายของยาเตรียมดังกล่าว
- ตัวยาไบอะเพเนมยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงคล้ายกับยาชนิดอื่นๆทั่วไป ได้ อาการข้างเคียงหลักๆที่อาจพบเห็นได้ เช่น เกิดผื่นคัน ท้องเสีย ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น หูดับ วิงเวียน เป็นต้น กรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ควรรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยาไบอะเพเนมอย่างเหมาะสมต่อไป
ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้ระบุให้ยาไบอะเพเนมเป็นยาควบคุมพิเศษ การบริหารยา/ใช้ยานี้กับผู้ป่วยต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และเราจะพบเห็นการใช้ยานี้อยู่แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
ไบอะเพเนมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไบอะเพเนมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อบำบัดรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยานี้ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดบวม ฝีในปอด โรคติดเชื้อ ทางเดินหายใจ การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ/กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อในไต/ไตอักเสบ และการติดเชื้อในช่องท้อง/เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
ไบอะเพเนมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไบอะเพเนม มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต หมดความสามารถที่จะการกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด
ไบอะเพเนมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไบอะเพเนม มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดชนิดผง ที่ประกอบด้วยตัวยา Biapenem ขนาด 300 มิลลิกรัม/ขวด (Vial)
ไบอะเพเนมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไบอะเพเนมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1,200 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยานี้กับผู้ป่วยเป็น 2 ครั้ง/วัน ระยะเวลาการให้ยาจะขึ้นกับการตอบสนองของโรค ซึ่งแพทย์จะกำหนดระยะเวลาการใช้ยาได้ดีที่สุด
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง: การเตรียมยานี้เพื่อหยดเข้าหลอดเลือดดำ ต้องผสมตัวยาเข้ากับสารละลายโซเดียมคลอไรด์ตามสัดส่วนที่แนะนำไว้ในเอกสารกำกับยา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไบอะเพเนม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคลมชัก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาไบอะเพเนม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
การใช้ยาไบอะเพเนมจะกระทำอยู่ในสถานพยาบาล โดยมีการบันทึกเวลาการฉีดยาอย่างชัดเจน โอกาสที่ลืมให้ยานี้กับผู้ป่วยจึงเป็นไปได้น้อยมาก กรณีที่พบว่าผู้ป่วยยังไม่ได้รับยาไบอะเพเนม สามารถสอบถามจากบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล ได้ตลอดเวลา
ไบอะเพเนมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไบอะเพเนมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย กระเพาะอาหารอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน มีเหงื่อออกมาก Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียนศีรษะ หูดับ มีไข้
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น อาจเกิดภาวะปอดบวมประเภท Interstitial pneumonia (ปอดอักเสบชนิดที่ทำให้เกิดพังผืดลุกลามในเนื้อเยื่อปอด)
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก ไอ
- ผลต่อตา: เช่น เกิดเลือดออกในตา เช่น เลือดออกใต้เยื่อตา
- อื่นๆ: เช่น ฟันผุ
มีข้อควรระวังการใช้ไบอะเพเนมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไบอะเพเนม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติด้วยโรคลมชัก
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ยาเปลี่ยนสี ผงยาเปียกชื้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคทางจิตเวช
- ระหว่างการใช้ยานี้ แพทย์อาจต้องตรวจประสิทธิภาพการทำงานของปอดและ หลอดลมผู้ป่วย เพื่อคอยตรวจสอบอาการข้างเคียงที่อาจเกิดกับอวัยวะดังกล่าว
- กรณีพบอาการข้างเคียงรุนแรงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันในระหว่างใช้ยานี้ เช่น ท้องเสียรุนแรง เกิดผื่นคัน ลมพิษ ต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลทันที เพื่อทำการรักษาโดยเร็ว
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไบอะเพเนมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไบอะเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไบอะเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไบอะเพเนมร่วมกับยารักษาอาการชัก/ยากันชัก อย่างเช่นยา Valproate ด้วยจะทำให้ระดับยา Valproate ในกระแสเลือดลดลงจนทำให้ด้อยประสิทธิภาพในการรักษาตามมา
ควรเก็บรักษาไบอะเพเนมอย่างไร?
ควรเก็บยาไบอะเพเนม ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ไบอะเพเนมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไบอะเพเนม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Omegacin (โอเมกาซิน) | Meiji |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/omegacin/?type=brief[2017,June17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Biapenem[2017,June17]
- https://www.drugs.com/international/biapenem.html[2017,June17]