ไนเมตาซีแพม (Nimetazepam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไนเมตาซีแพม(Nimetazepam) ตามกฎหมายยาของไทยกำหนดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์/วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภทที่ 2 และจัดอยู่ในกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน(Benzodiazepine) ถูกสังเคราะห์ขึ้นในปีค.ศ. 1962(พ.ศ.2505) แต่ได้รับการขึ้นทะเบียนและผลิตในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 2015(พ.ศ.2558) ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการนอนไม่หลับขั้นรุนแรง ช่วยสงบประสาท/ยาคลายเครียด ลดความวิตกกังวล และทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย/ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานี้ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นและอนุญาตให้ผู้ป่วยใช้เพียงระยะสั้นๆ ทั้งนี้ เคยมีบันทึกของหน่วยงานราชการในญี่ปุ่นและมาเลเซียระบุว่า ได้มีการลักลอบซื้อ-ขายยาไนเมตาซีแพมภายใต้ชื่อการค้าที่ตั้งขึ้นเอง คือ “Happy 5” ซึ่งการซื้อขายยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนในตลาดมืดดังกล่าวยังประกอบไปด้วยตัวยา Diazepam และ Nitazepam ซึ่งบ่งบอกถึงความหละหลวมการควบคุมช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศดังกล่าว

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไนเมตาซีแพมเป็นยาแบบรับประทาน ตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ถึงประมาณ 95% ตับเป็นอวัยวะที่จะคอยทำลายโครงสร้างของยาชนิดนี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 14–30 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาไนเมตาซีแพมออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

อนึ่ง สิ่งที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบและระวังก่อนที่จะใช้ยาชนิดนี้ ได้แก่

  • ห้ามใช้ยาไนเมตาซีแพมกับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้มาก่อน
  • *การรับประทานยานี้/ยาชนิดนี้เกินขนาดจะทำให้มี อาการหมดสติ การเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ลำบาก พูดจาไม่ชัดเจน ความจำแย่ลง
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการถอนยาเกิดขึ้นได้ สังเกตได้จากผู้ป่วยจะมีอาการ สับสน อาเจียน เหงื่อออกมาก ตัวสั่น เป็นตะคริวที่ท้อง หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ วิตกกังวล
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้มีภาวะกดการทำงานของสมอง/กดสมองมากยิ่งขึ้น

ยาไนเมตาซีแพมเป็นยาที่มีการจำหน่ายมาไม่กี่ปี ก็เกิดข้อมูลด้านลบโดยมีการลักลอบซื้อขายอย่างผิดกฎหมายเสียแล้ว ผู้บริโภคควรต้องตระหนักว่าการใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ หรือขอคำปรึกษาจากเภสัชกรก่อนการใช้ยานี้ทุกครั้งเสมอ

ไนเมตาซีแพมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไนเมตาซีแพม

ยาไนเมตาซีแพมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็น ยานอนหลับ ช่วยลดความวิตกกังวล

ไนเมตาซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาไนเมตาซีแพมจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ในสมอง ทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Gamma-aminobutyric acid สารสื่อฯชนิดนี้สามารถส่งผลให้เกิดภาวะสงบประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกผ่อนคลาย และนอนหลับในที่สุด

ไนเมตาซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไนเมตาซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Nimetazepam ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด

ไนเมตาซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไนเมตาซีแพม มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอน โดยต้องใช้ยานี้ ตามที่แพทย์กำหนดเท่านั้น
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไนเมตาซีแพม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไนเมตาซีแพมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไนเมตาซีแพม สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่าให้รับประทานยานี้ที่ขนาดปกติ

ไนเมตาซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไนเมตาซีแพมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาจมีอาการตื่นตัว/รู้สึกตื่นตลอดเวลา ตัวสั่น วิงเวียน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เกิดอาการสับสน วิตกกังวล
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้ไนเมตาซีแพมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนเมตาซีแพม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานอนหลับชนิดอื่นใดร่วมกับยาไนเมตาซีแพมโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคต้อหิน และผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไนเมตาซีแพมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไนเมตาซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไนเมตาซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาไนเมตาซีแพมร่วมกับยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนตัวอื่นๆ เพราะจะทำให้เกิดฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง/กดประสาทส่วนกลาง/กดสมอง (ยากดประสาทส่วนกลาง)สูงขึ้นมากตามมา

ควรเก็บรักษาไนเมตาซีแพมอย่างไร?

ควรเก็บยาไนเมตาซีแพมตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไนเมตาซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไนเมตาซีแพม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Erimin (อีริมิน)Sumitomo

อนึ่ง ชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Lavol

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Nimetazepam[2017,Dec16]
  2. http://www.depression-guide.com/leaflets/drugs-inhalants.pdf[2017,Dec16]
  3. https://drugs-forum.com/threads/erimin-nimetazepam-happy-5s.36622/[2017,Dec16]
  4. http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=1285&type=1[2017,Dec16]
  5. https://www.solacesabah.com/substance-rehab/erimin-5[2017,Dec16]
  6. https://www.tabletwise.com/medicine/nimetazepam[2017,Dec16]
  7. http://www.drugrehabilitation.net/addiction/prescription-drugs/benzodiazepines/nimetazepam/[2017,Dec16]