ไธโมโกลบูลิน (Thymoglobuline)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 26 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ยาไธโมโกลบูลิน มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาไธโมโกลบูลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไธโมโกลบูลิมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไธโมโกลบูลินมีวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับไปรับยาไธโมโกลบูลิน ควรทำอย่างไร?
- ยาไธโมโกลบูลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไธโมโกลบูลินอย่างไร?
- ยาไธโมโกลบูลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไธโมโกลบูลินอย่างไร?
- ยาไธโมโกลบูลินที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยากดภูมิคุ้มกัน(Immunosuppressants or Immunosuppressive agents)
- ปฏิกิริยาจากการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ (Infusion-related Reactions)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- สารภูมิต้านทาน แอนติบอดี อิมมิวโนโกลบูลิน (Antibody หรือ Immunoglobulin)
- โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)
บทนำ
ยาไธโมโกลบูลิน(Thymoglobuline หรือ Thymoglobulin) หรือ Anti-thymocyte globulin [rabbit] ย่อว่า rATG ผลิตขึ้นจากอิมมูโนโกลบูลิน(Immunoglobulin)ที่ผลิตจากกระต่าย ซึ่งยามีฤทธิ์ในการยับยั้งการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันต้านทานร่างกายของมนุษย์ โดยออกฤทธิ์ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T cell) จึงทำให้ปริมาณ T cell ในร่างกายลดลง และมีผลยับยั้งการสร้างไซโตไคน์ (Cytokines)ในร่างกาย อันเกิดจากการกระตุ้นด้วย T cell ซึ่งมีผลในการกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยยาไธโมโกลบูลินมีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะต่างๆ เช่น ใช้ในการป้องกันและรักษาภาวะปฏิเสธเนื้อเยื่อที่ผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่าย หรือปฏิเสธเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และใช้ในการรักษาโรคโลหิตจางชนิดอพลาสติก/โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ(Aplastic anemia)
การใช้ยาไธโมโกลบูลิน ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะเท่านั้น เนื่องจาก ยานี้อาจทำให้เกิดอันตราย(ผลข้างเคียงร้ายแรง)ร้ายแรงได้ และอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่อาจพบได้ในช่วง/ขณะที่ผู้ป่วยกำลังบริหารยา/ใช้ย่าไธโมโกลบูลินผ่านทางหลอดเลือดดำ และอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการการติดเชื้อต่างๆของร่างกาย เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส และโปรตัวซัว/สัตว์เซลล์เดียว, การเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกผิดปกติ, อาการหายใจลำบาก, อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย, อาการทางระบบประสาท เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ, และอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ เช่น ผื่นคัน ปวดกล้ามเนื้อตามแขนขา
ยาไธโมโกลบูลิน มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไธโมโกลบูลินเป็นยาชนิดที่เรียกว่า “Anti human thymocyte Immunoglobulin G” ที่ผลิตจากกระต่าย มีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะต่างๆ ดังนี้ เช่น
1. เพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย กรณีผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ใช้ในการป้องกันและรักษาภาวะปฏิเสธเนื้อเยื่อที่ผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่าย
2. ป้องกันภาวะร่างกายและอวัยวะใหม่ที่ได้รับปลูกถ่ายต่อต้านกันในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง(Acute and chronic graft versus host disease) ภายหลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic stem cell transplant)
3. ใช้ในการรักษาภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกายผู้ป่วยฉับพลัน (Acute graft versus host disease; GvHD) ที่ดื้อต่อยาสเตรียรอยด์
4. ใช้ในการรักษาโรคโลหิตจางชนิดอพลาสติก (Aplastic anemia)
ยาไธโมโกลบูลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไธโมโกลบูลิน ผลิตขึ้นจากอิมมูโนโกลบูลินที่ผลิตจากกระต่ายซึ่งมีฤทธิ์ในการ ยับยั้งการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายของมนุษย์ โดยออกฤทธิ์ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (Tcell) ผ่านกระบวนการทำลายเซลล์ เช่น Apoptosis และ Antibody-mediated cytolysis จึงทำให้ปริมาณ T cell ลดลง ดังนั้นการใช้ยาไธโมโกลบูลินจึงมีผลยับยั้งการสร้างไซโตไคน์ (Cytokines) ภายในร่างกาย อันเกิดจากการกระตุ้นด้วย T cell ซึ่งเป็นกลไกในการกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากลดจำนวน T cell แล้ว ยาไธโมลโกลบูลินยังกระตุ้นบทบาทของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์(Lymphocyte)ที่เกี่ยวข้องกับการกดภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ยาไธโมโกลบูลินจึงถูกนำมาใช้เพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย/ยากดภูมิคุ้มกัน
ยาไธโมโกลบูลิมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่มีจำหน่ายของยาไธโมโกลบูลิน คือ ผงแห้งแข็งชนิดเข้มข้นสำหรับผสมเป็นสารละลายสำหรับบริหารยา/ให้ยาเข้าทางหลอดเลือดดำ(Intravenous injection, IV injection) บรรจุในภาชนะแก้วสำหรับใช้ครั้งเดียว ภายหลังผสมผงยานี้ด้วยน้ำกลั่นสำหรับยาฉีด (Water for injection) ปริมาตร 5 มิลลิลิตร จะได้สารละลายซึ่งมีความแรงของยาไธโมลโกลบูลิน 5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ปริมาตรทั้งหมด 5 มิลลิลิตรต่อขวด เทียบเท่าขนาดยานี้ 25 มิลลิกรัมต่อขวด
ยาไธโมโกลบูลินมีวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาไธโมโกลบูลินมีวิธีใช้ยา/บริหารยา เช่น
ก. ขั้นตอนการเตรียมสารละลายยาไธโมลโกลบูลิน: ภายหลังละลายผงยาในขวดแก้ว ด้วยน้ำกลั่นปราศจากเชื้อสำหรับยาฉีดปริมาตร 5 มิลลิลิตรเสร็จแล้ว จะได้สารละลายยาไธโมโกลบูลินความแรง 5 มิลลิกรัมต่อมิลลิตร ที่มีความใส หรือมีสีใสเหลือบเล็กน้อย แต่ปราศจากตะกอนขุ่น ไม่มีอนุภาค/สารอื่นปน จากนั้นเจือจางสารละลายยาดังกล่าวต่อ ด้วยสารละลาย 0.9% Sodium chloride (NSS) หรือ สารละลายที่มี Dextrose 5% ในน้ำ (D5W) ในปริมาตร 50 – 500 มิลลิตร จากนั้นควรนำสารละลายที่เจือจางเรียบร้อยแล้วไปบริหารให้แก่ผู้ป่วยทันที โดยแนะนำให้บริหารผ่านทางตัวกรองชนิด In-line filter ขนาด 0.22 ไมครอน เพื่อหลีกเลี่ยงการฉีดอนุภาคเจือปนที่เกิดจากการผสมยาโดยบังเอิญเข้าสู่ร่างกาย
ข.วิธีการบริหารยา: โดยทั่วไปก่อนการบริหารยาไธโมโกลบูลิน ควรให้ยาป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการบริหารยา ซึ่งเรียกการให้ ยาเพื่อป้องกันฯนี้ว่า “Premedication” ด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์(Corticosteroid) ชนิดฉีดทางหลอดเลือดดำ คือ ยาเมทิลเพรดนิโซโลน (Methylpredinisolone) ขนาด 50 – 100 มิลลิกรัม หรือขนาด 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในเด็ก และยาแก้แพ้(Antihistamine)ทางหลอดเลือดดำ เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ขนาด 25 – 100 มิลลิกรัม หรือ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในเด็ก และให้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) โดยการรับประทาน ขนาดยา 500 – 1,000 มิลลิกรัม หรือ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในเด็ก ซึ่งขั้นตอน Premedication ควรบริหารให้เสร็จสิ้นก่อนการบริหารยา ไธโมโกลบูลินประมาณ 30 - 60 นาที จากนั้นจึงนำสารละลายยาไธโมโกลบูลินที่เตรียมเสร็จในขั้นตอนที่ (ก)มาบริหารแก่ผู้ป่วยได้ทันที โดยระยะเวลาในการบริหารยาไธโมโกลบูลินแก่ผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำ ควรใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 4 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น
ค. การติดตามอาการทางคลินิกของผู้ป่วยภายหลังบริหารยาไธโมโกลบูลิน: เนื่องจากมีรายงานการเกิดปฏิกิริยารุนแรงที่มีความสัมพันธ์กับการหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างเฉียบพลัน/ปฏิกิริยาจากการหยดยาเข้าหลอดเลือดำ(Infusion associated reactions) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลั่งของไซโตไคน์ด้วยการกระตุ้นของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ และชนิดโมโนไซต์(Monocyte)จากยาไธโมโกลบูลิน ทำให้ผู้ป่วยทีได้รับยาอาจเกิดอาการ มีไข้ หนาวสะท้าน/หนาวสั่น หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง อาจมีความดันเลือด/ความดันโลหิตสูงขึ้น หรือต่ำลง มีผื่น ปวดศีรษะ ซึ่งอาจเกิดอาการได้เป็นชั่วคราว โดยวิธีดูแลรักษา อาการดังกล่าว ทำได้โดยหยุดให้ยาไธโมโกลบูลินชั่วคราว แล้วให้ยารักษาอาการแพ้เพิ่มเติม หรือทำการปรับลดอัตราเร็วในการให้ยาไธโมโกลบูลินลง
ง. ขนาดยาที่แนะนำ: ขนาดยาไธโมกลโกลบูลินที่แนะนำ รวมถึงการให้ยาอื่นๆร่วมกับยาไธโมโกลบูลิน จะแตกต่างกันไปตามข้อบ่งใช้ของยาแต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยา วิธีการบริหารยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาไธโมโกลบูลิน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาไธโมโกลบูลินและยาทุกชนิด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ ยาต่างๆที่รวมยาไธโมโกลบูลิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
หากลืมรับไปรับยาไธโมโกลบูลิน ควรทำอย่างไร?
กรณีผู้ป่วยลืมไปรับยาไธโมโกลบูลินตามตารางการได้รับยาที่แพทย์กำหนด ผู้ป่วยควรต้องรีบติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาโดยทันที เพื่อนัดหมายเข้ารับการบริหารยาดังกล่าวให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาด้วยยาไธโมโกลบูลิน
ยาไธโมโกลบูลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไธโมโกลบูลินมีผลไม่พึงประสงค์/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
1. อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้ในช่วง/ในขณะที่ผู้ป่วยกำลังได้รับการบริหารยาไธโมโกลบูลินผ่านทางหลอดเลือดดำ เรียกว่า Infusion associated reaction โดยอาการจะเกิดขึ้นช่วง 30 – 60 นาทีแรกภายหลังเริ่มการให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำ และมักเกิดในช่วงแรกของการรักษา อาการที่เกิดขึ้น เช่น ไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน อาการคัน หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ปวดศีรษะ ท้องเสีย หายใจไม่อิ่ม/หายใจลำบาก หรือความดันตก/ความดันโลหิตต่ำ อ่อนเพลีย ใบหน้าบวม
2. อาการไม่พึงประสงค์ของยาไธโมโกลบูลินที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการการติดเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส และโปรตัวซัว, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกผิดปกติ, หายใจลำบาก, อาการทางระบบเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย, อาการทางระบบประสาท เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ, และอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ เช่น ผื่นคัน ปวดกล้ามเนื้อตามแขนขา
มีข้อควรระวังการใช้ยาไธโมโกลบูลินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไธโมโกลบูลิน เช่น
1. ห้ามใช้ยาไธโมโกลบูลินในผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อเฉียบพลันหรือเรื้อรัง การใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้
2. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้โปรตีน/สารโปรตีนของกระต่ายอย่างรุนแรง
3. การได้รับวัคซีนต่างๆในช่วงที่กำลังได้รับยาไธโมโกลบูลิน ถือเป็นข้อห้าม เนื่องจาก วัคซีนที่ได้รับ อาจเพิ่มโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อได้ โดยเฉพาะเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็น
4. การใช้ยาไธโมโกลบูลินในช่วงกำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจาก การศึกษาเรื่องผลพิษของยาไธโมโกลบูลินต่อทารกในครรภ์ยังมีจำกัด ยานี้อาจมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ และ
หากอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะ ยังไม่มีการศึกษาว่ายานี้ถูกขับออกทางน้ำนมหรือไม่ ซึ่งหากยาถูกขับออกทางน้ำนมจริง อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตรได้ ดังนั้น ควรพิจารณาหยุดให้นมบุตร หากมารดากำลังได้รับยานี้อยู่
หรือ หยุดการใช้ยานี้ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของมารดาต่อภาวะโรคที่กำลังเป็นอยู่ โดยการใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
5. ห้ามใช้ยาหมดอายุ
6. ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไธโมโกลบูลิน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไธโมโกลบูลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
จากการศึกษาที่ผ่านมา ยังไม่พบรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาไธโมโกลบูลินกับยาชนิดอื่นๆ
แต่อย่างไรก็ตาม การให้ยาไธโมโกลบูลินร่วมกับยาอื่นๆที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน/ยากดภูมิคุ้มกัน เช่นยา ไซโครสปอริน(Cyclosporin), ทาโครลิมัส(Tacrolimus), ไมโครฟีนอเลท โมฟิทิล(Mycophenolate mofetil) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการกดภูมิคุ้มกันมากเกินไป รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนเชื้อเป็น (Live vaccine หมายถึง วัคซีนเชื้อเป็นที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนั้นๆ เช่น วัคซีนหัด วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนคางทูม วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนไวรัสโรตา และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น)แก่ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ การฉีดวัคซีนต่างๆอาจได้ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้
ควรเก็บรักษายาไธโมโกลบูลินอย่างไร?
แนะนำเก็บยาไธโมโกลบูลินในบรรจุภัณฑ์เดิม เก็บรักษายาในตู้เย็นช่องปกติ (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส/Celsius) เก็บยาให้พ้นจากแสง/แสงแดด ห้ามแช่ยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อนึ่ง ภายหลังการละลายและเจือจางยาไธโมโกลบูลินเพื่อบริหารยาแก่ผู้ป่วย สารละลายยาที่เจือจางแล้วจะคงสภาพได้ 24 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง ดังนั้นการบริหารยาดังกล่าว ควรทำให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง หากยาฉีดที่เจือจางแล้วมีระยะเวลาเกิน 24 ชั่วโมง ควรทิ้งยาดังกล่าวไป
ยาไธโมโกลบูลินที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไธโลโกลบูลิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Thymoglobuline 25 มิลลิกรัม (5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) | Sanofi-aventis |
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
- Thymoglobulin [prescribing information]. Cambridge, MA: Genzyme Corporation; 2017.
- Thymoglobulin [prescribing information]. Bangkok, Thailand: Genzyme Corporation; 2012.
- แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยปลูกถ่ายตับ http://www.transplantthai.org/upload/170815114538293_MNB.pdf[2017,Dec9]