ไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidine dione: TZDs)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidine dione) ซึ่งย่อว่า ทีซีดี (TZDs) เป็นชื่อกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภท 2 มีชื่อเรียกอื่นอีกคือ ยาไกลทาโซล (Glitazones) ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้เช่น

  • Rosiglitazone เป็นยาที่มีจำหน่ายที่ประเทศอเมริกา แต่สำหรับประเทศแถบยุโรปได้เพิกถอนยาตัวนี้ออกไป ด้วยพบว่าเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • Pioglitazone บางประเทศในแถบยุโรปยกเลิกการใช้ ด้วยพบว่ามีความเสี่ยงอาจเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer)
  • Lobeglitazone มีการใช้ยานี้ในแถบทวีปเอเชีย เช่น เกาหลี
  • Troglitazone ถูกเพิกถอนจากการตลาด ด้วยยานี้ไปเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ (Hepatitis)

นอกจากนี้ยังมียาในกลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอนที่อยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพของการรักษาอีก 2 - 3 ตัวยาเช่น Netoglitazone, Rivoglitazone และ Ciglitazone เป็นต้น

สำหรับตลาดยาในประเทศไทยพบว่า Pioglitazone ยังมีจำหน่ายอยู่และถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติของเรา โดยจัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ ทั้งนี้การคัดกรองและเลือกตัวยาสำหรับรัก ษาโรคเบาหวานได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล จะมีความแตกต่างกัน โดยขึ้นกับการตอบ สนองของร่างกายเมื่อมีการใช้ยานั้นๆ ผู้ป่วย/ผู้บริโภคจึงควรปฏิบัติและรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดหรือปรับเปลี่ยนขนาดการใช้ด้วยตนเอง

ไธอะโซลิดีนไดโอนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไธอะโซลิดีนไดโอน

ไธอะโซลิดีนไดโอนมีสรรพคุณคือ ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภท 2 (Type 2 diabetes) โดยใช้ได้ทั้งเป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวานตัวอื่นเช่น Metformin

ไธอะโซลิดีนไดโอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอนไม่ได้มีกลไกการออกฤทธิ์เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินของตับอ่อน แต่จะกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนได้ดีขึ้น ทำให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไธอะโซลิดีนไดโอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไธอะโซลิดีนไดโอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาเดี่ยวชนิดเม็ดเช่น ขนาด 15, 30 และ 45 มิลลิกรัม/เม็ด เช่น ยา Pioglitazone
  • ยาเม็ดที่ผสมกับยารักษาโรคเบาหวานชนิดอื่นเช่น Pioglitazone 15 มิลลิกรัม + Metformin HCl 850 มิลลิกรัม/เม็ด

ไธอะโซลิดีนไดโอนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

การใช้ยาไธอะโซลิดีนไดโอนต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น และต้องรับประทานตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดหรือปรับเปลี่ยนขนาดรับประทาน หรือละเว้นมื้อของการรับ ประทานยาเอง การรับประทานยาที่ขาดความต่อเนื่องสามารถส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วยเอง และอาจเป็นเหตุให้อาการโรคมีความรุนแรงมากขึ้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไธอะโซลิดีนไดโอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไธอะโซลิดีนไดโอนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไธอะโซลิดีนไดโอนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไธอะโซลิดีนไดโอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทุกตัวส่วนใหญ่ในกลุ่มยาไธอะโซลิดีนไดโอนจะมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ทุกตัวยาคล้ายกัน แต่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ทราบหรือไม่รู้สึกถึงผลข้างเคียงของยาเหล่านั้น ซึ่งไธอะโซลิดีนไดโอนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงดังนี้เช่น มีภาวะหายใจติดขัด/หายใจลำบาก หน้า - ปาก - คอมีอาการบวม เจ็บหน้าอก ผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ตัว ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีคล้ำ น้ำ หนักเพิ่ม มีอาการคั่งของน้ำในร่างกายจนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ตับล้มเหลว น้ำตาลในเลือดต่ำ โลหิตจาง เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ไธอะโซลิดีนไดโอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไธอะโซลิดีนไดโอนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานประเภท 1
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้มีอายุที่ต่ำกว่า 18 ปี
  • ขณะใช้ยากลุ่มนี้ควรตรวจการทำงานของตับว่าปกติดีหรือไม่
  • หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ ควรแจ้งแพทย์เพื่อขอปรับขนาดรับประทาน
  • การใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็ก ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ว่าเห็นสมควรหรือไม่เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่น กัน

ไธอะโซลิดีนไดโอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไธอะโซลิดีนไดโอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • ห้ามไม่ให้รับประทานยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ด้วยจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • การใช้ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอนร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (Azole antifungals), Chloramphenicol, Clofibrate, Fenfluramine, ยากลุ่ม MAOIs, ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs), Probenecid, และ Quinolone หากมีความจำเป็นต้องรับประทานยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอนร่วมกับ Bosetan ซึ่งเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง อาจทำให้เกิดภาวะตับทำงานผิดปกติ (ตับอักเสบ) จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอนร่วมกับยากลุ่ม Beta blockers สามารถทำให้เกิดภาวะน้ำ ตาลในเลือดต่ำ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน หากจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มในเวลาเดียวกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ และขนาดยาต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ควรเก็บรักษาไธอะโซลิดีนไดโอนอย่างไร?

ควรเก็บยาไธอะโซลิดีนไดโอนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความชื้น ไม่ควรเก็บยาไว้ใน ห้องน้ำ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไธอะโซลิดีนไดโอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไธอะโซลิดีนไดโอนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Actos (แอ็คทอซ)Takeda
Actosmet (แอ็คทอซเม็ท)Takeda
Gitazone/Gitazone-forte (กีตาโซน/กีตาโซน – ฟอร์ด )Millimed
Glubosil (กลูโบซิล)Silom Medical
Piozone (ไพโอโซน)M & H Manufacturing
Senzulin (เซนซูลิน)Siam Bheasach
Utmos (อัทโมส)Berlin Pharm

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Thiazolidinedione[2017,June3]
  2. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=rosiglitazone[2017,June3]
  3. http://drug.fda.moph.go.th/zone_law/files/46.pdf[2017,June3]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=pioglitazone[2017,June3]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=troglitazone[2017,June3]
  6. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Actos/?type=brief[2017,June3]
  7. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Actosmet/?type=brief[2017,June3]
  8. http://www.webmd.com/diabetes/thiazolidinediones-for-type-2-diabetes[2017,June3]
  9. https://www.nps.org.au/australian-prescriber/articles/clinical-indications-for-thiazolidinediones[2017,June3]
  10. http://www.foodanddruginteractions.co.uk/which-drugs-foods-react-with-thiazolidinedione.html[2017,June3]
  11. http://www.mims.com/usa/drug/info/pioglitazone/[2017,June3]
Updated 2017,June3