ไทโอโทรเปียม (Tiotropium )
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ไทโอโทรเปียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไทโอโทรเปียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทโอโทรเปียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไทโอโทรเปียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
- ไทโอโทรเปียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทโอโทรเปียมอย่างไร?
- ไทโอโทรเปียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทโอโทรเปียมอย่างไร?
- ไทโอโทรเปียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease)
- โรคหืด (Asthma)
- เชื้อราช่องปาก (Oral thrush หรือ Oropharyngeal candidiasis)
บทนำ
ยาไทโอโทรเปียม (Tiotropium ) เป็นยาในกลุ่มแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic) หรือแอนตี้โคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ทางคลินิกใช้เป็นยาขยายหลอดลมเพื่อบำบัดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรวมถึงโรคหืด ยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นสารละลายในรูปแบบสเปรย์เข้าทางปากและชนิดแคปซูลซึ่งไม่ได้มีไว้สำหรับรับประทานแต่ต้องนำไปบรรจุใส่ในอุปกรณ์พ่นยาผ่านทางปากเช่นกัน
ตัวยาไทโอโทรเปียมมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ไม่ดีนัก แต่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางปอดแทน เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะต้องใช้เวลาประมาณ 25 ชั่วโมงก่อนที่จะถูก ขับทิ้งไปกับปัสสาวะ ยานี้เหมาะที่จะใช้กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป มีข้อห้ามใช้ยาไทโอโทรเปียมกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้และไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับยาในกลุ่มแอนตี้โคลิเนอร์จิกตัวอื่นอย่างเช่น Ipratropium เป็นต้น
สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นอีกกลุ่มที่จะต้องใช้ยาทุกประเภทด้วยความระมัดระวังซึ่งรวมถึงยาไทโอโทรเปียมด้วย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวบางประเภท หากใช้ยาไทโอโทรเปียม อาจทำให้อาการของโรคประจำตัวดังกล่าวมีอาการรุนแรงมากขึ้นเช่น ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัดหรือมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดตัน ผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยโรคไต รวมถึงผู้ที่มีปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจ
การใช้ยาไทโอโทรเปียมจะต้องมีความเข้าใจต่อรูปแบบและการใช้ในตัวผลิตภัณฑ์ยานี้ แพทย์และเภสัชกรจะเน้นย้ำทำความเข้าใจกับผู้ป่วยถึงวิธีการใช้ยานี้อย่างถูกต้องก่อนการส่งมอบยานี้ให้ผู้ ป่วยอาทิ
- การใช้ยานี้ในรูปแบบแคปซูลนั้นไม่ได้มีไว้ให้รับประทาน แต่มีไว้พ่นเข้าทางปาก ดังนั้นการ ใช้ยานี้จึงต้องใช้กับอุปกรณ์ประกอบเพื่อการพ่นยา
- ห้ามนำอุปกรณ์การพ่นยาไทโอโทรเปียมชนิดแคปซูลไปใช้พ่นยาชนิดอื่น
- ห้ามแกะแคปซูลยาจากแผงจนกว่าจะทำการพ่นยา การปล่อยให้แคปซูลยาสัมผัสกับอากาศ อาจทำให้แคปซูลสูญเสียสภาพการปลดปล่อยตัวยาที่เหมาะสมได้
- การใช้ยาไทโอโทรเปียมในรูปแบบสารละลายสเปรย์เข้าทางปากก็จะมีวิธีการใช้ที่แตกต่างจากยาชนิดแคปซูล ผู้ป่วยอาจต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับแพทย์พยาบาลว่าการจะใช้ยานี้ในรูปแบบใดนั้นจะสร้างความถนัดของการใช้มากกว่ากัน
- การพ่นยาควรต้องพ่นในเวลาเดียวกันของแต่ละวันทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพของการรักษา ช่วยทำให้จดจำเวลาพ่นยาได้ง่ายและเป็นการป้องกันการลืมพ่นยา
- ปกติยานี้จะใช้กับผู้ป่วยเพียงวันละครั้งเท่านั้น การพ่นยามากกว่า 1 ครั้งต่อวันอาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด
- ไม่ว่าจะเป็นการพ่นยาผงซึ่งบรรจุอยู่ในแคปซูล หรือพ่นยาชนิดที่เป็นสารละลาย ต้องมิให้ตัวยาทั้ง 2 รูปแบบสัมผัสตาโดยเด็ดขาด
ในด้านผลข้างเคียงจากการใช้ยาไทโอโทรเปียม หากพบว่ามีอาการตาพร่าหรือวิงเวียน ผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หรือบางกรณีพบว่าผู้ป่วยมีอาการอึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบากหลังจากได้รับยานี้ ควรต้องนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ไทโอโทรเปียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไทโอโทรเปียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease)
- บำบัดอาการโรคหืด (Asthma)
ไทโอโทรเปียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไทโอโทรเปียมคือ ยานี้เป็นตัวยาประเภท Muscarinic receptor antagonist/Antimuscarinic เมื่อตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากทางหลอดลม/ปอด จะทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดลมลดการหดตัวและส่งผลให้หลอดลมขยายตัว ทั้งช่วยลดการหลั่งสารเมือก/สารคัดหลั่งของผนังหลอดลมอีกด้วย จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ไทโอโทรเปียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไทโอโทรเปียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาพ่นสเปรย์เข้าทางปากโดยแบ่งเป็นรูป แบบผลิตภัณฑ์ดังนี้
- ชนิดแคปซูลที่ต้องบรรจุอุปกรณ์การพ่นยา (Device) ขนาด 18 ไมโครกรัม/แคปซูล
- ชนิดสารละลายที่บรรจุขวดขนาด 1.25 และ 2.5 ไมโครกรัม/การสูดพ่น 1 ครั้ง
ไทโอโทรเปียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไทโอโทรเปียมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
ก. สำหรับโรคปอดอุดกลั้นเรื้อรัง:
- ผู้ใหญ่: พ่นยาชนิดสารละลายขนาด 5 ไมโครกรัมวันละครั้ง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในการใช้ยานี้เพื่อบำบัดโรคปอดอุดกลั้นเรื้อรังในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ข. สำหรับโรคหืด:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: พ่นยาชนิดสารละลายขนาด 2.5 ไมโครกรัมวันละครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกสำหรับการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไทโอโทรเปียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทโอโทรเปียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่/ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
หากลืมพ่นยาไทโอโทรเปียมสามารถพ่นยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรพ่นยาไทโอโทรเปียมตรงเวลา
ไทโอโทรเปียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไทโอโทรเปียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไอ ไซนัสอักเสบ เจ็บหน้าอก หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก ระคายเคืองในคอ มีอาการเสียงแหบ
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน ลมพิษ ติดเชื้อที่ผิวหนัง ผิวหนังเป็นแผล
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง ท้องผูก กรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดการติดเชื้อราแคนดิดาในช่องปาก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com บทความเรื่อง เชื้อราช่องปาก)
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะขัด/ปัสสาวะไม่ออก
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังง่านในร่างกาย: เช่น มีภาวะไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดขา ปวดกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบ
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น เกิดต้อกระจก ตาพร่า เกิดภาวะต้อหิน ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เกิดภาวะซึมเศร้า
มีข้อควรระวังการใช้ไทโอโทรเปียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไทโอโทรเปียมเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามไม่ให้ยานี้เข้าตา
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/ส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- หากใช้ยานี้ไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ใช้ยานี้ตรงเวลาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไทโอโทรเปียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไทโอโทรเปียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไทโอโทรเปียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น การใช้ยาไทโอโทรเปียมร่วมกับยา Atropine, Carbinoxamine, Chlorpheniramine, Diphenhydramine, Hyoscyamine, Loxapine (ยารักษาโรคจิตเภท), Olanzapine (ยารักษาโรคจิตเภท), Phenyltoloxamine (ยาแก้แพ้), Triprolidine อาจทำให้เกิดมีอาการง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง เหงื่อออกน้อย หน้าแดง ร่างกายทนความร้อนได้ไม่ดีเท่าเดิม ปัสสาวะขัด ท้องผูก ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไทโอโทรเปียมอย่างไร?
ควรเก็บยาไทโอโทรเปียมในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไทโอโทรเปียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไทโอโทรเปียมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Spiriva (สไปริวา) | pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tiotropium_bromide [2016,April16]
- https://www.spiriva.com/pdf/copd/SPIRIVA_HandiHaler_Instructions.pdf [2016,April16]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/spiriva%20handihaler-spiriva%20respimat/?type=full#Indications [2016,April16]
- http://www.drugs.com/ppa/tiotropium.html [2016,April16]
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/10039 [2016,April16]