ไทโรไฟแบน (Tirofiban)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไทโรไฟแบนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไทโรไฟแบนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทโรไฟแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไทโรไฟแบนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ไทโรไฟแบนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทโรไฟแบนอย่างไร?
- ไทโรไฟแบนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทโรไฟแบนอย่างไร?
- ไทโรไฟแบนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Glycoprotein IIb/IIIa inhibitors
- ยาไมเกรน ยาต้านไมเกรน (Antimigraine drugs)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drug)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- หัวใจ: กายวิภาคหัวใจ (Heart anatomy) / สรีรวิทยาของหัวใจ (Heart physiology)
- โรคหัวใจ: การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary heart disease: Ballooning and bypass)
บทนำ
ยาไทโรไฟแบน(Tirofiban หรือ Tirofiban hydrochloride หรือ Tirofiban HCl) เป็นยาต้านเกล็ดเลือดประเภท ไกลโคโปรตีน IIบี/IIIเอ อินฮิบิเตอร์ (Glycoprotein IIb/IIIa inhibitors) ทางคลินิกนำยานี้มาบำบัดอาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และในบางกรณีอาจใช้เป็นยาป้องกันการรวมตัว/จับตัวของเกล็ดเลือดจนอาจเกิดเป็นลิ่มเลือด/ ก้อนเลือด ขณะใส่สายสวนเพื่อละลายก้อนเลือดที่อุดตัน(Percutaneous coronary intervention/PCI) อนึ่งแนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหัวใจ: การซ่อมรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ยาไทโรไฟแบนถูกรับรองและขึ้นทะเบียนยาในปีค.ศ.2000(พ.ศ. 2543) จัดเป็นกลุ่มยาที่เป็นยาอันตรายสูงที่ประกอบด้วยมีข้อจำกัดการใช้งานอยู่หลายประการ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกในอวัยวะต่างๆภายใน 30 วันที่ผ่านมา
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติหลอดเลือดสมองแตก หรือมีเนื้องอกสมอง
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีระดับเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 เซลล์/ไมโครลิตร
- ห้ามใช้กับผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท การที่จะใช้ยาไทโรไฟแบนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จะต้องใช้ยาลดความดันโลหิต ให้กลับมาเป็นปกติเสียก่อน
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดประเภทไกลโคโปรตีน IIบี/IIIเอ อินฮิบิเตอร์ตัวอื่นๆ
ทั้งนี้ ด้วยรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไทโรไฟแบน เป็นยาฉีด การเตรียมสำหรับฉีดให้ผู้ป่วยจะต้องเจือจางตัวยาร่วมกับสารละลาย 0.9% Sodium chloride ซึ่งเมื่อ ผู้ป่วยได้รับยานี้ไปแล้วประมาณ 10 นาที ตัวยาก็จะเริ่มออกฤทธิ์ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
*กรณีที่ได้รับยาไทโรไฟแบนเกินขนาด จะทำให้เกิดอาการ เลือดออกในเนื้อสมอง เลือดออกในกะโหลกศีรษะ หรือในช่องท้องตามมา การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด ต้องใช้วิธีถ่ายเลือดโดยเร็ว จากเหตุผลที่กล่าวมา บุคลากรทางการแพทย์ที่จะใช้ยานี้ได้นั้นจะต้องได้รับการฝึกฝนจนชำนาญและปฏิบัติขั้นตอนการให้ยานี้กับผู้ป่วยอย่างถูกต้องโดยไม่มีข้อผิดพลาด
อนึ่ง หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของยาไทโรไฟแบน ผู้ป่วย/ผู้บริโภคสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ให้การตรวจรักษา หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลนั้นๆได้
ไทโรไฟแบนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไทโรไฟแบนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดอาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(Acute coronary syndrome)
- ใช้เป็นยาต้านการรวมตัวของเกล็ดเลือดขณะใส่สายสวนในหลอดเลือดที่อุดตัน(PCI)
ไทโรไฟแบนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไทโรไฟแบน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้ารวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ที่อยู่บริเวณพื้นผิวของเกล็ดเลือดที่มีชื่อว่า Glycoprotein IIb/IIIa receptor ส่งผลทำให้เกล็ดเลือดหมดความสามารถที่จะรวมตัวกับโปรตีนบางอย่างที่จะก่อให้เกิดกระบวนการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่น Fibrinogen จากกลไกที่กล่าวมาทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ไทโรไฟแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไทโรไฟแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีด ที่มีส่วนประกอบของตัวยาTirofiban ขนาด 0.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร หรือ 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
ไทโรไฟแบนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไทโรไฟแบน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเพื่อบำบัดอาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 25 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมภายในเวลา 5 นาที จากนั้นให้หยดยาเข้าหลอดเลือดฯขนาด 0.15 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที การให้ยาในช่วงนี้อาจใช้เวลานานถึง 18 ชั่วโมง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- แพทย์อาจใช้ยาไทโรไฟแบนร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดชนิดอื่น เช่นยา Heparin หรือ Aspirin โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยตามอาการโรคเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยานี้กับผู้ที่มีค่าครีเอตินินเคลียแรนซ์(Creatinine clearance)น้อยกว่า 30 มิลลิลิตร/นาที แพทย์อาจลดขนาดการใช้ยาลงประมาณ 50%
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไทโรไฟแบน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทโรไฟแบน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ไทโรไฟแบนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไทโรไฟแบนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ อาจมีเลือดออกในเนื้อสมอง เลือดออกในกะโหลกศีรษะ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดขา
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ เลือดออกในทางเดินอาหาร
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้า เกิดการฉีกเซาะ/ปริแตกของหลอดเลือดแดง เลือดออกในเยื่อหุ้มหัวใจ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีปริมาณเกล็ดเลือดลดต่ำกว่า 90,000 เซลล์/ไมโครลิตรจนเกิดภาวะเลือดออกง่าย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเหงื่อมาก
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เลือดออกในปอด
มีข้อควรระวังการใช้ไทโรไฟแบนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไทโรไฟแบน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- หลีกเลี่ยง กิจกรรมต่างๆ กีฬา ที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือบาดแผลตามร่างกายหลังจากได้รับยานี้มาใหม่ๆ เพราะจะเป็นสาเหตุให้ตกเลือดได้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการตรวจรักษา/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไทโรไฟแบนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไทโรไฟแบนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไทโรไฟแบนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไทโรไฟแบนร่วมกับ ยาต้านเกล็ดเลือด ชนิดอื่นๆ แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกัน ภาวะเลือดออกง่ายรวมถึงอาการข้างเคียงต่างๆ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไทโรไฟแบนร่วมกับยา Alteplase , Urokinase , Ticlopidine ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไทโรไฟแบนร่วมกับยา Apixaban, Tipranavir ด้วยจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายอย่างรุนแรงตามมา
ควรเก็บรักษาไทโรไฟแบนอย่างไร?
ควรเก็บยาไทโรไฟแบนภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไทโรไฟแบนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไทโรไฟแบน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aggrastat (แอกแกรสแตท) | BAXTER |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Aggramed, Aggriblock, Aggritor, Aggrifib
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/1998/20912lbl.pdf [2017,Nov25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tirofiban [2017,Nov25]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/tirofiban/?type=brief&mtype=generic [2017,Nov25]
- http://www.mims.com/philippines/drug/info/tirofiban?mtype=generic [2017,Nov25]
- https://www.drugs.com/ppa/tirofiban.html [2017,Nov25]
- https://www.drugs.com/dosage/tirofiban.html#Usual_Adult_Dose_for_Acute_Coronary_Syndrome [2017,Nov25]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/tirofiban-index.html?filter=3&generic_only=#T [2017,Nov25]