ไทโคพลานิน (Teicoplanin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 มกราคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ไทโคพลานินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไทโคพลานินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทโคพลานินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไทโคพลานินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ไทโคพลานินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทโคพลานินอย่างไร?
- ไทโคพลานินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทโคพลานินอย่างไร?
- ไทโคพลานินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เชื้อดื้อยา ซูเปอร์บั๊ก (Superbug)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
บทนำ
ยาไทโคพลานิน (Teicoplanin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ป้องกันและรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย แกรมบวก (Gram positive bacteria) รวมถึงเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะเมทิซิลลิน (Methicillin) เช่น เชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Enterococcus faecalis ยานี้เป็นสารเคมีกลุ่มไกลโค เปปไทด์กึ่งสังเคราะห์ (Semisynthetic glycopeptide, กลุ่มยาปฏิชีวนะกลุ่มหนึ่ง) ซึ่งมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยาปฏิชีวนะแวนโคมัยซิน (Vancomycin)
ไทโคพลานินเป็นยาที่ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ไม่ดีเท่าไรนัก จึงมีรูปแบบยาเป็นชนิดฉีดเท่านั้น ไม่มีชนิดรับประทาน การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อจะมีการกระจายตัวของยาได้ประมาณ 90% หากฉีดเข้าหลอดเลือดดำจะทำให้มีความเข้มข้นสูงสุดในพลาสมาภายในเวลาประมาณ 1 ชั่ว โมง ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะมีการจับตัวกับพลาสมาโปรตีน 90 - 95% และร่างกายต้องใช้เวลา 70 - 100 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
เราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ในสถานพยาบาลต่างๆโดยมีชื่อการค้าว่า ‘Targocid’ การพิจารณาเลือกใช้ยาไทโคพลานินจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์รวมถึงการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ไทโคพลานินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไทโคพลานินมีสรรพคุณดังนี้
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียของเนื้อเยื่อและของผิวหนัง
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในอวัยวะของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ (การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงในข้อและในกระดูก
- รักษาการติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
- รักษาเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ใช้เป็นยาร่วมในการรักษาโรคท้องเสียอันมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile
ไทโคพลานินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไทโคพลานินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเซลล์วอลล์/ผนังเซลล์ (Cell wall synthesis) ในตัวแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้
ไทโคพลานินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไทโคพลานินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดที่เป็นลักษณะยาผง (ใช้ละลายในสารละ ลาย/ตัวทำละลายเมื่อจะใช้ยา) ขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม/ขวด
ไทโคพลานินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไทโคพลานินมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาดังนี้
ก. สำหรับรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจช่วงล่าง ระบบทางเดินปัสสาวะ:
ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 400 มิลลิกรัมครั้งเดียวในวันแรก จากนั้นฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าหลอดเลือดดำก็ได้ 200 มิลลิกรัมวันละครั้ง
ข. สำหรับรักษาการติดเชื้อในข้อ กระดูก การติดเชื้อในกระแสเลือด และในเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ:
ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 400 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมงเมื่อเริ่มใช้ยาจำนวน 3 ครั้ง จากนั้นฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำก็ได้ 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง
ค. สำหรับรักษาการติดเชื้อแกรมบวกในเด็ก:
- เด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือน - 16 ปี: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมงในการเริ่มใช้ยาเป็นจำนวน 3 ครั้ง จากนั้นฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำก็ได้โดยใช้ขนาด 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน: การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
***** หมายเหตุ:
- สำหรับสารละลาย/ตัวทำละลายที่สามารถนำไปใช้ละลายยาไทโคพลานิน จะต้องใช้ปริมาณตามที่แนะนำในเอกสารกำกับยานี้เท่านั้น ซึ่งสารละลายเหล่านี้เช่น
- Sodium chloride 9 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- Ringer solution
- Ringer Lactate solution
- 5% Dextrose injection
- 10% Dextrose injection
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไทโคพลานิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทโคพลานินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ไทโคพลานินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไทโคพลานินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน มีไข้ หนาวสั่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง อาจเกิดอาการแพ้ยา ตรวจเลือดพบความผิดปกติของเอนไซม์ในตับ มีผื่นคัน Stevens-Johnson syndrome ปวดแผลในบริเวณที่ฉีดยา
มีข้อควรระวังการใช้เทโคพลานินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เทโคพลานินดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin)
- ระวังการเกิดพิษต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน (เส้นประสาทหู)
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานอาจเกิดภาวะการติดเชื้อของเชื้อโรคอื่นที่ไม่ตอบสนองหรือที่ดื้อต่อยาไทโคพลานิน
- หากมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรให้นมบุตรด้วยนมผงดัด แปลงที่มีวางจำหน่ายและได้มาตรฐานตามเกณฑ์อายุของทารก
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไทโคพลานินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไทโคพลานินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไทโคพลานินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- การผสมยาไทโคพลานินร่วมกับยาปฏิชีวนะตัวอื่นเช่น กลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminogly coside) จะทำให้เกิดภาวะตัวยาเข้ากันไม่ได้/จะไม่ผสมรวมกัน (Incompatible) หากมีความจำเป็น ต้องใช้ยาร่วมกันในการรักษาโรคต้องเตรียมไทโคพลานินแยกต่างหาก ห้ามนำไปผสมร่วมกับยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ
- ยาที่สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับไทโคพลานินได้แก่ Amphoteracin-B (ยาปฏิชีวนะ), Cyclosporin, Cisplatin (ยาสารเคมี), Etacrynic acid (ยาขับปัสสาวะ) และ Furosemide
- สำหรับหมวดยาปฏิชีวนะอื่นๆที่อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาไทโคพลานินได้แก่ ยาที่มีผล ข้างเคียงต่อการได้ยินของหู/ประสาทหู (เช่น Kanamycin, Tobramycin), ยาที่ทำลายหรือก่อให้เกิดผลเสียกับไต (เช่น Amikacin, Gentamicin), ยาที่ทำลายหรือก่อให้เกิดผลเสียกับระบบประสาท (เช่น Streptomycin)
ควรเก็บรักษาไทโคพลานินอย่างไร?
ควรเก็บยาไทโคพลานินภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) สำหรับยาที่ใช้ผสมเป็นตัวทำละลายแต่ใช้ไม่หมดให้เก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียสและเก็บได้ไม่เกิน 24 ชั่ว โมง ห้ามเก็บยาและตัวทำละลายในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น และเก็บยาและตัวทำละลายให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไทโคพลานินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไทโคพลานินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Targocid (ทาร์โกซิด) | sanofi-aventis |
Bacteplanin (แบคเทพลานิน) | Lifecare innovations |
Ticocin 400 mg (ทิโคซิน 400 มิลลิกรัม) | Cipla Limited |
Icop (ไอค็อป) | Biosans Lifecare |
Tecotop 400 mg (เทโคท็อป 400 มิลลิกรัม) | Alna Biotech |
Sonocid (โซโนซิด) | Bison Biotec Pvt Ltd |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Teicoplanin [2014,Dec27]
2. http://www.mims.com/USA/drug/info/teicoplanin/?type=full&mtype=generic[2014,Dec27]
3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Targocid/?type=brief [2014,Dec27]
4. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=teicoplanin [2014,Dec27]
5. http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=1050&drugName=Teicoplanin&type=1 [2014,Dec27]
6. http://www.medindia.net/doctors/drug_information/teicoplanin.htm[2014,Dec27]
7. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/27321 [2014,Dec27]