ไทอะเนปทีน (Tianeptine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไทอะเนปทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไทอะเนปทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทอะเนปทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไทอะเนปทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไทอะเนปทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทอะเนปทีนอย่างไร?
- ไทอะเนปทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทอะเนปทีนอย่างไร?
- ไทอะเนปทีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โรคหืด (Asthma)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
บทนำ
ยาไทอะเนปทีน (Tianeptine หรือ Tianepine sodium) เป็นยาที่ใช้บำบัดอาการซึมเศร้า (Major depressive disorder) ในทางการแพทย์อาจใช้ยานี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาอาการวิตกกังวล(Anxiety) โรคหืด(Asthma) และภาวะลำไส้แปรปรวน(IBS)
ข้อดีบางประการของยาไทอะเนปทีน คือ ไม่ค่อยสร้างอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อระบบการทำงานของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ประกอบกับก่อให้เกิดฤทธิ์สงบประสาทได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไทอะเนปทีนที่พบเห็นการจำหน่ายในท้องตลาด คือ ยารับประทานด้วยมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ดี ร่างกายจะทำลายยาชนิดนี้ได้โดยผ่านไปที่ตับ การกำจัดตัวยาออกจากกระแสเลือดต้องใช้เวลา 2.5–3 ชั่วโมง แต่ใน ผู้สูงวัยอาจใช้เวลาถึง 4–9 ชั่วโมง จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ป่วยทุกวัยต้องรับประทานยา 2–3 ครั้ง/วัน
เพื่อความปลอดภัยในการใช้กลุ่มยาต้านเศร้ารวมถึงยาไทอะเนปทีน แพทย์จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีประวัติทำร้ายร่างกายตนเอง อาการเหล่านี้มักพบเห็นในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยๆ เช่น กลุ่มวัยรุ่น และเป็นเหตุผลห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมา นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาไทอะเนปทีนร่วมกับกลุ่มยา MAOIs ด้วยจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว มีความดันโลหิตสูงขึ้น เกิดอาการชักหรือทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น กรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิตได้
ก่อนใช้ยาไทอะเนปทีน แพทย์จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยหยุดการใช้ยากลุ่ม MAOIs เป็นเวลา14 วันขึ้นไป
ตั้งแต่อดีต มีการใช้ยาไทอะเนปทีนมายาวนานเกือบจะหกทศวรรษแล้ว ทั้งนี้ เป็นเพราะสรรพคุณที่สามารถบำบัดอาการซึมเศร้าตลอดจนมีผลข้างเคียงน้อย จึงทำให้ยาชนิดนี้ยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อยาชื่อการค้า เช่น Stablon, Tatinol, และ Coaxil
ไทอะเนปทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ไทอะเนปทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยารักษาอาการซึมเศร้า (Major depressive episodes)
ไทอะเนปทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไทอะเนปทีน มีกลไกการออกฤทธิ์เพื่อบรรเทาอาการซึมเศร้าดังนี้
- ตัวยาไทอะเนปทีนจะช่วยเร่งการทำงานของเซลล์ประสาทที่มีชื่อเรียกว่า Pyramidal cell ในสมองส่วน Hippocampus ซึ่งเซลล์ประสาทดังกล่าวอาจโดนปิดกั้นการทำงานมาก่อน
- ยาไทอะเนปทีนช่วยเพิ่มอัตราการดูดกลับของสารสื่อประสาท Serotonin เข้าสู่เซลล์ประสาทในบริเวณสมองส่วน Cerebral cortex และ Hippocampus
จากกลไกดังกล่าว จึงก่อให้เกิดฤทธิ์เป็นยาต้านเศร้า นอกจากนี้ตัวยาไทอะเนปทีนจะไม่ส่งผลให้รู้สึกง่วงนอน หรือกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวแต่อย่างใด ทางการแพทย์ยังพบว่ายาไทอะเนปทีนไม่ก่อให้เกิดฤทธิ์ Anticholinergic อีกด้วย
ไทอะเนปทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ไทอะเนปทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบเคลือบฟิล์มที่มีตัวยา Tianepine sodium หรือ Tianepine Na ขนาด 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด
ไทอะเนปทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไทอะเนปทีนมีขนาดรับประทาน ดังนี้ เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 12.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น
- ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมักจะมีปัญหาภาวะไตเสื่อม/โรคไต ร่วมด้วย ให้รับประทานยาครั้งละ 12.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-เย็น
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมา
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับกลุ่มยา MAOIs
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไทอะเนปทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทอะเนปทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาไทอะเนปทีน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ในกรณีที่ตนเองลืมรับประทานยาว่า ควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
ไทอะเนปทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไทอะเนปทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น จุกยอดอก ปากแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น นอนไม่หลับ ง่วงนอน ฝันร้าย เกิดอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า ปวดศีรษะ ตัวสั่น รู้สึกร้อนวูบวาบ
- ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น อาจมีอาการวิตกกังวล
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ มีอาการปวดเอว
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจติดขัด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการผื่นคัน
- ผลต่อตับ: เช่น อาจทำให้มีภาวะตับอักเสบ
- ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นเร็ว มีอาการปวดบริเวณหัวใจ/เจ็บหน้าอก
มีข้อควรระวังการใช้ไทอะเนปทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ไทอะเนปทีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามหยุดการใช้ยานี้โดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- การรับประทานยาไทอะเนปทีนร่วมกับยาใดๆ ควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
- หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิด เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกบ่อยครั้ง วิงเวียนศีรษะมาก ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไทอะเนปทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไทอะเนปทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไทอะเนปทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไทอะเนปทีนร่วมกับยา Aldesleukin , Aldosterone ด้วยจะ ทำให้การกำจัดยาไทอะเนปทีนของร่างกายลดลงจนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ตามมาสูงขึ้นจากยาไทอะเนปทีน
- ห้ามใช้ยาไทอะเนปทีนร่วมกับ ยา Allobarbital ด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาไทอะเนปทีนอย่างรุนแรง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไทอะเนปทีนร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดที่มีชื่อเรียกว่า 2,4 thiazolidinedione การใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน จะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดน้ำตาล ในเลือดด้อยลง
- ห้ามใช้ยาไทอะเนปทีนร่วมกับ ยา Abaloparatide ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจ เต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง
ควรเก็บรักษาไทอะเนปทีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาไทอะเนปทีน ดังนี้ เช่น
- เก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยานี้ในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยานี้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยานี้ในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยานี้ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
ไทอะเนปทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ประเทศไทย ยาไทอะเนปทีน มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Stablon (สตาบลอน) | Servier |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tianeptine[2018,Nov3]
- https://www.servier.com.ve/sites/default/files/spc-pil/spc-stablon.pdf [2018,Nov3]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB09289 [2018,Nov3]
- http://mri.cts-mrp.eu/download/PT_H_0453_001_FinalPL.pdf [2018,Nov3]
- https://www.servier.com.pk/sites/default/files/spc-pil/Stablon%2012.5mg.pdf [2018,Nov3]