ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด (Thyroid extract)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 ธันวาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดอย่างไร?
- ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดอย่างไร?
- ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
- ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)
- เลโวไทรอกซีน ไทรอกซิน เอลทรอกซิน (Levothyroxine)
- ยารักษาโรคไทรอยด์
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
บทนำ
ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด(Thyroid extract หรือ Desiccated thyroid extract) เป็นไทรอยด์ฮอร์โมนธรรมชาติที่ได้จากต่อมไทรอยด์ของสัตว์ประเภทสุกรหรือวัว โดยนำต่อมไทรอยด์ของสัตว์เหล่านี้มาทำให้แห้งแล้วบดเป็นผงและนำมาอัดเป็นเม็ด พบเห็นการใช้ทางคลินิกเพื่อบำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)อย่างรุนแรง หรือกับผู้ป่วยด้วยโรคมิกซีดีมา (Myxedema, อาการบวมทั้งตัวจากร่างกายขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1891(พ.ศ.2434) ทั้งนี้ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด ประกอบไปด้วยไทรอยด์ฮอร์โมนสำคัญๆ 2 ชนิด คือ ที3 (T3/Triiodothyronine) กับ ที4 (T4/Thyroxine/Tetraiodothyronine) แต่ด้วยส่วนประกอบต่างๆในตัวยานี้ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด ทำให้เกิดข้อโต้แย้งว่า ควรใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสังเคราะห์อย่าง Levothyroxine ดีกว่ายานี้หรือไม่โดยมีเหตุผลมาสนับสนุนดังนี้
1. ยาไทรอยด์ฮอร์โมนที่สกัดจากต่อมไทรอยด์ของ สุกร หรือวัว มีความแตกต่างใน แต่ละครั้งของการผลิตค่อนข้างมาก ด้วยเป็นสารสกัดที่ได้จากต่อมไทรอยด์ของสัตว์ ที่มีความแตกต่างของไทรอยด์ฮอร์โมน ทำให้ยากต่อการควบคุมมาตรฐานตัวยา
2. ยาไทรอยด์ฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์ จะมีสัดส่วนของที4 (T4):ที3 (T3) เป็น 11:1 ในขณะที่ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดจากสัตว์/ยานี้มีสัดส่วน ที4 (T4):ที3 (T3)เป็น 4:1 ยานี้จึงมีความแตกต่างจากฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจทำให้การบริหารขนาดรับประทานดูจะยุ่งยากกว่าการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์อย่าง Levothyroxine (T4) เพียงลำพัง
3. ความเชื่อถือและความเข้าใจของประชาชน ถึงแม้จะมีหลักฐานทางการแพทย์ มายืนยัน ยานี้ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับ กล่าวคือ ในความเห็นของผู้เขียนบทความนี้เข้าใจว่า “ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดจากสัตว์ อาจกระทบต่อความรู้สึกและการเป็นที่ยอมรับน้อยกว่ายาสังเคราะห์อย่าง Levothyroxine”
ถึงแม้จะมีข้อโต้แย้งการใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด แต่ถ้ามองในภาพรวมถึงประโยชน์ที่ได้รับจากยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด ก็มีหลายประการ ดังนี้ เช่น
- ใช้บำบัดหัวใจเต้นผิดปกติชนิดที่เรียกว่า Adams-stokes syndrome
- บำบัดภาวะต่อมไทรอยด์โต(Enlarged thyroid gland)
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
- บำบัดอาการป่วยด้วยโรคมิกซีดีมา(Myxedema)
- ใช้ช่วยบำบัดมะเร็งต่อมไทรอยด์ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีการอื่น เช่น การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
นักวิทยาศาสตร์พบว่า ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงด้านการทำงานของหัวใจ เช่น ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีสัดส่วนในตัวยาที่ไม่ค่อยสม่ำเสมอ การใช้กับผู้ป่วยอาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ของร่างกายสูงเกินไปจนกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ดังนั้นจึงถือเป็นข้อพึงระวังที่สำคัญหากจะใช้ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดกับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ อย่าง เช่น หัวใจล้มเหลว รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงด้านการทำงานของหัวใจ
ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดจัดว่ามีความปลอดภัยต่อการใช้กับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยมีข้อสรุปทางคลินิกว่า ไม่พบความเสี่ยงต่อทารกในเรื่องการพัฒนาการหรือเกิดวิกลรูป(ความพิการ)แต่อย่างใด
ในบ้านเรายังมีการใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดอยู่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ระบุให้อยู่ในหมวดของยาอันตราย โดยต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ประชาชนทั่วไปและผู้ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการซื้อหายาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมารับประทานด้วยตนเอง
ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน(Hypothyroidism)
ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธ์ของยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดคือ ตัวยาจะประกอบด้วยไทรอยด์ฮอร์โมน 2 ชนิด คือ T3 และ T4 ปกติร่างกายจะทำการเมตาโบไลท์(Metabolite/สันดาป)ฮอร์โมน T4 ไปเป็น T3 ซึ่งเป็นรูปไทรอยด์ฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ได้แรง (Active) กว่า T4 การกระตุ้นจากไทรอยด์ฮอร์โมนทั้ง2ชนิดดังกล่าว จะทำให้เซลล์และกระบวนการเมตาโบลิซึม(Metabolism)ต่างๆในร่างกายดำเนินไปอย่างเป็นปกติ ช่วยรักษาสมดุลการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น การเผาผลาญอาหาร การทำงานของหัวใจ การทำงานของสมอง เป็นต้น
ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 15, 30, 60, 90, 120, และ 180 มิลลิกรัม/เม็ด
ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานขนาด 30 มิลลิกรัม วันละครั้ง1 แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทาน 15 มิลลิกรัม ทุกๆ 2 – 3 สัปดาห์ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 60 – 130 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กแรกเกิด–6 เดือน: รับประทานยา 4.8 – 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- เด็กอายุ 7เดือน–11เดือน: รับประทานยา 3.6 – 4.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- เด็กอายุ 1 – 5 ปี: รับประทานยา 3 – 3.6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- เด็กอายุ 6 – 12 ปี: รับประทานยา 2.4 – 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 1.2 – 1.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหารประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
- ขนาดรับประทานที่เหมาะสม ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจเลือดจากแพทย์เพื่อดูระดับไทรอยด์ฮอร์โมนว่า สูง-ต่ำเพียงใด แล้วจึงนำมาด้วยขั้นตอนการบริหารขนาดยารับประทาน
- แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ถึงโรคประจำตัวต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
- สามารถใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดร่วมกับยารักษาต่อมไทรอยด์ชนิดอื่นได้ ตามที่แพทย์เห็นเหมาะสม
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ดี การใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด ต้องอาศัยความต่อเนื่อง และตรงตามคำสั่งแพทย์เพื่อประสิทธิผลของการรักษา จึงควรรับประทานยานี้ตรงเวลา
ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ท้องเสีย กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ มือสั่น อาเจียน และน้ำหนักตัวลด
มีข้อควรระวังการใช้ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด
- ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นยาลดน้ำหนัก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
- ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพผิดปกติเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก หรือสียาเปลี่ยนไป
- หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นตามตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพื่อได้รับการรักษาทันท่วงที
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาประเภทใดอยู่บ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยารักษาโรคเบาหวาน ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการตรวจเลือด การตรวจร่างกาย ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาให้สอดคล้องกับอาการปัจจุบันของผู้ป่วย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดอย่างเช่น ยาอินซูลิน อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสม และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- การใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดประเภท Estrogen อาจทำให้ระดับไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดในร่างกายลดต่ำลง จนส่งผลต่อการรักษา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจส่งผล ให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์ปรับขนาดของยาต้านการแข็งตัวของเลือดให้ลดลงอย่างเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม
ควรเก็บรักษาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดอย่างไร?
ควรเก็บยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดที่อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสกัดที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Thyroid-s (ไทรอยด์-เอส) | Sriprasit Pharma |
Westhroid (เวสทรอยด์) | RLC Labs, Inc |
Nature-throid (เนเชอ-ทรอยด์) | RLC Labs, Inc |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Armour thyroid
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/thyroid-s/?type=brief [2016,Dec3]
- http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-1517-thyroid%20extract.aspx?activeingredientid=1517&activeingredientname=thyroid%20extract [2016,Dec3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Desiccated_thyroid_extract [2016,Dec3]
- http://www.rxlist.com/westhroid-drug/side-effects-interactions.htm [2016,Dec3]
- https://www.drugs.com/thyroid.html [2016,Dec3]
- https://www.drugs.com/imprints/n-050-21076.html [2016,Dec3]