ไตรโพรลิดีน (Triprolidine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 สิงหาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ไตรโพรลิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไตรโพรลิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไตรโพรลิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไตรโพรลิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไตรโพรลิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไตรโพรลิดีนอย่างไร?
- ไตรโพรลิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ไตรโพรลิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ไตรโพรลิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- โรคหวัด (Common cold)
- ลมพิษ (Urticaria)
- ไข้ละอองฟาง (Hay fever)
บทนำ
ยาไตรโพรลิดีน (Triprolidine) เป็นสารที่มีคุณสมบัติต่อต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาแก้แพ้ และมักพบเห็นยานี้ในสูตรตำรับที่ผสมร่วมกับตัวยาชนิดอื่นเช่น Guaifenesin, Phenylpropanolamine, Paracetamol, Pseudoephedrine และ Dextromethor phan เป็นต้น สูตรตำรับดังกล่าวจะใช้บำบัดอาการป่วยจากโรคหวัด ลดอาการไอจามได้เป็นอย่างดี
ยาไตรโพรลิดีนมีผลข้างเคียงคล้ายกับยาต้านฮีสตามีนทั่วไปคือ ทำให้รู้สึกง่วงนอน ยานี้ออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างเร็ว โดยสามารถยับยั้งอาการแพ้ อาการคันจมูกภายในเวลาประมาณ 15 - 30 นาทีหลังรับประทานยา รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นยาชนิดรับประทานแต่ยานี้มีการดูดซึมเพียงประมาณ 4% จากระบบทางเดินอาหาร เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 90% ก่อนที่จะถูกส่งไปเผาผลาญหรือเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่อวัยวะตับ ยาไตรโพรลิดีนสามารถผ่านเข้าน้ำนมมารดาได้ และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4 - 6 ชั่วโมงในการกำจัดยาครึ่งหนึ่งจากที่ได้รับออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ก่อนที่จะมีการสั่งจ่ายยาชนิดนี้แพทย์อาจสอบถามประวัติทางการแพทย์ผู้ป่วยว่า มีโรคประจำ ตัวอะไรบ้าง ปัจจุบันรับประทานยาอะไรอยู่ เคยมีการแพ้ยาหรือไม่ ถ้าเป็นสตรีวัยเจริญพันธุ์จะถามว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่ หากพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมที่จะได้รับยา นี้แพทย์จะกำกับข้อมูลด้านความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเพิ่มเติมเช่น ยาไตรโพรลิดีนมักทำให้ง่วงนอน วิงเวียน จึงห้ามรับประทานพร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ทำงานกับเครื่องจักร ไม่ควรเพิ่มหรือปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง หลังใช้ยานี้ไปแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 วันรวมถึงพบอาการไข้ ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
ผู้ป่วยควรปฏิบัติและใช้ยาไตรโพรลิดีนตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา และหาข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากเอกสารกำกับยาที่แนบมากับภาชนะบรรจุของผลิตภัณฑ์หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเภสัชกรใกล้บ้าน
ไตรโพรลิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไตรโพรลิดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บรรเทาอาการแพ้คัดจมูกจากโรคหวัด ผื่นคัน ลมพิษ ไอ จาม
- บรรเทาอาการแพ้จากไข้ละอองฟาง
ไตรโพรลิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไตรโพรลิดีนคือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ในร่างกายที่มีชื่อเรียกว่า H1-receptor (Histamine receptor) ส่งผลให้สาร Histamine ในร่างกายที่คอยกระตุ้นอาการแพ้ต่างๆไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ด้วยฤทธิ์ของยาไตรโพรลิดีนเพียงระยะชั่วคราวนี้จึงสามารถบรรเทาอาการแพ้ต่างๆได้ตามสรรพคุณ
ไตรโพรลิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไตรโพรลิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
ก. ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น
- Triprolidine HCl 2.5 มิลลิกรัม + Pseudoephedrine HCl 60 มิลลิกรัม/เม็ด
- Triprolidine HCl 2.5 มิลลิกรัม + Pseudoephedrine HCl 60 มิลลิกรัม + Guaifenesin 100 มิลลิกรัม/เม็ด
ข.ยาน้ำชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น
- Triprolidine HCl 1.25 มิลลิกรัม + Pseudoephedrine HCl 30 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- Triprolidine HCl 1.25 มิลลิกรัม + Pseudoephedrine HCl 30 มิลลิกรัม + Guaifenesin 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ไตรโพรลิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไตรโพรลิดีนมีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมทุก 4 - 6 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี - อายุต่ำกว่า 12 ปี: รับประทานครั้งละ 1.25 มิลลิกรัมทุก 4 - 6 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี - 4 เดือน: การใช้ยานี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- เด็กอายุต่ำกว่า 4 เดือน: ไม่ควรใช้ยานี้จากยังไม่มีข้อมูลถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น แต่อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่ง:
สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไตรโพรลิดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไตรโพรลิดีนอาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไตรโพรลิดีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไตรโพรลิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไตรโพรลิดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น เกิดภาวะง่วงนอน ปากแห้ง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ตาพร่า ปัสสาวะมาก ปัสสาวะขัด แสบร้อนกลางอก
สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: อาจเกิดภาวะประสาทหลอน ชัก โคม่า จนถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย)ได้ ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวควรต้องรีบนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ไตรโพรลิดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไตรโพรลิดีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้มีประวัติโรคหืด ผู้ป่วยด้วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีต่อมลูกหมากโต ผู้ที่เป็นต้อหิน ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ (แผลเปบติค)
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้ในเด็กและผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไตรโพรลิดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไตรโพรลิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไตรโพรลิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ห้ามรับประทานยาไตรโพรลิดีนร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมด้วยจะก่อให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน การครองสติจะทำได้ยากจนเป็นผลเสียต่อผู้ป่วยเอง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไตรโพรลิดีนร่วมกับยากลุ่ม Sodium oxybate (ยาต้านการง่วงนอนกลาง วัน) ด้วยจะส่งผลของอาการข้างเคียงต่างๆจากยาไตรโพรลิดีนให้เพิ่มมากขึ้นเช่น วิงเวียนและง่วงนอนอย่างมาก ซึมเศร้า รู้สึกสับสน อาจมีความดันโลหิตต่ำในผู้ป่วยบางราย และอาจพบอาการขั้นโคม่าและเสียชีวิต (ตาย) ได้ในที่สุด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไตรโพรลิดีนร่วมกับยาโพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) ชนิดรับประทานด้วยจะกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารจนถึงขั้นมีแผลเกิดขึ้นได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไตรโพรลิดีนร่วมกับยา Propoxyphene (ยาแก้ปวดที่เป็นยาเสพติด) ด้วยจะทำให้อาการข้างเคียงของยาไตรโพรลิดีนเพิ่มขึ้นติดตามมาเช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน สับสน และอาจส่งผลกระทบต่อจิตประสาท
ควรเก็บรักษาไตรโพรลิดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไตรโพรลิดีนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในห้อง น้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไตรโพรลิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไตรโพรลิดีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Actifed (แอคติเฟด) | Glaxo Smithkline |
Actimin (แอคทิมิน) | Gracure Pharmaceuticals Ltd. |
Ascoril-D (แอสโคริล-ดี) | Glenmark Pharmaceuticals Ltd. |
Nasolin (นาโซลิน) | Thai Nakorn Patana |
Milafed (มิราเฟด) | Milano |
Nostrilet (นอสไตรเลท) | Osoth Interlab |
Pacifed (พาซิเฟด) | Inpac Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Triprolidine [2015,Aug8]
- https://www.mims.com/India/drug/info/triprolidine%20%2B%20pseudoephedrine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,Aug8]
- http://www.medindia.net/drug-price/triprolidine-combination.html [2015,Aug8]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=triprolidine [2015,Aug8]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/triprolidine.html [2015,Aug8]
- http://www.drugs.com/monograph/triprolidine-hydrochloride.html [2015,Aug8]