ไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl) เป็นยาในกลุ่มแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs) ทางคลินิกได้นำมารักษาอาการโรคพาร์กินสัน สามารถใช้เป็นลักษณะของยาเดี่ยวๆหรือจะ ใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาก็ได้ โดยปกติยานี้จะช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อให้กลับมาเหมือนปกติ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยารับประทานทั้งชนิดเม็ด แคปซูล และยาน้ำ

ก่อนการเลือกใช้ยานี้แพทย์จะประเมินผลโดยอาศัยข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยมาประกอบดังนี้ เช่น

  • มีประวัติแพ้ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลหรือไม่
  • หากอายุต่ำกว่า 18 ปีแพทย์จะไม่เลือกใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยอาจเกิดความเสี่ยงของการได้รับพิษจากตัวยา
  • มีโรคประจำตัวอะไรบ้างที่เป็นข้อห้ามใช้ยานี้เช่น โรคต้อหิน ลำไส้อักเสบ ลำไส้อุดตัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด โรคหัวใจบางประเภท ด้วยการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวสามารถทำให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงมากยิ่งขึ้น
  • หากเป็นสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษด้วยข้อมูลทางคลินิกที่จะมาสนับสนุนความปลอดภัยของการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมีน้อย
  • มีการรับประทานยาใดๆอยู่ก่อนด้วยยาบางกลุ่มสามารถทำปฏิกิริยาระหว่างยากับตัวยาไตรเฮกซีเฟนิดิลจนผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่รุนแรงติดตามมา

ทั้งนี้การรักษาอาการโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยจะต้องได้รับยานี้อย่างต่อเนื่อง แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ดูแลและปรับขนาดการใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด ระหว่างใช้ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลผู้ป่วยจะได้รับคำชี้แจงเรื่องความก้าวหน้าของการรักษาและอาการข้างเคียงต่างๆที่สามารถเกิดขึ้นได้เช่น

  • อาจมีอาการวิงเวียน ง่วงนอน ตาพร่า ระหว่างที่มีการใช้ยานี้และอาการดังกล่าวจะรุนแรงขึ้น หากผู้ป่วยดื่มสุราร่วมกับยาที่รับประทาน และควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆรวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร หากมีอาการข้างเคียงดังกล่าวด้วยอาจเกิดอันตรายได้
  • ขณะที่รักษาด้วยยานี้ไม่ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด ด้วยภาวะร่างกายที่ได้รับยาไตรเฮกซีเฟนิดิลจะสามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงๆได้น้อยลง

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้ไตรเฮกซีเฟนิดิลเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุให้อยู่ในหมวดยาอันตราย

ข้อสำคัญการใช้ยานี้ที่เหมาะสมจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศเช่น Apo-Trihex, Parkin, Pacitane, Trihex

ไตรเฮกซีเฟนิดิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไตรเฮกซีเฟนิดิล

ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาอาการโรคพาร์กินสัน

ไตรเฮกซีเฟนิดิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไตรเฮกซีเฟนิดิลคือ ตัวยาจะแสดงฤทธิ์ของ Antimuscarinic drug และแสดงฤทธิ์ในการยับยั้งระบบประสาทอัตโนมัติชนิดพาราซิมพาเทติก (Parasympathetics) ของร่างกายส่งผลในการปรับสมดุลใหม่ของสารสื่อประสาทที่เหมาะสม จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไตรเฮกซีเฟนิดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2 และ 5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 5 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 0.4 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ไตรเฮกซีเฟนิดิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลมีขนาดรับประทานสำหรับรักษาอาการโรคพาร์กินสันเช่น

  • ผู้ใหญ่: วันแรกรับประทาน 1 มิลลิกรัมวันละครั้ง วันที่สองรับประทาน 2 มิลลิกรัมวันละครั้ง จากนั้นแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานทุก 2 มิลลิกรัมต่อวัน ขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษาอยู่ที่ 6 - 10 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีแพทย์จะปรับขนาดรับประทานลดลง
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไตรเฮกซีเฟนิดิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไตรเฮกซีเฟนิดิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไตรเฮกซีเฟนิดิลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไตรเฮกซีเฟนิดิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น

ก. อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น วิงเวียน คลื่นไส้เล็กน้อย กระสับกระส่าย

ข: อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อย: เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ปากแห้ง เบื่ออาหาร และมีผื่นคัน

ค. อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบอาการหัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ ขาดสติ หายใจลำบาก มีภาวะชัก มีไข้ ตัวร้อน ผิวแห้ง รูม่านตาขยาย ตาพร่า มีอาการสับสน หรือเกิดประสาทหลอน หากพบอาการดังกล่าวควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ไตรเฮกซีเฟนิดิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน โรคลำไส้ไม่ทำงานหรือลำไส้เคลื่อนตัวน้อย โรคต่อมลูกหมากโต
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้ที่สภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไตรเฮกซีเฟนิดิลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไตรเฮกซีเฟนิดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลร่วมกับยา Potassium citrate, Potassium chloride ชนิดรับประทานด้วยจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆเช่น ระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้ อาจเกิดแผลในระบบทางเดินอาหารหรือมีภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลร่วมกับยา Topiramate ด้วยจะทำให้เกิดการหลั่งเหงื่อออกน้อยเป็นผลให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเกิดอาการคล้ายเป็น ลมแดด (Heat stroke)
  • การใช้ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลร่วมกับยา Brompheniramine, Chlorpheniramine, Diphenylhy dramine จะทำให้เกิดอาการง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง เหงื่อออกน้อย ปัสสาวะขัด เป็นตะคริวที่ท้อง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลร่วมกับยา Hydrocodone สามารถเพิ่มอาการข้างเคียงทางระบบประสาทเช่น วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสติหรือขาดความสามารถในการตัดสินใจ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไตรเฮกซีเฟนิดิลอย่างไร?

ควรเก็บยาไตรเฮกซีเฟนิดิลในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง แดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไตรเฮกซีเฟนิดิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไตรเฮกซีเฟนิดิลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aca (เอกา) Atlantic Lab
Acamed (อะคาเมด) Medifive
Artane (อาร์เทน) Wyeth
Benzhexol GPO (เบนซ์เฮกซอล จีพีโอ) GPO
Pozhexol (พอซเฮกซอล) Central Poly Trading
Tridyl (ไตรดิล) Condrugs

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Muscarinic_antagonist [2015,Oct17]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Trihexyphenidyl#Synthesis [2015,Oct17]
  3. http://www.drugs.com/cdi/trihexyphenidyl.html [2015,Oct17]
  4. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/trihexyphenidyl-oral-route/before-using/drg-20072660 [2015,Oct17]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Aca/?type=brief [2015,Oct17]
  6. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/81#item-8562 [2015,Oct17]
  7. https://healthy.kaiserpermanente.org/health/care/consumer/health-wellness/drugs-and-natural-medicines/drug-encyclopedia/medicine-information/!ut/p/a1/fc5BT4MwFMDxz7IDR-ljZdB561jEgrAtI4q9GDa7QoKUdN3Ivr2AeDHqu_Xl138e4ihHvCmulSxMpZqiHt7ce8uAbVYrhwI4bAFsG5F0TcgcAoxeUIS4rNVhxK-lMe29BRa864sUzfF21yptamEsQHzYsTXKHR8wdgdOmwMmEnEtTkILbV90Xxka5zHSdZ0tlZK1sI_KNmUf-eVTqc4G5T9tfxn__3iYwEO0_wIbd0mAJcFjwNIYIPQnsKXASAILByj2gHkZjv0kdSB0JwCY7cZCuPWgt3EWPy9jDDD_Bn8MBdR-kBuur0-nPasYnc0-AX8hv2I!/dl5/d5/L2dBISEvZ0FBIS9nQSEh/ [2015,Oct17]
  8. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Acamed/?type=brief [2015,Oct17]
  9. http://www.drugs.com/drug-interactions/trihexyphenidyl-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Oct17]