ไตรเอโซล (Triazole antifungals)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยากลุ่มไตรเอโซล (Triazole antifungals) คือ หมวดหนึ่งของยาต้านเชื้อราประเภท Azole Antifungals ซึ่งตัวยาในกลุ่มยาไตรเอโซลนี้ เช่นยา Albaconazole, Fluconazole, Isavuconazole, Itraconazole, Posaconazole, Ravuconazole, Terconazole และ Voriconazole

ยาไตรเอโซลจัดเป็นยาที่มีฤทธิ์กว้างคือ รักษาครอบคลุมเชื้อราได้หลายชนิดโดยอาศัยการทำลายที่ผนังของเซลล์ในตัวเชื้อรา วงการแพทย์ได้นำยากลุ่มนี้มารักษากับผู้ป่วยโรคเชื้อราทั้งกับระบบต่างๆของร่างกาย รวมถึงโรคเชื้อราเฉพาะที่ตามอวัยวะ เช่น มือ เท้า เล็บ หรือ ผิวหนัง เป็นต้น

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุบางรายการของยากลุ่มนี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติอาทิ เช่นยา Fluconazole, Itraconazole และ Voriconazole โดยจัดเป็นหมวด ยาอันตราย และบางตัวยาเป็นยาควบคุมพิเศษ

กลุ่มยาต้านเชื้อราไตรเอโซลมีผลข้างเคียงที่อันตรายมากมาย เช่น ผลต่อ ตับ หัวใจ ซึ่งล้วนแต่เป็นอวัยวะที่สำคัญทั้งสิ้น การใช้ยากลุ่มนี้จึงควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปหาซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด

ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ไตรเอโซล

ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาการติดเชื้อราประเภทต่างๆ เช่น Aspergillosis, Blastomycosis, Candidemia, Cryptococcal meningitis, Chromomycosis, Dermatomycosis, Esophageal candidiasis, Fungal keratitis, Fungal infection prophylaxis, Histoplasmosis, Non-meningeal cryptococcosis, Onychomycosis (fingernail and toenail), Oropharyngeal candidiasis, Oral candidosis/Oral Thrush, Tinea pedis, Tinea manus, Tinea cruris, Tinea corporis, Vaginal candidiasis

ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มไตรเอโซลคือ ตัวยาจะเข้าไปลดการสังเคราะห์สาร Ergosterol ซึ่งการขาดสาร Ergosterol ที่เป็นสารสำคัญของผนังเซลล์ของเชื้อรา จะทำให้เกิดการซึมผ่านหรือการรั่วไหลของสารน้ำจากภายในตัวเชื้อรา จนทำให้เชื้อราหยุดการเจริญ เติบโตและตายลงในที่สุด

ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาด 50 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูล ขนาด 50, 100, 150 และ 200 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน ขนาด 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 200 มิลลิกรัม/ขวด
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 200 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 400 มิลลิกรัม/200 มิลลิลิตร

ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลมีหลายรายการ ขนาดรับประทานจึงแตกต่างกันในแต่ละรายการ ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย รวมกับการเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและที่มีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทานหรือการใช้ยาเหล่านี้ในลักษณะใดก็ตาม จึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มไตรเอโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด /หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มไตรเอโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยากลุ่มไตรเอโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยานี้บ่อยๆหลายๆครั้ง นอกจากจะทำให้อาการโรคไม่ดีขึ้นแล้ว ในบางกรณียังอาจส่งผลให้เกิดการลุกลามของโรคมากยิ่งขึ้น

ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ตาพร่า
  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • ปวดหัว
  • ปวดท้อง
  • ตับอักเสบ
  • ปวดหลัง
  • เจ็บหน้า อก
  • ใบหน้าบวม มือ - เท้าบวม
  • กลุ่มอาการอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ดีซ่าน
  • กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ลำไส้อักเสบ
  • เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ
  • วิงเวียน
  • ประสาทหลอน
  • สับสน
  • ซึมเศร้า
  • วิตกกังวล
  • ภาวะสั่น
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ไซนัสอักเสบ
  • ผื่นคัน
  • ผื่นแพ้แสง
  • ผิวหนังอักเสบ
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ค่าครีอะตินีน (Creatinine, ค่าการทำงานของไต)ในเลือดเพิ่มสูง
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการ Stevens-Johnson syndrome

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มไตรเอโซล
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ป่วยโรคตับ
  • ห้ามผู้ป่วยปรับ เพิ่ม-ลดขนาดรับประทานยากลุ่มนี้เอง
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
  • การใช้ยากลุ่มนี้แพทย์จะมีการตรวจเลือดติดตามการทำงานของตับควบคู่กันไป
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในเด็กและผู้สูงอายุ และต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่า นั้น
  • ควบคุมและเฝ้าระวังการทำงานของตับอ่อน เมื่อใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคตับอ่อนอักเสบชนิดเฉียบพลัน
  • ระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดหรือตากแดดโดยตรง ด้วยอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้แสงของผิวหนังได้
  • แพทย์จะควบคุมระดับสารเกลือแร่ต่างๆในเลือดให้เป็นปกติก่อนการใช้ยากลุ่มนี้
  • ระวังเรื่องการขับรถหรือการควบคุมเครื่องจักร ด้วยยากลุ่มนี้สามารถส่งผลรบกวนการมองเห็นภาพ/ตาพร่าได้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Fluconazole ร่วมกับยาบางกลุ่ม เช่นยา Cyclosporine, Digoxin, Warfarin, Phenytoin และยาเบาหวาน อาจทำให้ยากลุ่มดังกล่าว (กลุ่มที่ไม่ใช่ไตรเอโซล) มีระดับในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจได้รับผลข้างเคียงติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยา Itraconazole ร่วมกับยาบางกลุ่ม เช่นยา Lovastatin, Simvastatin, Triazolam, Midazolam, Pimozide (ยาจิตเวช) สามารถเกิดผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดหัวใจจนถึงขั้นอันตรายได้ จึงห้ามการใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกันโดยเด็ดขาด
  • การใช้ยา Voriconazole ร่วมกับยากลุ่มสแตติน (Statin) สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย(Rhabdomyolysis) จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลอย่างไร?

สำหรับการเก็บยากลุ่มไตรเอโซล:

  • ยาชนิดรับประทาน: ให้เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • สำหรับยาฉีด: ให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
  • ยาทุกรูปแบบ/ชนิด:
    • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
    • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาต้านเชื้อรากลุ่มไตรเอโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากลุ่มไตรเอโซล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
VFEND (วีเอฟอีเอนดี) Pfizer
Hofnazole (ฮอฟนาโซล) Pharmahof
Itra (ไอทรา) MacroPhar
Itracon (ไอทราคอน) Unison
Itrasix (ไอทราซิกซ์) Sinensix Pharma
Itrazole (ไอทราโซล) Millimed
Norspor (นอร์สปอร์) Pond’s Chemical
Spazol (สปาซอล) Siam Bheasach
Sporal/Sporal OS (สปอรอล/สปอรอล โอเอส) Janssen-Cilag
Sporlab (สปอร์แลบ) Biolab
Spornar (สปอร์นาร์) Charoen Bhaesaj Lab
Sporzol (สปอร์ซอล) SR Pharma
Biozole (ไบโอโซล) Biolab
Diflucan (ไดฟลูแคน) Pfizer
Flucozole (ฟลูโคโซล) Siam Bheasach
Fluconazole Mayne Pharma (ฟลูโคนาโซล เมน์ ฟาร์มา) Mayne Pharma
Fluzoral (ฟลูโซรัล) GPO
Fludizol (ฟลูไดซอล) M & H Manufacturing
Flunco (ฟลันโค) T. O. Chemicals
Funa (ฟูนา) L. B. S.
Kyrin (ไคริน) Silom Medical

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Triazole [2021,April3]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Antifungal#Adverse_effects [2021,April3]
  3. https://www.drugs.com/drug-class/azole-antifungals.html [2021,April3]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=FLUCONAZOLE [2021,April3]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=voriconazole [2021,April3]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/VFEND/?type=brief [2021,April3]