ไตรอาโซแลม (Triazolam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาไตรอาโซแลม (Triazolam) คือ ยานอนหลับ , ยาคลายเครียด ในกลุ่ม Benzodiazepine ที่ออกฤทธิ์ระยะสั้น ชื่อการค้าที่รู้จักกันดีในต่างประเทศคือ “Halcion” ทางการ แพทย์ได้นำมาใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด, ยาคลายความวิตกกังวล, รักษาอาการนอนไม่หลับ, ใช้เป็นยาต้านชัก, และช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ,

อาการข้างเคียงหลังได้รับ ยาไตรอาโซแลม ที่พบบ่อยจะเป็นเรื่องวิงเวียนศีรษะ และง่วงนอน รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่พบได้บ่อยจะเป็นยาชนิดรับประทาน

ยาไตรอาโซแลม จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 44% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 89% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ย 1.5 - 5.5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ประมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ รวมระยะเวลาของการออกฤทธิ์ของยานี้ประมาณ 6 - 7 ชั่วโมง

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้จัดให้ ยาไตรอาโซแลม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 สามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้เมื่อมีใบสั่งแพทย์ และมีใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป

ไตรอาโซแลมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ไตรอาโซแลม

ยาไตรอาโซแลมมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้เป็นยานอนหลับ
  • ช่วยสงบประสาท/ยาคลายเครียด/ยาระงับประสาท
  • บรรเทาอาการวิตกกังวล

ไตรอาโซแลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไตรอาโซแลมคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมองทำให้มีความรู้สึกผ่อนคลายความกังวล ช่วยสงบประสาท และช่วยทำให้นอนหลับ

ไตรอาโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไตรอาโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 ไมโครกรัม/เม็ด

ไตรอาโซแลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไตรอาโซแลมมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 125 - 250 ไมโครกรัมก่อนนอน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 500 ไมโครกรัม/วัน ห้ามใช้ยาต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์
  • ผู้สูงอายุ: รับประทาน 125 ไมโครกรัม/วันก่อนนอน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 250 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงประสิทธิผลและผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:

  • สามารถรับประทานยานี้ช่วงท้องว่างหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไตรอาโซแลม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มา ก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไตรอาโซแลมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไตรอาโซแลม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไตรอาโซแลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไตรอาโซแลมสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ง่วงนอน
  • วิงเวียนศีรษะ
  • กระสับกระส่าย
  • ประสาทหลอน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • สับสน
  • พูดไม่ชัด
  • ปัสสาวะขัด

******อนึ่ง: ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด สามารถพบอาการ เช่น

  • หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • เกิดอาการชัก
  • มีภาวะโคม่า, และ
  • ถึงขั้นตายได้

ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ ฉุกเฉิน การช่วยเหลือผู้ป่วย แพทย์จะใช้วิธีการล้างท้อง, ใช้เครื่องช่วยหายใจ, และควบคุมสัญญาณชีพต่างๆให้กลับสู่ปกติ, และอาจใช้ยา Flumazenil (ยาที่ใช้ต้านฤทธิ์ของยาในกลุ่ม Benzodiazepine) ช่วยแก้อาการพิษจากยาไตรอาโซแลม

มีข้อควรระวังการใช้ไตรอาโซแลมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไตรอาโซแลม เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะโคม่าอยู่แล้ว, ผู้ที่มีอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ,ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ,และ/หรือ ผู้ป่วยโรคจิตประเภทเรื้อรัง
  • ห้ามใช้ยานี้เป็นยาเดี่ยว/ใช้ยาเพียงตัวยาเดียวเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ( โรคซีโอพีดี), ผู้ป่วย โรคตับ, โรคไต , ผู้ที่มีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ (ภาวะนอนหลับแล้วหยุดหายใจ)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติติดสุราและติดยาเสพติด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไตรอาโซแลมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไตรอาโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไตรอาโซแลม มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไตรอาโซแลม ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะเกิดอาการ วิงเวียน, ง่วงนอน, สูญเสียการควบคุมสติและการตัดสินใจ, จึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นอันขาด
  • การใช้ยาไตรอาโซแลม ร่วมกับ ยาแก้แพ้ เช่นยา Cetirizine สามารถก่อให้เกิดอาการวิงเวียน, ง่วงนอน, การควบคุมสติของร่างกายทำได้ยากขึ้น, หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • การใช้ยาไตรอาโซแลม ร่วมกับ ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง เช่นยา Acebutolol อาจเกิดการเสริมฤทธิ์ทำให้ความดันโลหิตต่ำ และมีอาการ ปวดหัว, วิงเวียน และเป็นลมตามมา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไตรอาโซแลม ร่วมกับ ยารักษาโรคลมชักบางตัว เช่นยา Phenobarbital สามารถเกิดอาการ วิงเวียน, ง่วงนอน, ขาดการครองสติและการควบคุมตนเอง, หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ควรเก็บรักษาไตรอาโซแลมอย่างไร?

สามารถเก็บยาไตรอาโซแลม:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไตรอาโซแลมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไตรอาโซแลม มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Halcion (ฮัลซีออน) Pfizer
Trialam (ไตรอาแลม) Alphapharm
Trycam (ไตรแคม) Douglas

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Triazolam [2021,Feb27]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=triazolam [2021,Feb27]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Halcion/?type=brief [2021,Feb27]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/triazolam?mtype=generic [2021,Feb27]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/triazolam-index.html?filter=3&generic_only= [2021,Feb27]