ไตรคลาเบนดาโซล (Triclabendazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไตรคลาเบนดาโซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไตรคลาเบนดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไตรคลาเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไตรคลาเบนดาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไตรคลาเบนดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไตรคลาเบนดาโซลอย่างไร?
- ไตรคลาเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไตรคลาเบนดาโซลอย่างไร?
- ไตรคลาเบนดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- พยาธิตัวตืด
- ท้องเสียในเด็ก (Acute diarrhea in children)
บทนำ
ยาไตรคลาเบนดาโซล(Triclabendazole) เป็นยาใช้รักษาโรคพยาธิใบไม้ชนิดโรคพยาธิใบไม้ตับ (Liver fluke) และโรคพยาธิใบไม้ปอด (Paragonimiasis) ไม่สามารถนำมาใช้รักษาการติดเชื้อพยาธิตัวกลม เช่น พยาธิตัวตืดได้ ผู้ที่สามารถใช้ยานี้จะต้องได้รับการตรวจจากแพทย์เสียก่อนว่า มีการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับหรือปอด การใช้ยาไตรคลาเบนดาโซลเพียง 1 หรือ 2 ครั้ง ก็จะเห็นประสิทธิผลต่อการรักษาแล้ว
ยาไตรคลาเบนดาโซลมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยามี การดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานยาไตรคลาเบนดาโซลพร้อมกับอาหาร จะทำให้มีการดูดซึมยานี้เพิ่มขึ้น 2–3 เท่า เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด ยาไตรคลาเบนดาโซลจะเข้าไปสะสมที่ท่อน้ำดี และพร้อมที่จะถูกขับออกมาในลำไส้ โดยต้องใช้เวลาอยู่หลายวันก่อนจะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ ยานี้บางส่วนยังสามารถซึมผ่านเข้าน้ำนมของมารดาได้ ยานี้ไม่เพียงแต่ฆ่าตัวพยาธิใบไม้ในตับที่โตเต็มวัย/พยาธิตัวแก่เท่านั้น แต่ยังฆ่าตัวอ่อนของพยาธิด้วย มีข้อสันนิษฐานว่ายานี้เข้าไปทำลายส่วนโครงสร้างของพยาธิที่มีชื่อว่า Microtubular structure เป็นผลให้พยาธิไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
หลังการใช้ยาไตรคลาเบนดาโซล แพทย์อาจต้องตรวจผู้ป่วยซ้ำเพื่อทดสอบว่ายังมีเชื้อพยาธิใบไม้ในตับหลงเหลืออยู่หรือไม่
ผู้ที่ได้รับยาไตรคลาเบนดาโซลอาจมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) เช่น เป็นตะคริวที่ท้อง หรือมีอาการท้องเสีย โดยทั่วไป อาการเหล่านี้จะหายไปเองหลังจากหยุดรับประทานยานี้
ขนาดรับประทานของยาไตรคลาเบนดาโซล เพื่อรักษาอาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับระดับรุนแรงที่องค์การอนามัยโลกแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ คือ 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ขนาดรับประทานทั่วไปอยู่ที่ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยรับประทานเพียงครั้งเดียว แต่ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาซ้ำภายใน 2 สัปดาห์ หรือ 6 เดือนต่อมา ทั้งนี้ขึ้นกับว่ามีเชื้อพยาธิหลงเหลืออยู่หรือไม่
สำหรับการรักษาพยาธิใบไม้ในปอด แพทย์อาจจะใช้ไตรคลาเบนดาโซลเพียง 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน
ทางคลินิก ยังมิได้ระบุขนาดรับประทานยาไตรคลาเบนดาโซลกับผู้ป่วยเด็กอย่างชัดเจน แต่ก็มีสถานพยาบาลบางแห่งใช้ยานี้เพื่อรักษาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับและในปอดกับผู้ป่วยเด็ก โดยให้ขนาดรับประทานที่10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว
นอกจากนี้สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ก็สามารถใช้ยานี้ได้โดยไม่มีอันตรายต่อมารดาและต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด เพียงแต่การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตาม ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ในต่างประเทศจะพบเห็นการจัดจำหน่ายไตรคลาเบนดาโซลภายใต้ชื่อการค้าว่า “Egaten” และองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ระบุว่า ยานี้ความปลอดภัย ต่อการใช้รักษาโรคพยาธิใบไม้ในตับและในปอด และสมควรที่สถานพยาบาลต่างๆควรมีสำรองไว้เพื่อให้บริการกับประชาชน
ไตรคลาเบนดาโซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไตรคลาเบนดาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ (Fascioliasis)
- บำบัดรักษาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในปอด (Paragonimiasis)
อนึ่ง ยานี้สามารถฆ่าพยาธิใบไม้ได้ทั้ง พยาธิตัวเต็มวัย และพยาธิตัวอ่อน
ไตรคลาเบนดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไตรคลาเบนดาโซลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์เข้าทำลายโครงสร้างในตัวพยาธิใบไม้ที่มีชื่อเรียกว่า Microtubular structure ทำให้กลไกในการดำรงชีวิตของตัวพยาธิใบไม้หยุดชะงักลง จนเป็นเหตุให้พยาธิฯหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
ไตรคลาเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไตรคลาเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยยา Triclabendazole ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
ไตรคลาเบนดาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไตรคลาเบนดาโซลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ (Fascioliasis):
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว แต่อาจต้องรับประทานยาซ้ำ หากแพทย์ยังตรวจพบเชื้อพยาธิหลงเหลืออยู่
ข: สำหรับรักษาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในปอด (Paragonimiasis):
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ1ครั้ง เป็นเวลา 3วันติดต่อกัน หรือรับประทานยาขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว
อนึ่ง:
- เด็ก: การใช้ยากับเด็กและสตรีมีครรภ์ ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ขนาดรับประทานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ อาจจะมากกว่าขนาดรับประทานโดยทั่วไปถึง 2 เท่า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะขนาดหรือขอบเขตในระดับความปลอดภัยของการใช้ยานี้ เอื้ออำนวยและไม่ก่อให้เกิดอาการพิษอย่างมากมายแต่ประการใด ผู้ป่วยเพียงใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ก็พอแล้ว
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการดูดซึม และส่งผลต่อการรักษาทำได้ดีขึ้น
******หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไตรคลาเบนดาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคท่อน้ำดีอุดตัน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไตรคลาเบนดาโซล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีที่ลืมรับประทานยาไตรคลาเบนดาโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
การรับประทานยาไตรคลาเบนดาโซลให้ได้ประสิทธิผลของการรักษาเชื้อพยาธิ ต้องอาศัยความต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
ไตรคลาเบนดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากยาไตรคลาเบนดาโซลเท่าที่มีรายงาน จะมีต่อระบบทางเดินอาหารเมื่อใช้ยานี้ในขนาดสูง เช่น รับประทานยาขนาด 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทาน อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย หรือเป็นตะคริวที่ท้อง
มีข้อควรระวังการใช้ไตรคลาเบนดาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไตรคลาเบนดาโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาชื้น หรือ แตกหัก
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคท่อน้ำดีอุดตัน
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้อพยาธินี้ เช่น รับประทานอาหารที่สุก ล้างผักดิบให้สะอาดก่อนรับประทาน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนไข่พยาธิ และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไตรคลาเบนดาโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไตรคลาเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยการใช้ยาไตรคลาเบนดาโซลมีระยะเวลาสั้น การใช้ยาเพียง 1 – 2 ครั้ง ก็สามารถทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นแล้ว ทางคลินิกจึงยังไม่มีรายงานปฏิกิริยาระหว่างยาของยาไตรคลาเบนดาโซลกับยารับประทานชนิดใดๆ
แต่อย่างไรก็ตาม หากพบว่า การรับประทานยาไตรคลาเบนดาโซลร่วมกับยาอื่นๆ แล้วมีอาการข้างเคียงต่างๆตามมา เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
ควรเก็บรักษาไตรคลาเบนดาโซลอย่างไร?
ควรเก็บยาไตรคลาเบนดาโซลภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ไตรคลาเบนดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไตรคลาเบนดาโซล ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Egaten (อีเกเทน) | SwissCo Services AG |
อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Tricloben
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/mmx/triclabendazole.html[2017,March11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Triclabendazole[2017,March11]
- http://www.who.int/neglected_diseases/diseases/fasciolia_triclabendazole_form.pdf?ua=1[2017,March11]
- http://www.tabletwise.com/medicine/triclabendazole[2017,March11]
- https://books.google.co.th/books?id=2-nwinRKtBQC&pg=PA2251&lpg=PA2251&dq=triclabendazole+interaction&source=bl&ots=17ulEf6wK7&sig=2_V- 2yr0IMxbBms9cyzN0F5LZJc&hl=en&sa=X&ved=0ahUKEwjz_9zrwqHSAhXEP48KHTucCz84ChDoAQg8MAg#v=onepage&q=triclabendazole%20interaction&f=false [2017,March11]