ไดไฮโดรโคเดอีน (Dihydrocodeine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ตามกฎหมายไทย ยาไดไฮโดรโคเดอีน (Dihydrocodeine หรือ Dihydrocodeine tartrate หรือ Dihydrocodeine bitartrate ) จัดอยู่ในหมวดยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ตัวยาชนิดนี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นในปีค.ศ.1908 (พ.ศ.2451) ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาอาการปวดความรุนแรงตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงระดับรุนแรงมาก บางโอกาสก็ใช้บำบัดอาการหายใจติดขัด/หายใจลำบาก และยังใช้เป็นยาระงับไอ/ยาแก้ไอ

เภสัชตำรับของยาไดไฮโดรโคเดอีนในรูปแบบยาเดี่ยวมีทั้งประเภทยารับประทานแบบเม็ด แคปซูล และน้ำ ยาเหน็บทวาร ยาฉีด นอกจากนี้ยังมีสูตรตำรับผสมระหว่างยาไดไฮโดรโคเดอีนกับยาอื่นเช่น พาราเซตามอล หรือ แอสไพริน

ยาไดไฮโดรโคเดอีนมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับยาโคเดอีน (Codeine) แต่จะมีความแรงมากกว่าโคเดอีนถึง 2 เท่า ทางการแพทย์จึงใช้ยาไดไฮโดรโคเดอีนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อบำบัดอาการปวด

กรณีใช้ตัวยาไดไฮโดรโคเดอีนโดยการรับประทาน จะเกิดการดูดซึมตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 20% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายหรือเปลี่ยนโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง โดยยาไดไฮโดรโคเดอีนจะมีระยะเวลาอยู่ในร่างกายได้ประมาณ 3.5 – 4 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

ผู้ป่วยที่สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้จะต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อทำการสั่งจ่ายยาชนิดนี้ได้เหมาะสมกับอาการ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยให้น้อยที่สุด การใช้ยาไดไฮโดรโคเดอีนซ้ำๆบ่อยครั้งสามารถทำให้เกิดภาวะถอนยา หรือมีการเสพติดตามมาได้

สำหรับประเทศไทยเรา คงจะพบเห็นการใช้ตัวยาโคเดอีนเท่านั้น ส่วนยาไดไฮโดรโคเดอีนจะพบเห็นการใช้ในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย ฮ่องกง เวียดนาม เป็นต้น

ไดไฮโดรโคเดอีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไดไฮโดรโคเดอีน

ยาไดไฮโดรโคเดอีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • เป็นยาบำบัดอาการปวดเรื้อรัง และอาการปวดระดับกลางๆถึงระดับการปวดรุนแรง
  • ใช้เป็นยาบำบัดอาการไอ/ ยาแก้ไอ

ไดไฮโดรโคเดอีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไดไฮโดรโคเดอีน เป็นยาอนุพันธ์กลุ่มโอปิออยด์ (Opioid derivative) หลังการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยานี้จะออกฤทธิ์โดยตรงต่อสมองบริเวณตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ Opioid receptors ส่งผลยับยั้งกระแสประสาทที่กระตุ้นความเจ็บปวด นอกจากนี้ ยาไดไฮโดรโคเดอีนยังออกฤทธิ์กดศูนย์กระตุ้นการไอในสมองได้เช่นกัน ด้วยกลไกนี้เองจึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

ไดไฮโดรโคเดอีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไดไฮโดรโคเดอีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Dihydrocodeine Tartrate 30 , 40 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Dihydrocodeine 10 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย
    • Acetaminophen 320.5 มิลลิกรัม + Caffeine 30 มิลลิกรัม + Dihydrocodeine bitartrate 16 มิลลิกรัม/แคปซูล
    • หรือ Aspirin 356.4 มิลลิกรัม + Caffeine 30 มิลลิกรัม + Dihydrocodeine bitartrate 16 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วย Dihydrocodeine 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ไดไฮโดรโคเดอีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไดไฮโดรโคเดอีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับบำบัดอาการปวดเรื้อรัง อาการปวดอย่างรุนแรง:

  • กรณียารับประทาน:
    • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 40–80 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
    • เด็กอายุตั้งแต่ 12ปีลงมา: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่แน่ชัดของการใช้ยานี้
  • กรณียาฉีด:
    • ผู้ใหญ่ : ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง หรือ ฉีดเข้ากล้ามขนาด 50 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง
    • เด็กอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังหรือเข้ากล้ามฯขนาด 0.5–1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว1 กิโลกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง
    • เด็กอายุต่ำกว่า 4ปีลงมา: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่แน่ชัดของการใช้ยานี้

ข. สำหรับบำบัดอาการไอ:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 10 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 4–12 ปี: รับประทานยา 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4–6 ชั่ว โม
  • เด็กอายุต่ำกว่า4ปี: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่แน่ชัดของการใช้ยานี้

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้ พร้อม หรือ หลังอาหาร
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต แพทย์จะพิจารณาปรับลดขนาดการใช้ยานี้ลงมา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไดไฮโดรโคเดอีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดไฮโดรโคเดอีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาไดไฮโดรโคเดอีน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

ไดไฮโดรโคเดอีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไดไฮโดรโคเดอีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ปากแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน ปวดหัว วิงเวียน
  • ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ประสาทหลอน วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะลำบาก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการเหงื่อออกมาก ผื่นคัน

*อนึ่ง กรณีได้รับยาไดไฮโดรโคเดอีนเกินขนาด จะมีอาการ รูม่านตาแคบลง หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หรือเกิดภาวะโคม่า อุณหภูมิร่างกายต่ำลง มีอาการรู้สึกสับสน ชัก วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง ง่วงนอน ความดันโลหิตต่ำ กระสับกระส่าย ประสาทหลอน หัวใจเต้นช้า การไหลเวียนเลือดล้มเหลว หายใจช้าลง อ่อนแรงอย่างมาก กล้ามเนื้อลายสลาย การแก้ไขโดยแพทย์อาจให้ยา Naloxone ซึ่งจัดเป็นยาประเภท Opioid antagonist ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ กรณีรับประทานยาไดไฮโดรโคเดอีนไปแล้วไม่เกิน 1 ชั่วโมง แพทย์อาจให้รับประทานยาถ่านกัมมันต์เพื่อลดการดูดซึมของยาไดไฮโดรโคเดอีนเข้าสู่ร่างกาย

มีข้อควรระวังการใช้ไดไฮโดรโคเดอีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดไฮโดรโคเดอีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุรา ด้วยจะทำให้มีอาการง่วงนอนอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบากแบบเฉียบพลัน หรือ ผู้ป่วยด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ COPD หรือผู้ที่ตกอยู่ในอาการหอบหืดเฉียบพลัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ รวมถึงผู้ที่มีภาวะลำไส้ไม่ยอมทำงาน หรือผู้ที่มีภาวะท้องเสียแบบเฉียบพลัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตาม คำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว
  • การรับประทานยาไดไฮโดรโคเดอีนร่วมกับยาใดๆ ควรต้องปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
  • หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิด เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูก วิงเวียนศีรษะมาก ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไดไฮโดรโคเดอีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไดไฮโดรโคเดอีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไดไฮโดรโคเดอีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไดไฮโดรโคเดอีน ร่วมกับ ยาMexiletine ด้วยจะทำให้การดูดซึมยาMexiletine เข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง
  • การใช้ยาไดไฮโดรโคเดอีน ร่วมกับยาลดความกังวล/ยาคลายกังวล อย่างเช่นยา Diazepam หรือ Chlordiazepoxide จะเพิ่มผลกระทบกดการทำงานของสมองมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไดไฮโดรโคเดอีน ร่วมกับ ยาชา ยาสลบ หรือ ยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ ด้วยจะทำให้มีภาวะหายใจขัด/หายใจลำบาก และความดันโลหิตต่ำ ตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไดไฮโดรโคเดอีน ร่วมกับยากลุ่ม Loperamide และยา Kaolin ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะท้องผูกอย่างรุนแรง

ควรเก็บรักษาไดไฮโดรโคเดอีนอย่างไร?

การเก็บรักษายาไดไฮโดรโคเดอีน เช่น

  • สามารถเก็บยาไดไฮโดรโคเดอีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

ไดไฮโดรโคเดอีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไดไฮโดรโคเดอีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
TREZIX (เทรซิกซ์)Bryant Ranch Prepack
SYNALGOS®-DC. (ซินากัส-ดีซี)Mikart, Inc.
DF 118 FORTE (ดีเอฟ 118 ฟอร์ท) Martindale Pharmaceuticals Ltd
Dihydrocodeine Injection (ไดไฮโดรโคเดอีน อินเจ็กชั่น)Martindale Pharmaceuticals Ltd

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dihydrocodeine[2019,July13]
  2. https://www.mims.com/malaysia/drug/search?q=dihydrocodeine[2019,July13]
  3. https://www.drugs.com/uk/dihydrocodeine-injection-bp-50mg-ml-leaflet.html[2019,July13]
  4. https://bdn.go.th/attachment/news/download.php?WP=GT1gn2qCqWOchKwtpTggWap3GQygG2rDqYyc4Uux[2019,July13]
  5. https://www.drugs.com/mtm/trezix.html[2019,July13]
  6. https://www.drugs.com/uk/pdf/leaflet/1078464.pdf[2019,July13]
  7. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/011483s030lbl.pdf[2019,July13]