ไดเมอร์แคปรอล (Dimercaprol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ไดเมอร์แคปรอล (Dimercaprol) คือ ยารักษาอาการผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารประกอบโลหะหนักต่างๆ เช่น อาร์เซนิก (สารหนู) ปรอท ทอง ตะกั่ว พลวง ฯลฯ ในอดีต ที่ผ่านมาได้มีการนำยาไดเมอร์แคปรอลมารักษาอาการของโรค Wilson’s disease ซึ่งเป็นโรคพบยากทางพันธุกรรมประเภทหนึ่งโดยร่างกายจะมีการสะสมธาตุทองแดงอยู่มากเกินไปซึ่งอาการสำคัญคือ ดีซ่าน อ่อนเพลียมาก พูดลำบาก กลืนลำบาก เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก

ไดเมอร์แคปรอล หรืออีกชื่อคือ British anti-Lewisite (ย่อว่า BAL) เป็นสารประกอบที่ถูกพัฒนาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนักชีวเคมีชาวอังกฤษที่ทำงานในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อนำมาต่อต้านอาวุธเคมีประเภทสารหนู (Organo arsenic compound) ที่มีชื่อว่า Lewisite สารชนิดนี้ออกฤทธิ์ทำให้ผิวหนังเป็นแผลพุพองและระคายเคืองกับปอด ผู้ที่ได้รับพิษจาก Lewisite จะมีอาการทรมานอย่างมาก ปัจจุบันมีข้อตกลงยกเลิกการใช้อาวุธทางเคมีเหล่านี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ยาไดเมอร์แคปรอล ไม่สามารถใช้รักษาอาการพิษจากโลหะหนักได้ทุกชนิด ด้วยลักษณะสารประกอบของโลหะหนักต่างๆนั้นความซับซ้อนแตกต่างกันออกไป เช่น เหล็ก แคดเมียม (Cadmium) ซีลีเนียม (Selenium) ไม่สามารถรักษาด้วยยาไดเมอร์แคปรอลได้

ก่อนการใช้ยานี้แพทย์อาจซักประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยเพิ่มเติม เช่น

  • เป็นโรคตับ โรคไต หรือไม่
  • แพ้ยาอะไรบ้าง
  • กรณีที่เป็นสตรีวัยเจริญพันธุ์อาจได้รับคำถามว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่

โดยระหว่างการให้ยาหรือรักษาด้วยยานี้ หากพบอาการผิดปกติต่างๆ เช่น มีอาการง่วงนอน, หรือปวดหัวมาก, คลื่นไส้-อาเจียน, หรือปวดท้องอย่างรุนแรง, เจ็บคอ_คออักเสบ, แน่นหน้าอก, วิตกกังวล, กระสับกระส่าย, หัวใจเต้นเร็ว, รู้สึกแสบร้อนในปาก-คอหรือในอวัยวะเพศโดยเฉพาะเพศชาย, ตาแดง, คันตา, คัดจมูก, น้ำลายมาก, หรือมีอาการของโรคไต (เช่น ผู้ป่วยไม่ปัสสาวะเลย เจ็บ/ปวดระหว่างปัสสาวะ เท้า-ข้อเท้าบวม หรือหายใจหอบเหนื่อย) จะต้องรีบแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อพิจารณาปรับกระบวนการรักษา

จากการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยานี้ในร่างกายพบว่า เมื่อฉีดยาไดเมอร์แคปรอลเข้า กล้ามเนื้อ ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและมีระดับสูงสุดภายในเวลาประมาณ 30 - 60 นาที ยาไดเมอร์แคปรอลจะแพร่กระจายเข้าไปตามเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายรวมถึงสมองด้วย ตับจะคอยเปลี่ยนสภาพโครงสร้างทางเคมีของยานี้ไปเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว และจะถูกขับออก ไปพร้อมกับยาไดเมอร์แคปรอลที่รวมตัวกับโลหะหนักโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยาไดเมอร์แคปรอลครึ่งหนึ่งของปริมาณที่มีอยู่ในกระแสเลือดออกจากร่างกาย

จริงอยู่ที่อาการของผู้ป่วยหลังได้รับยานี้จะเริ่มดีขึ้นภายในประมาณ 1 - 2 ชั่วโมงแรก แต่การ ให้ยานี้กับผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาหลายวันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าได้รับพิษของโลหะชนิดใด

องค์การอนามัยโลกระบุให้ยาไดเมอร์แคปรอลอยู่ในกลุ่มยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้เพื่อใช้งาน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาไดเมอร์แคปรอลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์บำบัดพิษเฉียบพลันจาก ปรอท, ทอง, และสารหนู, และใช้ร่วมกับยา Sodium calcium edentate (Edetate calcium disodium) ในกรณีบำบัดพิษเฉียบพลันจากตะกั่ว และด้วยรูปแบบของยาแผนปัจจุบันที่เป็นลักษณะของยาฉีด เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ไดเมอร์แคปรอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไดเมอร์แคปรอล

ยาไดเมอร์แคปรอลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาและต่อต้านพิษจาก สารหนู, ทอง, ตะกั่ว, ปรอท, ทองแดง
  • รักษาอาการของโรค Wilson’s disease

ไดเมอร์แคปรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดเมอร์แคปรอล คือ ตัวยาจะเข้ารวมตัวและจับกับโลหะหนัก เช่น สารหนู , ทอง, ปรอท, ตะกั่ว, พลวง, บิสมัท (Bismuth), นิกเกิล (Nickel), แทลเลียม (Thallium), ทำให้โลหะหนักหมดฤทธิ์ของการก่อพิษต่อเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกาย จากนั้นโลหะหนักจะถูกร่างกายกำจัดออกมากับน้ำปัสสาวะ

ไดเมอร์แคปรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไดเมอร์แคปรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

ไดเมอร์แคปรอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไดเมอร์แคปรอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาขึ้นกับชนิดของโลหะหนัก ตัวอย่างเช่น

ก. รักษาพิษจากสารหนู หรือ พิษจากทอง: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปี: เช่น วันที่ 1 - 2 ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 10 - 12 มิลลิกรัม/น้ำหนัก ตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งให้ผู้ป่วยทุกๆ 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 2 วัน, วันที่ 3 ฉีดยาเข้ากล้ามฯขนาด 5 - 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งให้ผู้ป่วยทุกๆ 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 1 วัน, วันที่ 4 -14 ฉีดยาเข้ากล้ามฯขนาด 2.5 - 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 11 วัน

ข. รักษาพิษจากปรอท: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปี: เช่น วันที่ 1 ฉีดยาเข้ากล้ามฯขนาด 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้งเพียง 1 วัน, วันที่ 2 – 11 ฉีดยาเข้ากล้ามฯขนาด 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 12 - 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 10 วัน

ค. รักษาพิษจากตะกั่ว:เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปี: เช่น เริ่มต้นฉีดยาเข้ากล้ามฯขนาด 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากนั้นฉีดยาขนาด 3 - 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยใช้ควบคู่กับยา Edetate calcium disodium ทุก 4 ชั่วโมง และต้องให้ยาเพื่อคงระดับการรักษาต่ออีกเป็นเวลา 2 - 7 วัน

ง. รักษาพิษโลหะหนักในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เช่น

  • เด็กอายุ 1 เดือน - 18 ปี: เช่น ฉีดยาเข้ากล้ามฯขนาด 2.5 - 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 4 ชั่วโมงเป็นเวลา 2 วัน จากนั้นฉีดยาเข้ากล้ามฯขนาดเดียวกันวันละ 2 - 4 ครั้งในวันที่ 3, และ ฉีดยาเข้ากล้ามขนาดเดียวกันวันละ 1 - 2 ครั้งอีก 10 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาแน่ชัดถึงขนาดยาในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยาใน เด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

จ. รักษาอาการของ Wilson’s disease: เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: เช่น ฉีดยาเข้ากล้ามฯขนาด 2.5 - 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 2 - 3 ครั้ง ระยะเวลาการใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไดเมอร์แคปรอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดเมอร์แคปรอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไดเมอร์แคปรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไดเมอร์แคปรอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ความดันโลหิตสูง
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • มีน้ำลายมาก
  • เหงื่อมาก
  • มีภาวะกระตุ้นสมอง เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • แสบร้อนบริเวณริมฝีปาก ในลำคอ และในลูกตา
  • ปวดท้อง
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดหัว
  • ประสาทสัมผัสเพี้ยน
  • มีไข้

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะมีอาการ อาเจียน เกิดอาการชัก และมึนงงภายใน 30 นาทีและอาการทรุดลงภายใน 6 ชั่วโมงหลังการฉีดยานี้เกินขนาด กรณีนี้แพทย์มักแก้ไขโดยใช้ยา Diphenhydramine 50 มิลลิกรัม หรือยา Ephedrine 30 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

มีข้อควรระวังการใช้ไดเมอร์แคปรอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดเมอร์แคปรอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในการกำจัดพิษของโลหะหนักประเภท เหล็ก ซีลีเนียม แคดเมียม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยอาการโรคตับวาย
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคจีซิกพีดี (ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี)
  • ในสูตรตำรับยาไดเมอร์แคปรอลที่มี Benzyl benzoate (สารเคมีชนิดหนึ่งใช้เป็นสารละลาย) เป็นส่วนประกอบ สามารถทำให้เด็กทารกที่ได้รับยานี้เกิดดีซ่านได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้น้ำมันถั่วลิสง (Peanut oil) ด้วยในสูตรตำรับของยานี้มักมีส่วนประ กอบของน้ำมันถั่วลิสงดังกล่าว
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไดเมอร์แคปรอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไดเมอร์แคปรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไดเมอร์แคปรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาไดเมอร์แคปรอล ร่วมกับ ยาหรืออาหารเสริมที่ผสมธาตุเหล็ก ด้วยจะทำให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียง) ของการใช้ยาไดเมอร์แคปรอลสูงขึ้นติดตามมา

ควรเก็บรักษาไดเมอร์แคปรอลอย่างไร?

ควรเก็บยาไดเมอร์แคปรอล: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไดเมอร์แคปรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไดเมอร์แคปรอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
B.A.L. (บี.เอ.แอล) Samarth

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dimercaprol [2021,Oct2]
  2. https://www.drugs.com/mtm/dimercaprol.html [2021,Oct2]
  3. https://reference.medscape.com/drug/bal-dimercaprol-343726 [2021,Oct2]
  4. https://www.mims.com/INdia/drug/info/dimercaprol/ [2021,Oct2]
  5. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/10794 [2021,Oct2]
  6. https://www.mims.com/INdia/drug/info/dimercaprol/?type=full&mtype=generic#Dosage [2021,Oct2]