ไดอะซอกไซด์ (Diazoxide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 พฤษภาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไดอะซอกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไดอะซอกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไดอะซอกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไดอะซอกไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไดอะซอกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไดอะซอกไซด์อย่างไร?
- ไดอะซอกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไดอะซอกไซด์อย่างไร?
- ไดอะซอกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- สมองขาดออกซิเจน สมองพร่องออกซิเจน (Cerebral hypoxia)
- น้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาไดอะซอกไซด์ (Diazoxide) คือยาในกลุ่มยา Potassium channel activator ที่มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะต่างๆของร่างกายคลายตัว เช่น ผนังหลอดเลือด จากกลไกข้างต้น วงการแพทย์จึงนำยานี้ไปรักษาโรคความดันโลหิตสูง, ซึ่งรูปแบบยาไดอะซอกไซด์ที่เป็นยาแผนปัจจุบันจะมีทั้งประเภทยาฉีดและยารับประทาน
ผลข้างเคียงประการหนึ่งของยาไดอะซอกไซด์ จะเป็นเรื่องรบกวนการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงระบบการเผาผลาญน้ำตาลของร่างกาย วงการแพทย์จึงได้นำมาเป็นประโยชน์ในการรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อีกประการหนึ่ง
เมื่อยาไดอะซอกไซด์ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 90% และตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาไดอะซอกไซด์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 21 - 45 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาไดอะซอกไซด์ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุวัตถุประสงค์เพื่อใช้รักษาอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ จะเห็นได้ว่ายาชนิดนี้ใช้รักษาผู้ป่วยได้มากกว่า 1 อาการโรค ดังนั้นแพทย์เท่านั้นที่สามารถระบุการใช้ยาเพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยกับผู้ป่วย
ไดอะซอกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไดอะซอกไซด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) มักใช้ในรูปแบบของยารับประทาน
- รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง (Hypertensive crisis) โดยใช้ในรูปแบบของยาฉีด
ไดอะซอกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไดอะซอกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์: เช่น
ก. สำหรับเพิ่มน้ำตาลในเลือดให้สูง: ตัวยาไดอะซอกไซด์จะยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจาก ตับอ่อน และเพิ่มการหลั่งน้ำตาลกลูโคสออกจากตับ จากกลไกนี้จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น
ข. สำหรับลดความดันโลหิตสูง: ตัวยาไดอะซอกไซด์จะก่อให้เกิดกลไกทางเคมี ทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดเลือดคลายตัว ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัวติดตามมา ส่งผลทำให้ความดันโลหิตลดลงในที่สุด
ไดอะซอกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไดอะซอกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาฉีด ขนาด 15 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทานสำหรับเด็กเล็ก ขนาด 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ไดอะซอกไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไดอะซอกไซด์มีขนาดรับประทานแตกต่างกันในแต่ละโรค ซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาในการใช้ยาให้ตรงกับแต่ละอาการ/แต่ละโรค
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะขนาดรับประทานสำหรับรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำดังนี้เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 3 - 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 2 - 3 ครั้ง ขนาดที่คงระดับการรักษาคือ 3 - 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
อนึ่ง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคเนื้องอกชนิดหนึ่งของต่อมหมวกไตที่พบได้น้อยมากๆที่สร้าง ฮอร์โมนอินซูลินที่เรียกว่าโรค Insulinomas อาจต้องรับประทานถึง 1 กรัม/วัน
- เด็กทารกและเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): รับประทาน 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 2 ครั้ง ขนาดที่คงการรักษาคือ 3 - 9 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน และแพทย์อาจปรับได้ถึง 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
*****หมายเหตุ:
- ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไดอะซอกไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดอะซอกไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไดอะซอกไซด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไดอะซอกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไดอะซอกไซด์ อาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- เกิดโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำ
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- ตัวบวม
- คลื่นไส้
- เบื่ออาหาร
- รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้
- มีระดับกรดยูริคในปัสสาวะ
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- หูอื้อ
- ตาพร่า
- บางกรณีอาจเกิดภาวะ
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- สมองขาดเลือด (สมองขาดออกซิเจน)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ไตทำงานผิดปกติ
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด สามารถพบอาการความดันโลหิตต่ำและน้ำตาลในเลือดสูง ที่ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน หากพบว่ามีอาการดังกล่าว
มีข้อควรระวังการใช้ไดอะซอกไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ไดอะซอกไซด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงประเภท Compensatory hypertension
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, สมองขาดออกซิเจน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่ม Thiazides และ/หรือ Sulfonamide
- ระวังการใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต)
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆควรต้องคอยควบคุมเรื่องความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้เป็นปกติอยู่อย่างสม่ำเสมอ
- ไม่แนะนำการใช้ยานี้นานมากกว่า 10 วัน
- ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ไม่ใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไดอะซอกไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไดอะซอกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไดอะซอกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไดอะซอกไซด์ ร่วมกับยา Alprazolam, Amitriptyline, Diphenhydramine, Hydralazine, Phenobarbital, Zolpidem สามารถทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และ หัวใจเต้นช้า หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไดอะซอกไซด์ ร่วมกับ ยา Chlorothiazide (ยาขับปัสสาวะ) สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจพบอาการหิวบ่อย ปัสสาวะมากและถี่ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาไดอะซอกไซด์ ร่วมกับ ยา Prednisolone สามารถทำให้ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตของยาไดอะซอกไซด์ด้อยประสิทธิภาพลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาไดอะซอกไซด์อย่างไร?
ควรเก็บยาไดอะซอกไซด์:
- เก็บยาภายในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อะซีบูโทลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไดอะซอกไซด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Hyperstat (ไฮเปอสแตท) | Schering Corporation |
PROGLYCEM (โพรกลายเซม) | Teva Pharmaceuticals |
PROGLYCEM SUSPENSION (โพรกลายเซม ซัสเพนชั่น) | Teva Pharmaceuticals |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Diazoxide [2021,May1]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/diazoxide/patientmedicine/diazoxide%20-%20oral [2021,May1]
- https://www.empr.com/drug/proglycem-suspension/#cytoprotectiveandsupportivecareagents [2021,May1]
- https://www.emedicinehealth.com/drug-diazoxide_oral/article_em.htm [2021,May1]
- https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/fda/fdaDrugXsl.cfm?setid=b16c7832-2fd9-49af-b923-1dc0d91fd6e2 [2021,May1]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/diazoxide-index.html?filter=3&generic_only= [2021,May1]
- https://www.drugs.com/cdi/diazoxide-suspension.html [2021,May1]
- https://www.ndrugs.com/?s=hyperstat [2021,May1]