ไดดาโนซีน (Didanosine)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 11 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาไดดาโนซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาไดดาโนซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไดดาโนซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไดดาโนซีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไดดาโนซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไดดาโนซีนอย่างไร?
- ยาไดดาโนซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไดดาโนซีนอย่างไร?
- ยาไดดาโนซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอดส์ (AIDS)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- ประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis)
- เลือดเป็นกรดจากกรดแลคติก (Lactic acidosis)
- ไขมันพอกตับ (Fatty liver)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาไดดาโนซีน (Didanosine) เป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Retrovirus) หรือ ไวรัสเอชไอวี(HIV) เมื่อยานี้เข้าสู่ร่างกาย ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเชื่อมต่อระหว่างดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยส่งผลต่อเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่ทำการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของไวรัสเอชไอวีจากอาร์เอ็นเอ (RNA) ไปเป็นดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อให้ไวรัสได้อาศัยในโครโมโซมของมนุษย์ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอได้ ดังนั้นเมื่อยานี้เข้าสู่ร่างกายจะส่งผลทำให้กระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อไวรัสเอชไอวีหยุดชะงัก และไม่สามารถแบ่งตัวได้อีกต่อไป ส่งผลทำให้ปริมาณไวรัสเอชไอวีในร่างกายลดลง
ยาไดดาโนซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไดดาโนซีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โดยใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัส ชนิดอื่นอีก 2 ชนิด เช่นยา ลามิวูดีน (Lamivudine), และโลปินาเวียร์/ ลิโทนาเวียร์ (Lopinavir/Ritonavir)
ยาไดดาโนซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไดดาโนซีน จัดเป็นยาต้านไวรัส (Antiviral agent) กลุ่ม Reverse Transcriptase Inhibitors (ยาอาร์ทีไอ/ RTIs) โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทํางานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่ช่วยสร้างดีเอ็นเอ/DNA สำหรับเพิ่มจำนวนในเซลล์เจ้าบ้าน(คน) ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอได้ ดังนั้นเมื่อยาไดดาโนซีนเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ทำให้มีฤทธิ์ต้านไวรัสเอชไอวี โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอน ไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส จึงส่งผลทำให้การเชื่อมต่อดีเอ็นเอของไวรัสเอชไอวีหยุดชะงัก เชื้อไวรัสฯจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้
ยาไดดาโนซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาไดดาโนซีน มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์หลายลักษณะดังนี้เช่น
- ยาเม็ด ขนาด 25, 50, 125 และ 200 มิลลิกรัม
- ยาเม็ดแคปซูลชนิดแตกตัวในลำไส้ (Enteric coated capsule) ขนาด 125, 200, 250 และ 400 มิลลิกรัม
ยาไดดาโนซีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาไดดาโนซีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา: เช่น
1. วิธีการใช้ยาเม็ดไดดาโนซีนยี่ห้อไดเวียร์ (Divir)โดยองค์การเภสัชกรรม: ยาไดดาโนซีนสามารถถูกทำลายได้อย่างรวดเร็วในสภาวะกรด (เช่น สภาวะกรดในกระเพาะอาหาร) ในเม็ดยาไดเวียร์จะมีสารบัฟเฟอร์ (Buffer) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยปรับสภาวะกรดในกระเพาะอาหารจึงสามารถช่วยลดการทำลายยาในกระเพาะอาหารที่มีสภาวะกรดได้ แต่อย่างไรก็ตามควรรับประ ทานยาในขณะท้องว่างเนื่องจากอาหารรบกวนการดูดซึมยา ซึ่งวิธีการรับประทานยาเม็ดไดเวียร์ จะให้รับประทานยาโดยเคี้ยวยาหรือบดยาให้ละเอียดก่อนกลืน หรือละลายยาในน้ำสะอาดอย่างน้อย 30 มิลลิลิตร คนยาให้กระจายตัวทั่วกันและดื่มให้หมดทันที ห้ามกลืนยาเม็ดไดเวียร์ทั้งเม็ด โดยรับประทานยาก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง
2. วิธีการใช้ยาเม็ดแคปซูลไดดาโนซีนยี่ห้อไวเด็ก-อีซี (Videx EC)โดยบริษัท Bristol -Myers Squibb: ยาไดดาโนซีนจะถูกทำลายได้อย่างรวดเร็วในสภาวะกรด แต่สำหรับยาเม็ดแคปซูลไดดาโนซีนยี่ห้อไวเด็ก ตัวยาได้รับการออกแบบให้อยู่ในเม็ดที่เรียก Beadlet คือถูกเคลือบด้วยสารที่ทำให้แตกตัวในลำไส้ (Enteric coated Beadlet) และเม็ด Beadlet ดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในเปลือกแคปซูลอีกชั้นหนึ่ง การที่ยาไดดาโนซียได้ถูกออกแบบในรูป Enteric coated Beadlet จะช่วยป้องกันกรดในกระเพาะอาหารทำลายยาได้ กล่าวคือทำให้เม็ด Beadlet ที่บรรจุยาอยู่นั้นไม่แตกตัวในกระเพาะอาหารแต่จะแตกตัวที่ลำไส้เล็กซึ่งเป็นบริเวณที่ยาถูกดูดซึม ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณยาที่ถูกดูดซึมทั้งหมด ซึ่งวิธีการรับประทานยาเม็ดไวเด็กแนะนำให้รับ ประทานยาเม็ดแคปซูลในขณะท้องว่างอย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งก่อนรับประทานอาหารเบา หรือประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารอาหารเบา กล่าวคืออาหารที่ให้พลังงานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 400 กิโลแคลอรีและมีไขมันน้อยกว่าเท่ากับ 20 % (ยังไม่มีการศึกษาถึงระ ยะห่างในการรับประทานยากรณีห่างจากการรับประทานอาหารมื้อหนัก) การรับประทานยาไวเด็กควรรับประทานยาทั้งเม็ดแคปซูล โดยการกลืนทั้งเม็ดแคปซูล ไม่ใช่การเคี้ยว หรือถอดเปลือกแคปซูลออก
3. ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับสำหรับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):
ก. ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี: เช่น
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาไดดาโนซีนในเด็กที่อายุน้อยกว่า 14 วันเนื่องจากยังไม่มีการศึกษาถึงขนาดยาที่เหมาะสม
- เด็กอายุมากกว่าเท่ากับ 14 วันถึงอายุน้อยกว่า 3 เดือน: รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิ กรัมต่อพื้นที่ผิวของร่างกาย(Surface area) 1 ตารางเมตรทุก 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุมากกว่าเท่ากับ 3 เดือนถึงอายุ 8 เดือน: รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัมต่อ พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตรทุก 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุมากกว่า 8 เดือนขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 120 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวของร่าง กาย 1 ตารางเมตรทุก 12 ชั่วโมง (ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อครั้ง)
ข. ขนาดยาในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะไตบกพร่อง: แพทย์จะพิจารณาลดขนาดยาลง และ/หรือ เพิ่มช่วงระยะเวลาห่างที่ให้ยา เพราะยาขับออกทางปัสสาวะเป็นหลักในผู้ป่วยเด็ก แต่ยังไม่มีการ ศึกษาถึงขนาดยาที่แนะนำชัดเจนสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ขนาดยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ รักษา
ค. ขนาดยาในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะตับบกพร่อง: ไม่มีข้อมูลการปรับขนาดยาในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะตับบกพร่อง แต่ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาไดดาโนซีน แพทย์จะคอยตรวจเอนไซม์ตับเมื่อสงสัยภาวะตับอักเสบจากยา และขนาดยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเช่นกัน
4. ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่: เช่น
- ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี: ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 60 กิโลกรัมรับประ ทานยาครั้งละ 250 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง และผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า/เท่ากับ 60 กิโลกรัมรับประทานยาครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง
- ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: แพทย์จะพิจารณาลดขนาดยาลงหากผู้ป่วยมีค่าการทำงานของ ไตน้อยกว่า 60 มิลลิลิตรต่อนาที โดยลดขนาดยาลงตามค่าการทำงานของไตที่ลดลงตามลำดับ หากผู้ป่วยมีการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านการฟอกเลือด ให้บริหารยา/ใช้ยาวันละ 1 ครั้ง แต่บริหารยาโดยให้ยาหลังจากฟอกไตเสร็จ และไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาไดดาโนซีน
- ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่มีข้อมูลการปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีภาวะตับบกพร่อง แต่ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาไดดาโนซีน แพทย์จะตรวจเลือดดูค่าเอนไซม์ตับเมื่อสงสัยภาวะตับอักเสบ
- ขนาดยาในผู้สูงอายุ: ควรระวังเกี่ยวกับขนาดยาเนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาสที่ไตจะทำงานลด ลง แพทย์จะติดตามค่าการทำงานของไตด้วยการตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อปรับขนาดยานี้ให้เหมาะสม
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไดดาโนซีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดดาโนซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดสำหรับความปลอดภัยในการใช้ยาไดดาโนซีนในหญิงตั้งครรภ์และการผ่านของยาทางน้ำนม จึงพิจารณาใช้ยาไดดาโนซีนในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตรเฉพาะ กรณีแพทย์ผู้รักษาพิจารณาว่าประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีก เลี่ยงการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ยังไม่แนะนำให้หญิงที่กำลังได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีอยู่ให้นมบุตร
- แจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากช่วงที่ผ่านมาลืมกินยา/ไม่ได้รับยา หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานยาทุก 12 ชั่วโมงได้เช่น กรณีช่วงถือศีลอด หรือเป็นช่วงที่ต้องหยุดยา/งดอาหารและยาเพื่อทำหัตถการทางการแพทย์ เพื่อหาบุคคลากรทางการแพทย์หาสาเหตุและช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากยาไดดาโนซีนเป็นยาจำเป็นที่ต้องรับประทานอย่างสม่ำ เสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องรับประทานยาขณะท้องว่างหรือหลังอาหารอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมง
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาอย่างเคร่ง ครัด อาหารมีผลทำให้การดูดซึมยาไดดาโนซีนเข้าสู่กระแสโลหิตลดลง ดังนั้นจึงแนะนำให้รับ ประทานยาไดดาโนซีนได้ทั้งขณะท้องว่างคือก่อนมื้ออาหารประมาณ 1 - 1.5 ชั่วโมง หรือรับ ประทานยาหลังอาหารมื้อเบาไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมงคือ อาหารที่ให้พลังงานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 400 กิโลแคลอรีและมีไขมันน้อยกว่า/เท่ากับ 20% แต่ยังไม่มีการศึกษาถึง ระ ยะห่างในการรับประทานยานี้กรณีห่างจากเวลารับประทานอาหารมื้อหนัก
วิธีการรับประทานยานี้นั้น สำหรับผู้ป่วยเด็กจะรับประทานยาไดดาโนซีนวันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง) แต่สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่จะรับประทานยาไดดาโนซีนวันละ 1 ครั้ง
กรณีวิธีการรับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้งเพื่อให้ระดับยาในร่างกายคงที่และมีประสิทธิ ภาพ ควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน กรณีลืมรับประทานยาที่รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้งให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป(วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับ ประทานยาเวลา 8.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 15.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 22.00 น.ของวันนั้น ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม
กรณีเป็นการรับประทานยาวันละ 2 ครั้งเพื่อให้ระดับยาในร่างกายคงที่และมีประสิทธิภาพ จึงควรรับประทานยาให้ห่างกัน 12 ชั่วโมง กรณีลืมรับประทานยาให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ (หากห่างไม่เกิน 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานปกติ) แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่า 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทานยาไป จากนั้นรับประทานยาในขนาดปกติต่อไป (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือนำยามื้อที่ลืมมารับประทานด้วย) และรับประทานยาในมื้อถัดๆไปในขนาดยาปกติเช่นเดิม ยกตัวอย่างเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. และ 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. โดยนึกขึ้นได้ตอนเวลา 12.00 น.(เกินกว่าเวลาปกติที่รับประทานยา 4 ชั่วโมง) ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันที ณ เวลาที่นึกขึ้นได้ จากนั้นเมื่อถึงเวลา 20.00 น. ให้รับประทานยามื้อ 20.0 น.ในขนาดปกติ แต่ถ้าหากผู้ ป่วยนึกขึ้นได้ในช่วงเวลาที่นานเกินกว่า 6 ชั่วโมงของเวลาปกติแล้ว ให้รอรับประทานยามื้อต่อ ไปโดยข้ามยามื้อที่ลืมไปและรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดปกติ (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือนำยามื้อที่ลืมไปมารับประทานด้วย) ยกตัวอย่างเช่น หากนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 16.00 น. (เกิน 6 ชั่วโมง) ให้ผู้ป่วยข้ามมื้อ 8.00 น. ไปเลยและให้รับ ประทานยามื้อ 20.00 น.ในขนาดยาปกติ ไม่ต้องนำยาที่ลืมในมื้อ 8.00 น. มารับประทานหรือเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ควรรับประทานยาไดดาโนซีนขณะท้องว่างหรือหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพของยา
อย่างไรก็ตาม การกินยานี้ที่ไม่สม่ำเสมอจะทำให้ระดับยาในเลือดอยู่ในะดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำก็จะเป็นเหมือนการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเอชไอวีเกิดการกลายพันธุ์ เป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา อีกทั้งการรับประทานยาทุกครั้งควรคำนึงถึงภาวะท้องว่างด้วยเพราะอาหารจะทำให้การดูดซึมยานี้ลดลง
ยาไดดาโนซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ของยาไดดาโนซีนที่พบได้บ่อย เช่น
- ประสาทส่วนปลายอักเสบ
- ชา
- อ่อนแรง
- ปวดหัว
- ภาวะตับอ่อนอักเสบอย่างไม่รุนแรง หรือ อย่างรุนแรงจน ถึงอาจตายได้ ซึ่งภาวะตับอ่อนอักเสบนี้มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก
- ภาวะตับโตอย่างรุน แรงร่วมกับไขมันสะสมในตับ/ไขมันพอกตับ (Hepatomegaly with steatosis) หรือ ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ภาวะโลหิตจาง (Anemia) ซึ่งเป็นสาเหตุของ โรคซีด,
- เม็ดเลือดขาวต่ำ (Neutropenia)ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดเลือดออกง่ายและเลือดหยุดได้ยากกว่าปกติ
ทั้งนี้ อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่อาจพบได้บ่อยเช่นกัน เช่น
- คลื่นไส้-อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ปวดท้อง
- ขึ้นผื่น
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดข้อ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เป็นตะคริว
อนึ่ง ค่าการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการที่ควรติดตามขณะใช้ยาไดดาโนซีน เช่น
- อะไมเลส (Amylase: เอนไซม์ที่บ่งชี้ภาวะตับอ่อนอักเสบ)
- ไลเปส (Lipase: เอนไซม์ที่บ่งชี้ภาวะตับอ่อนอักเสบ)
- ค่าการทำงานของตับ (Liver function enzyme เช่น ค่า AST/Aminotransferase , ALT/ Alkaline phosphatase, Bilirubin)
ซึ่งแพทย์จะตรวจติดตาม หากสงสัยว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้รวมถึงการตรวจตาจากจักษุแพทย์เป็นระยะๆระหว่างการรักษา เพราะมีรายงานการเกิดการเปลี่ยนแปลงในการมองเห็น และมีประสาทตาอักเสบในผู้ป่วยที่ได้รับยาไดดาโนซีนนี้
มีข้อควรระวังการใช้ยาไดดาโนซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไดดาโนซีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยานี้นอกจากมีความจำเป็นจริงๆเท่านั้น ส่วนหญิงในระยะให้นมบุตรควรหยุดให้น้ำนมขณะได้รับการรักษาด้วยยานี้
- ระวังการใช้ยาไดดาโนซีนในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง โดยแพทย์จะลดขนาดยไดดาโนซีนลง กรณีผู้ป่วยมีค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 50 มิลลิลิตรต่อนาทีเนื่อง จากยานี้ถูกขจัดออกทางไตลดลง
- ระมัดระวังการใช้ยานี้เป็นพิเศษในผู้ป่วยเด็กที่มีประวัติตับอ่อนอักเสบหรือมีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นตับอ่อนอักเสบ ซึ่งภาวะตับอ่อนอักเสบมักรายงานการเกิดในผู้ป่วยเด็กที่มีประวัติการใช้ยาต้านรีโทรไวรัส/ไวรัสเอชไอวีในกลุ่มนิวคลีโอไซด์ (Nucleoside Antiretroviral agents, ยาที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง DNA, RNA ของเอชไอวีไวรัส) มาก่อนเช่น ลามิวูดีน (Lamivudine : ยาต้านไวรัส), สตาวูดีน (Stavudine: ยาต้านไวรัส), ซิโดวูดีน (Zidovudine: ยาต้านไวรัส)
- ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่องเนื่องจากภาวะตับบกพร่องไม่มีผลที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงยาไดดาโนซีน แต่จำเป็นต้องตรวจเลือดดูค่าเอนไซม์/ค่าการทำ งานของตับเสมอเพื่อติดตามเอนไซม์ของตับ หากเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแพทย์จะพิจารณาหยุดยานี้
- ระวังการใช้ยาไดดาโนซีนในผู้ป่วยตับบกพร่อง, ตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคอ้วน เนื่องจากมีรายงานการเกิดภาวะแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis: ภาวะเลือดเป็นกรดแลคติก ทำให้เซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ) และภาวะตับโตรุนแรงร่วมกับไขมันสะสมในตับ/ไขมันพอกตับ (Severe Hepatomegaly with steatosis) โดยแพทย์จะพิจารณาหยุดยาไดดาโน ซีนหากมีอาการทางคลินิกหรือผลตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการพบว่ามีภาวะตับอ่อนอักเสบ หรือ เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติก (Lactic acidosis)
- ไม่ควรใช้ยาไดดาโนซีนเป็นยาเดี่ยวสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีเนื่องจากจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีเกิดการดื้อยา แนะนำให้ใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสตัวอื่นดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สรรพคุณ
- มีรายงานการเกิดภาวะปวดแสบหรือชาบริเวณมือและเท้า (Peripheral Neuropathy) ขึ้นได้ในผู้ป่วยที่ได้รับยาไดดาโนซีน ผู้ป่วยที่มีประวัติการเกิดอาการดังกล่าวมาก่อน หรือได้รับยาอื่นที่มีพิษต่อระบบประสาท จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิด โดยอาการที่เกิดมักเป็นลักษณะชาหรือปวดแสบทั้งสองข้างแบบสมมาตรกัน/อาการเหมือนกันทั้งข้างซ้ายและข้างขวา (Bilateral symmetrical distal numbness, tingling)
- มีรายงานเกิดการเปลี่ยนแปลงในการมองเห็นและประสาทตาอักเสบในผู้ป่วยที่ได้รับยาไดดาโนซีน โดยพบในผู้ป่วยที่ได้รับยาไดดาโนซีนในขนาดสูงกว่าขนาดยาที่แนะนำ โดยพบว่าเกิดความผิดปกติได้ทั้งที่จอตา (Retinal depigmentatio) และที่ประสาทตา (Optical neuritis ) ในผู้ใหญ่ ดังนั้นแพทย์จึงมักแนะนำการตรวจตาเป็นระยะๆระหว่างการรักษา
- มีรายงานพบความผิดปกติในการกระจายตัวและการสะสมของมวลไขมันผิดปกติทั่วร่างกาย (Lipodystrophy/Lipoatrophy) และอาจพบไขมันพอกตัวผิดปกติโดยพบก้อนไขมันพอกที่คอด้านหลัง (Buffalo hump), เส้นรอบวงของคอขยายขึ้น 5 - 10 ซม., เต้านมขยายใหญ่ขึ้น, ไขมันสะสมตามอวัยวะภายในช่องท้องมากขึ้นทำให้อ้วนกลางลำตัว โดยแขนขาผอมแห้งปราศจากไขมัน (Peripheral wasting) และใบหน้าตอบ (facial wasting)
- ภาวะ Immune Reconstitution Syndrome มีรายงานการเกิดภาวะดังกล่าวในผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีหลายชนิดร่วมกันในช่วงต้นของการรักษาด้วยยาคือ เมื่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคมีการตอบสนองต่อยานี้ ผู้ป่วยอาจเกิดการตอบสนองแบบมีการอักเสบต่อเชื้อฉวยโอกาสที่มีอยู่ในร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดสภาวะทางคลินิกที่ร้ายแรงหรือมีอาการการอักเสบกำเริบขึ้นเช่น การติดเชื้อราบางชนิด, การเกิดจอตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส Cytomegalovirus และโรคปอดบวมจากโรคเชื้อรา Pneumocystis jirovecii ซึ่งการติดเชื้อเหล่านี้อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาเช่นกัน
- สำหรับยาเม็ดไดดาโนซีนจะมีปริมาณโซเดียมต่อเม็ดแตกต่างกันตามยี่ห้อและขนาดยา ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีการจำกัดโซเดียมเช่น ผู้ป่วยเอชไอวีที่มีโรคไตร่วมด้วย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไดดาโนซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไดดาโนซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไดดาโนซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
1. ระมัดระวังการใช้ยานี้เป็นพิเศษในกรณีที่ใช้ยาไดดาโนซีน ร่วมกับ ยาอื่นที่เป็นพิษต่อตับอ่อน เช่นยา แพนตามิดีน (Pentamidine: ยาปฏิชีวนะ) หรือ ยาซัลฟาเมทอกซาโซล/ไตรเมทโทรพิม (Sulfamethoxazole/Trimethoprim: ยาปฏิชีวนะ)
2. การใช้ยาไดดาโนซีน ร่วมกับ ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol: ยาลดการสร้างกรดยูริค) จะทำให้ความเข้มข้นของยาไดดาโนซีนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น 2 - 4 เท่าดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาร่วม กัน
3. การใช้ยาไดดาโนซีน ร่วมกับ ยาไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea: ยาเคมีบำบัดชนิดรับ ประทาน) อาจทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบและภาวะตับอักเสบอย่างรุนแรงและอาจถึงแก่ชีวิต ได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะติดตาม ค่าตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เช่น
- อะไมเลส (Amylase: เอนไซม์ที่บ่งชี้ภาวะตับอ่อนอักเสบ)
- ไลเปส (Lipase: เอนไซม์ที่บ่งชี้ภาวะตับอ่อนอักเสบ)
- ค่าการทำงานของตับ (Liver function enzyme ได้แก่ค่า AST/Aminotransferase, ALT/ Alkaline phosphatase, Bilirubin)
ทั้งนี้ หากมีค่าดังกล่าวสูงขึ้นอาจจำเป็นต้องหยุดใช้ยาเหล่านี้
4. หากใช้ยาไดดาโนซีน ร่วมกับ ยาสตาวูดีน (Stavudine: ยารักษาไวรัสเอชไอวี) มีราย งานการเกิดภาวะปวดแสบหรือชาบริเวณมือและเท้า (Peripheral Neuropathy) ขึ้นได้
5. การให้ยาบางชนิดที่ดูดซึมได้ดีในสภาวะเป็นกรด เช่นยา แดปโซน (Dapsone:ยาปฏิชีวนะ), คีโตโคนาโซล (Ketoconazole: ยาต้านเชื้อรา), ไอทราโคลนาโซล (Itraconaozle: ยาต้านเชื้อรา) จึงควรรับประทานยาดังกล่าวนี้ก่อนรับประทานยาไดดาโนซีนอย่างน้อย 2 ชั่ว โมง
6. ยาไดดาโนซีนจะลดการดูดซึมยาเตตร้าไซคลิน (Tetracycline: ยาปฏิชีวนะ) เมื่อให้ร่วมกันจึงควรรับประทานยาเตตร้าไซคลินก่อนหรือหลังยาไดดาโนซีนประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง
ควรเก็บรักษายาไดดาโนซีนอย่างไร?
แนะนำเก็บยาไดดาโนซีน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในที่ที่ร้อนจัดหรือมีความชื้นมาก เช่น ในรถยนต์หรือห้องน้ำ
- เก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดหรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้มีประสิทธิภาพตลอดถึงวันสิ้น/หมดอายุของยา
ยาไดดาโนซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไดดาโนซีน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Divir (ไดเวียร์) tablet | องค์การเภสัชกรรม (GPO) |
Videx EC (ไวเด็ก-อีซี) Enteric coated capsule | Bristol-Myers Squibb |
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2011-12.
- Product Information: Divir, Didanosine, GPO, Thailand.
- Product Information: Videx EC, Didanosine, Bristol-Myers Squibb, Thailand.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013