ไซโลโดซิน (Silodosin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 พฤศจิกายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไซโลโดซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไซโลโดซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไซโลโดซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไซโลโดซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไซโลโดซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไซโลโดซินอย่างไร?
- ไซโลโดซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไซโลโดซินอย่างไร?
- ไซโลโดซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers)
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- โรคไต (Kidney disease)
- โรคตับ (Liver disease)
- ภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไซโลโดซิน (Silodosin) คือ ยารักษาอาการโรคต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia ย่อว่า บีพีเอช/BPH), โดยเป็นยาในกลุ่มแอลฟาบล็อกเกอร์ (Alpha blocker), และมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยารับประทาน
ยาไซโลโดซินวางจำหน่ายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ภายใต้ชื่อการค้าว่า Urief, อีก 2 ปีต่อมาจึงเริ่มมีจำหน่ายในประเทศแถบทวีปอเมริกา, ตัวยามีการออกฤทธิ์กับตัวรับ (Receptor) ในเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่ชื่อ’แอลฟา1เอ แอดริเนอร์จิกรีเซพเตอร์ (Alpha1A adrenergic receptor)’ ส่งผลให้บรรเทาอาการต่อมลูกหมากโตโดยไม่ก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำเหมือนกับยาในกลุ่ม’แอลฟา บล็อกเกอร์ (Alpha blockers)’ ตัวอื่นๆ
ยาไซโลโดซิน ยังออกฤทธิ์ครอบคลุมไปถึงกระเพาะปัสสาวะ และทำให้กล้ามเนื้อภายในอวัยวะของระบบทางเดินปัสสาวะมีการคลายตัว และช่วยทำให้การขับถ่ายปัสสาวะเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ตัวยาไซโลโดซินสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 32%, ยานี้ในกระแสเลือดจะจับตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 97%, ตับเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของยานี้, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 21 ชั่วโมงในการกำจัดยาไซโลโดซินออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ปัจจัยที่สนับสนุน หรือเป็นข้อห้ามใช้บางประการที่ควรทราบก่อนที่จะมีการใช้ไซโลโดซิน เช่น
- ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยาไซโลโดซินมาก่อน
- ต้องเป็นผู้ที่มีภาวะตับ-ไตทำงานผิดปกติ, และถือเป็นข้อห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยด้วยโรคตับ โรคไตในระดับรุนแรง
- หากผู้ป่วยมีการรับประทานยาเหล่านี้ เช่นยา Ketoconazole, Boceprevir, mClarithromycin, Cobicistat , Cyclosporine, Itraconazole, Nafazodone/ ยาต้านเศร้า, Posaconazole, Ritonavir, Telaprevir , Telithromycin, ยากลุ่มดังกล่าวล้วนแล้วแต่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาไซโลโดซิน รวมถึงส่งผลข้างเคียงต่างๆเพิ่มขึ้นติดตามมา, ทางคลินิกจึงได้กำหนดให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาไซโลโดซิน
- ผู้ป่วยมีการใช้ยาแอลฟาบล็อกเกอร์ตัวอื่นๆอยู่อย่าง เช่นยา Prazosin ซึ่งถือเป็นข้อห้ามใช้ร่วมกัน ด้วยอาจเกิดการเสริมฤทธิ์และทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาทั้ง 2 ตัวในระดับรุนแรงติดตามมา
- สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงของยา ต่างๆต่อทารกในการใช้ยาทุกตัว ที่รวมถึงยาไซโลโดซินด้วยเช่นกัน
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาการทำงานของตับ-ไต หรือผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก หากมีความประสงค์จะใช้ยาไซโลโดซินจะต้องได้รับการคัดกรองและมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- *ผู้ที่ได้รับยาไซโลโดซินโดยเฉพาะบุรุษเพศอาจพบปัญหามีอาการปวดขณะหลั่งน้ำอสุจิ หากพบอาการดังกล่าวควรรีบแจ้งหรือปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโดยเร็ว
- ยาไซโลโดซินไม่เหมาะที่จะใช้กับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก
*กรณีผู้ป่วยได้รับยาไซโลโดซินเกินขนาดจะพบอาการความดันโลหิตต่ำ สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติ คือต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์/โรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน ด้วยต้องบำบัดภาวะของความดันโลหิต รวมถึงการทำงานของหัวใจ ไต, ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่แพทย์ต้องควบคุมดูแลให้มีการทำงานกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว
ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดให้ยาไซโลโดซินอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยาไซโลโดซินได้ตามสถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงมีการจำหน่ายตามร้านขายยาขนาดใหญ่ทั่วไป
ไซโลโดซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไซโลโดซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการต่อมลูกหมากโต,ช่วยทำให้การถ่ายปัสสาวะขัดกลับมาเป็นเหมือนปกติ
ไซโลโดซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไซโลโดซิน คือตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับที่อยู่ภายในเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมาก และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาททำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมาก รวมถึงบริเวณหูรูดของกระเพาะปัสสาวะ (Bladder neck) ส่งผลทำให้การขับปัสสาวะคล่องตัวขึ้น, จากกลไกที่กล่าว จึงทำให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ไซโลโดซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไซโลโดซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 4 และ 8 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 4 มิลลิกรัม/เม็ด
ไซโลโดซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไซโลโดซินมีขนาดรับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 8 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง, พร้อมอาหาร
- เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดมาสนับสนุนความปลอดภัย ในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไซโลโดซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซโลโดซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลาย ประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไซโลโดซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไซโลโดซินตรงเวลา
ไซโลโดซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไซโลโดซินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น การหลั่งน้ำอสุจิไม่ปกติเหมือนเดิม, เกิดภาวะองคชาตแข็งค้าง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีอาการคัดจมูก ไซนัสอักเสบ คออักเสบ/การอักเสบของโพรงหลังจมูก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการวิงเวียน ปวดหัว
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น มีภาวะความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอาการนอนไม่หลับ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ก่อให้เกิดผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อตับ: เช่น ตัวเหลือง ตับเกิดการเสียหาย/ตับอักเสบ ตรวจเลือดพบเอนไซม์การทำงานตับ (ทรานสมิเนส/Transaminase) เพิ่มสูงขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้ไซโลโดซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโลโดซิน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
- *หลังการใช้ยานี้ถ้ามีอาการวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- การใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมาต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- *หากมีอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม เกิดผื่นคันเต็มตัว *ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- *กรณีที่ใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซโลโดซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไซโลโดซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไซโลโดซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาไซโลโดซิน ร่วมกับยากลุ่ม Beta-blockers อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาไซโลโดซิน ร่วมกับยา Ketoconazole, Ritonavir, Clarithromycin, Cobicistat ด้วยจะทำให้ยาไซโลโดซินในร่างกายมีระดับสูงขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
ควรเก็บรักษาไซโลโดซินอย่างไร?
ควรเก็บยาไซโลโดซิน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไซโลโดซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไซโลโดซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Urief (ยูรีฟ) | Eisai |
Rapilif (แรพิลิฟ) | IPCA |
Silodal (ไซโลดัล) | Ranbaxy |
Silofast (ไซโลฟาส) | Cipla |
อนึ่ง: ยาชื่อการค้าของยาไซโลโดซินที่จำหน่ายในประเทศตะวันตก เช่น Rapaflo, Silodyx, Urorec
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Alpha_blocker#Uses [2022,Nov26]
- https://www.rxlist.com/rapaflo-capsules-drug.htm [2022,Nov26]
- https://www.drugs.com/mtm/silodosin.html [2022,Nov26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Silodosin [2022,Nov26]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Urief/?type=BRIEF [2022,Nov26]
- https://www.drugs.com/sfx/silodosin-side-effects.html [2022,Nov26]
- https://www.medindia.net/drug-price/silodosin.htm [2022,Nov26]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=3&rctype=1C&rcno=6000007&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,Nov26]