ไซโคลเพนโทเลท (Cyclopentolate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไซโคลเพนโทเลท (Cyclopentolate) ถูกใช้เป็นยาขยายม่านตา เพื่อแพทย์ใช้ตรวจ สอบ/ทดสอบอาการป่วยของจอตา หรือใช้ก่อนเข้ารับการผ่าตัดตา โดยยานี้จะออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อในลูกตาเกิดการคลายตัว ทำให้รูม่านตาเปิดกว้าง ปกติการใช้ยาประเภทนี้จะกระทำในสถานพยาบาลโดยจักษุแพทย์เท่านั้น หลังการใช้ยาไซโคลเพนโทเลทหยอดตา อาจเป็นเหตุให้ตาไม่สามารถสู้แสงได้ (ตาไม่สู้แสง) โดยเฉพาะกับแสงแดด ทำให้ผู้ป่วยต้องสวมแว่นกันแดดไปสักพักหนึ่ง สำหรับการหยอดตาให้กับเด็กทารกสามารถทำให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมน้ำ นมได้เหมือนปกติ ควรต้องเว้นระยะเวลาของการป้อนนมไปประมาณ 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ และด้วยเหตุผลนี้จึงส่งผลต่อเนื่องต่อการใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ยานี้สามารถผ่านเข้าในน้ำนมของมารดาได้หรือไม่ ดังนั้นก่อนการใช้ยานี้มารดาควรแจ้งแพทย์ด้วยว่าเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเอง

ยาไซโคลเพนโทเลทได้รับการรับรองและบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยระบุวัตถุประสงค์การใช้เพื่อขยายม่านตาและตรวจสอบความผิดปกติทางสายตาของผู้ป่วยในสถานพยาบาล ถึงแม้ไซโคลเพนโทเลทจะเป็นยาหยอดตา แต่ก็สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ การใช้ยาผิดขนาดจึงอาจส่งผลต่อระบบการทำงานภายในร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้นการใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

ไซโคลเพนโทเลทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไซโคลเพนโทเลท

ยาไซโคลเพนโทเลทมีสรรพคุณดังนี้

  • ใช้ขยายรูม่านตาก่อนเข้ารับการผ่าตัดทางตา
  • ใช้ในการตรวจสอบ/ทดสอบทางสายตาของจักษุแพทย์
  • ใช้หยอดตาในเด็กเล็กเพื่อวัดสายตาสำหรับตัดแว่น

ไซโคลเพนโทเลทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไซโคลเพนโทเลทคือ ตัวยาจะทำให้เกิดการขยายของรูม่านตา โดยมีการออกฤทธิ์เร็ว แต่มีช่วงเวลาขยายรูม่านตาเพียงประมาณ 25 - 75 นาทีซึ่งน้อยกว่า Atropine จากนั้นฤทธิ์ของยาจะเริ่มเบาบางลงจนกระทั่งรูม่านตากลับมาทำงานเป็นปกติ

ไซโคลเพนโทเลทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไซโคลเพนโทเลทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.5%, 1% และ 2% (เทียบเท่า 5, 10 และ 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร)

ไซโคลเพนโทเลทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไซโคลเพนโทเลทมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาเช่น

  • ผู้ใหญ่: หยอดตา 1 - 2 หยดโดยใช้ขนาดความเข้มข้น 0.5%, 1% หรือ 2% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หากจำเป็นแพทย์อาจหยอดซ้ำอีกครั้งหลังการหยอดครั้งแรกไปแล้ว 5 - 10 นาที
  • เด็ก: หยอดตา 1 - 2 หยดโดยใช้ยาที่มีความเข้มข้น 0.5%, 1% หรือ 2% ตามคำสั่งแพทย์ หากจำเป็นแพทย์จะหยอดซ้ำหลังการหยอดครั้งแรกไปแล้วประมาณ 5 - 10 นาที และมักใช้ยาที่มี ความเข้มข้นไม่เกิน 1% ในการหยอดครั้งหลังนี้
  • เด็กทารก: หยอดตา 1 หยดโดยใช้ยาที่มีความเข้มข้น 0.5% และแพทย์อาจแนะนำการใช้ นิ้วมือนวดคลึงเบาๆในบริเวณใกล้ถุงน้ำตาเพื่อทำให้การดูดซึมยาเป็นไปอย่างเหมาะสม

*****หมายเหตุ:

  • โดยทั่วไปม่านตาจะกลับมาทำงานได้ตามปกติหลังหยอดตาไปแล้วประมาณ 24 ชั่วโมง
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไซโคลเพนโทเลท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไซโคลเพนโทเลทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไซโคลเพนโทเลทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

หลังหยอดตาด้วยยาไซโคลเพนโทเลทอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น เกิดความดันสูงในลูกตา (ปวดตา ปวดศีรษะมาก) อาจรู้สึกแสบร้อนหรือระคายเคืองในลูกตา ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน ในกรณีที่ใช้ยาที่มีความเข้มข้นมากเช่น ขนาดความแรง 2% อาจเกิดการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายจนทำให้เกิดอาการเดินเซ พูดไม่ชัด กระสับกระส่าย/กระวนกระวาย เกิดเห็นภาพหลอน ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการชักตามมา

มีข้อควรระวังการใช้ไซโคลเพนโทเลทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไซโคลเพนโทเลทดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีขนาดความเข้มข้นเกิน 0.5% กับเด็กทารก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน (Narrow-angle glaucoma)
  • ยานี้ใช้หยอดตาเท่านั้น ห้ามเผลอนำไปใช้เป็นยาฉีด ด้วยจะส่งผลรบกวนการทำงานของประสาทส่วนกลางหรือสมอง
  • หลังการใช้ยานี้ใหม่ๆควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักร เพราะยาจะทำให้เกิดตาพร่าเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซโคลเพนโทเลทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไซโคลเพนโทเลทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไซโคลเพนโทเลทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาไซโคลเพนโทเลทร่วมกับยา Phenylephrine อาจส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจและทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไซโคลเพนโทเลทหยอดตาร่วมกับยาหยอดตาประเภท Acetylcholine/Choliner gic drugs จะเกิดการต้านฤทธิ์กัน โดยฤทธิ์การรักษาของยา Acetylcholine จะลดน้อยลงไป ควรเว้นระยะเวลาของการใช้ให้ห่างกันหรือห้ามใช้ในเวลาเดียวกัน
  • การใช้ยาไซโคลเพนโทเลทหยอดตาร่วมกับยาหยอดตาที่ใช้รักษาโรคต้อหินเช่น Pilocarpine จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของ Pilocarpine ด้อยลงไปจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาพร้อมกัน

ควรเก็บรักษาไซโคลเพนโทเลทอย่างไร?

ควรเก็บยาไซโคลเพนโทเลทในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไซโคลเพนโทเลทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไซโคลเพนโทเลทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cyclomydril (ไซโคลมายดริล)Alcon
Cyclogyl (ไซโคลจิล)Alcon

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Cyclopentolate [2015,April18]
2. http://www.mims.com/usa/drug/info/Cyclopentolate%20Hydrochloride/Cyclopentolate%20Hydrochloride
%20Solution-%20Drops?type=full
[2015,April18]
3. http://www.mims.com/Philippines/drug/info/Xilopen/ [2015,April18]
4. http://www.mims.com/USA/Drug/info/Cyclomydril/cyclomydril%20solution-%20drops?type=full [2015,April18]
5. http://www.drugs.com/cons/cyclopentolate-ophthalmic.html[2015,April18]
6. http://www.drugs.com/drug-interactions/cyclopentolate-ophthalmic-index.html?filter=2&generic_only= [2015,April18]