ไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 พฤศจิกายน 2558
- Tweet
- บทนำ
- ไซโคลเบนซาพรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไซโคลเบนซาพรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไซโคลเบนซาพรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไซโคลเบนซาพรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไซโคลเบนซาพรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไซโคลเบนซาพรีนอย่างไร?
- ไซโคลเบนซาพรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไซโคลเบนซาพรีนอย่างไร?
- ไซโคลเบนซาพรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- ไฟโบรมัยอัลเจีย:กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia)
บทนำ
ยาไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine) จัดเป็นยาคลายกล้ามเนื้อซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งกระแสประสาทที่สร้างความรู้สึกเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ ส่วนมากจะใช้ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดหรือต้องพักรักษาตัวทั้งนี้เพื่อให้กล้ามเนื้อที่มีอาการปวดฟื้นสภาพดีเหมือนเดิม รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานทั้งชนิดเม็ด แคปซูล และยาน้ำแขวนตะกอน ในบางประเทศได้พัฒนายานี้ในรูปแบบของยาอมใต้ลิ้นอีกด้วย
หลังการรับประทานตัวยาจะมีการดูดซึมและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 33 - 55% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของตัวยาในกระแสเลือดอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 18 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด แพทย์ต้องนำประวัติสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นประเด็นสำคัญๆมาประกอบก่อนที่จะพิจารณาและเห็นสมควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยเช่น
- ผู้ป่วยเคยแพ้ยาไซโคลเบนซาพรีนหรือไม่
- ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนหรือไม่เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์ ผู้ป่วยโรคตับ โรคต้อหิน หรือมีภาวะปัสสาวะขัด หรือมีภาวะต่อมลูกหมากโต
- อนึ่ง หากเป็นผู้ป่วยสูงอายุอาจได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
โดยทั่วไปยาไซโคลเบนซาพรีนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงเช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน และง่วงนอน เป็นต้น
ยาไซโคลเบนซาพรีนจำเป็นต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ด้วยเป็นกลุ่มยาที่อาจก่ออันตรายต่อผู้ที่ใช้ยานี้ผิดขนาดหรือผิดวิธี
ไซโคลเบนซาพรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไซโคลเบนซาพรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้คือเป็นยาคลายกล้ามเนื้อและบรรเทาอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ
ไซโคลเบนซาพรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไซโคลเบนซาพรีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ก้านสมองโดยยับยั้งหรือลดการนำกระแสประสาทที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดของกล้ามเนื้อจึงทำให้อาการเจ็บปวดกล้าม เนื้อของผู้ป่วยบรรเทาเบาบางลง
ไซโคลเบนซาพรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาไซโคลเบนซาพรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5, 7.5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 15 และ 30 มิลลิกรัม/แคปซูล
ไซโคลเบนซาพรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไซโคลเบนซาพรีนมีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่อายุ 15 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นและเป็นกรณีๆไป
*อนึ่ง: เพื่อหลีกเลี่ยงอาการคลื่นไส้อาเจียนหรืออาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้จึงควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไซโคลเบนซาพรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไซโคลเบนซาพรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไซโคลเบนซาพรีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไซโคลเบนซาพรีนให้ตรงเวลา
ไซโคลเบนซาพรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไซโคลเบนซาพรีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
ก. อาการข้างเคียงที่พบบ่อย: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ ตาพร่า ปาก แห้ง คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร
ข. อาการข้างเคียงที่พบได้บ้าง: เช่น ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก หงุดหงิด กระสับกระส่าย ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลียไม่มีแรง นอนไม่หลับ การรับรสชาติเปลี่ยนไป ประสาทหลอน หัวใจเต้นผิดจังหวะ
มีข้อควรระวังการใช้ไซโคลเบนซาพรีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโคลเบนซาพรีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามดื่มสุราร่วมกับการรับประทานยาไซโคลเบนซาพรีนด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงมากยิ่งขึ้น
- การใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องมีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ระยะเวลาของการใช้ยานี้ไม่ควรเกิน 2 - 3 สัปดาห์หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นเช่น ใบหน้าบวม อึดอัด หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคัน ลมพิษขึ้นเต็มตัว หากพบอาการเหล่านี้ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซโคลเบนซาพรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไซโคลเบนซาพรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไซโคลเบนซาพรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ห้ามใช้ยาไซโคลเบนซาพรีนร่วมกับยากลุ่ม MAOI ด้วยมีความเสี่ยงกับการเกิดภาวะ Serotonin syndrome ซึ่งจะมีอาการประสาทหลอน รู้สึกสับสน อาจมีอาการลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ ตาพร่า เป็นตะคริวที่ท้อง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไซโคลเบนซาพรีนร่วมกับยา Bupropion, Tramadol เพราะอาจทำให้เกิดอาการชักโดยเฉพาะกับผู้ป่วยสูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไซโคลเบนซาพรีนร่วมกับยา Diphenylhydramine จะทำให้เกิดอาการง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง หน้าแดง เหงื่อออกน้อย ปัสสาวะขัด เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องผูก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไซโคลเบนซาพรีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไซโคลเบนซาพรีนในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไซโคลเบนซาพรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไซโคลเบนซาพรีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amrix (เอมริกซ์) | ECR Pharmaceuticals |
Flexeril (เฟล็กเซริล) | Merck & Company Inc. |
Mylan CE 30 (มายแลน ซีอี 30) | Mylan Pharmaceuticals Inc. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cyclobenzaprine#Comparison_to_other_medications [2015,Oct17]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/cyclobenzaprine-oral-route/before-using/drg-20063236 [2015,Oct17]
- http://www.drugs.com/flexeril.html [2015,Oct17]
- http://mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Cyclobenzaprine [2015,Oct17]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/cyclobenzaprine-index.html?filter=3&generic_only=#M [2015,Oct17]