ไซโคลพลีจิก: ยาหยอดตา (Cycloplegic eye drops)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิก (Cycloplegic eye drops) คือ ยาประเภท Muscarinic receptors blockers (Antimuscarinic drug) ซึ่งมักนำไปใช้รักษาและตรวจสอบความผิดปกติของลูกตา ทั่วไปใช้ในลักษณะเป็นยาหยอดตา โดยตัวยาในกลุ่มนี้แต่ละตัวมีคุณสมบัติขยายรูม่านตาและยังนำมาใช้รักษาอาการม่านตาอักเสบ(ยูเวียอักเสบ/Uveitis)อีกด้วย

หลักการทำงานของยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกคือ ทำให้กล้ามเนื้อที่อยู่รอบบริเวณภายในลูกตา/กล้ามเนื้อเพื่อการเพ่ง เป็นอัมพาตชั่วคราว ตาของผู้ป่วยจึงไม่สามารถเพ่งการ มองเห็นในระยะใกล้ - ระยะห่าง/ระยะไกลได้ หรืออาจกล่าวว่าผู้ป่วยจะมีสภาวะของการมองเห็นภาพ คงที่เพียงระยะเดียวเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อจักษุแพทย์ในการตรวจวัดหรือตรวจสอบความผิดปกติ ของสายตา

ผลจากการใช้ยากลุ่มนี้จะก่อให้เกิดการมองเห็นเป็นภาพไม่ชัด/เบลอๆ (Blurred vision) ประมาณ 2 - 48 ชั่วโมงทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของตัวยาแต่ละตัว

ขอยกตัวอย่างรายการของยากลุ่มไซโคลพลีจิกดังนี้

  • Atropine: จัดเป็นยาหยอดตาที่มีฤทธิ์แรงมากที่สุดของยากลุ่มนี้ ขนาดความเข้มข้นที่นำ มาใช้เป็นยาแผนปัจจุบันคือ 0.5%, 1% และ 2% นอกจากนี้ยังมีรูปแบบเป็นยาขี้ผึ้งป้ายตาขนาดความเข้มข้น 1% หลังหยอดตา ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ขยายม่านตาภายในประมาณ 30 นาทีและเกิดภาวะระยะการมองเห็นคงที่ภายใน 60 - 180 นาที
  • Cyclopentolate: มีลักษณะเป็นยาหยอดตาขนาดความเข้มข้น 0.5%, 1% และ 2% หลังจากหยอดตา ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ขยายม่านตาภายใน 15 - 30 นาที เกิดภาวะการมองเห็นคงที่ภายในประมาณ 15 นาที
  • Homatropine: มีลักษณะเป็นยาหยอดตาขนาดความเข้มข้น 2% และ 5% หลังหยอดตา รูม่านตาจะขยายตัวภายใน 30 - 60 นาที มีภาวะการมองเห็นภาพคงที่ภายใน 30 - 60 นาที
  • Tropicamide: จำหน่ายเป็นรูปแบบยาหยอดตาขนาด 0.5% และ 1% หลังจากหยอดตา รูม่านตาจะขยายภายใน 15 - 30 นาที และสายตาจะปรับเป็นสภาวะการมองเห็นภาพคงที่ภายใน 25 นาทีโดยประมาณ

ทั้งนี้ การใช้ยากลุ่มนี้มักจะเกิดขึ้นในสถานพยาบาลเท่านั้น ปัจจุบันคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ Atropine, Cyclopentolate และ Tropicamide อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ไซโคลพลีจิก

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้ขยายรูม่านตาเพื่อตรวจสอบความผิดปกติภายในลูกตา
  • ลดอาการปวดตาเนื่องจากอาการอักเสบหรือบาดแผลที่เกิดกับตา
  • ใช้หยอดตาหลังผ่าตัดลูกตาเพื่อช่วยให้ลูกตาอยู่ในสภาวะพักและฟื้นสภาพได้เร็วขึ้น
  • ใช้ในการวัดสายตาของเด็ก

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มไซโคลพลีจิกจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Acetylcholineในลูกตา ทำให้รูม่านตาขยายและกล้ามเนื้อเรียบในลูกตาไม่สามารถหดหรือขยายตัวได้ชั่วคราว ส่งผลให้ลดอาการปวดในตาที่มีสาเหตุจากม่านตาอักเสบ (ยูเวียอักเสบ) หรือมีบาดแผลที่กระจกตา (กระจกตาเป็นแผล) อีกทั้งง่ายต่อการตรวจสอบลูกตาของจักษุแพทย์

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.5%, 1% และ 2%
  • ยาขี้ผึ้งป้ายตา ขนาดความเข้มข้น 1%

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกมีขนาดการใช้อย่างไร?

การใช้ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ใหญ่ เช่น

  • Atropine: เช่น หยอดยา 1 หยดวันละ 2 - 3 ครั้งเป็นเวลา 1 - 3 วันก่อนทำการทดสอบสายตา
  • Homatropine: เช่น หยอดยา 1 หยดลงในตาแต่ละข้าง เมื่อผ่านไป 5 - 10 นาทีให้หยอดยาซ้ำอีก 1 ครั้ง
  • Cyclopentolate: เช่น หยอดยา 1 หยดลงในตา หลังจากนั้น 5 -10 นาทีให้หยอดซ้ำอีก 1 ครั้ง
  • Tropicamide: เช่น หยอดยา 1 หยดลงในตาแต่ละข้าง จากนั้นหยอดยาซ้ำอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 5 นาที

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิก ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น ใช้ยา/หยอดยาแล้วคลื่นไส้มาก ตาแดง ปวดตามากขึ้น ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) เช่น

  • Atropine: อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้,รวมถึงทำให้มีอาการหัวใจเต้นเร็ว, วิงเวียน, คลื่นไส้, การทรงตัวได้ไม่ดี, ตากลัวแสง (ตาไม่สู้แสง), ปากคอแห้ง, รู้สึกสับสน, และประสาทหลอน เป็นต้น
  • Homatropine: อาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง,

ภาวะหัวใจล้มเหลว, ต้อหิน

  • Cyclopentolate: อาจก่อให้เกิดตาพร่า, แสบตา, และ ตากลัวแสง (ตาไม่สู้แสง),
  • Tropicamide: อาจเกิดความดันตาสูง, ปวดตา, เกิดตาแดง การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน, ต้อหิน (Acute angle-closure glaucoma)

มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิก เช่น

  • ห้ามใช้ยาหยอดตา Atropine และ Homatropine กับเด็กที่เป็น ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) หรือ ทารกที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหิน (Angle closure glaucoma)
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Cyclopentolate กับทารกแรกเกิดหรือเด็กเล็กเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษจากยานี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาหยอดตา Atropine ร่วมกับยา Anticholinergics (Antimuscarinic drug) ตัวอื่น สามารถทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กันและก่อให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงต่างๆตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาหยอดตา Cyclopentolate หรือ Tropicamide ร่วมกับยา Phenylephrine อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมถึงมีภาวะหัวใจเต้นเร็ว หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วม กัน

ควรเก็บรักษายาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกอย่างไร?

ควรเก็บยากลุ่มไซโคลพลีจิก: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาหยอดตากลุ่มไซโคลพลีจิก มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Atroren-P (อะโทรเรน-พี) Indoco
Cyclogyl (ไซโคลจิล) Alcon
Hemasol (ฮีมาซอล) Ashford
Mydriacyl (มายเดรียซิล) Alcon

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cycloplegia [2021,March13]
  2. https://www.verywellhealth.com/presbyopia-reading-glasses-3422051 [2021,March13]
  3. https://www.verywellhealth.com/cycloplegic-eye-drop-3421805 [2021,March13]
  4. https://globalrph.com/drugs/ophthalmic-mydriatics-cycloplegics/ [2021,March13]
  5. https://www.reviewofoptometry.com/article/open-your-eyes-to-cycloplegia [2021,March13]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cyclogyl/ [2021,March13]
  7. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Atroren-P/?type=brief [2021,March13]
  8. https://www.medsafe.govt.nz/profs/datasheet/a/Atropteyedrop.pdf [2021,March13]
  9. https://www.drugs.com/drug-interactions/accuhist-drops-with-cyclopentolate-ophthalmic-631-16266-759-0.html [2021,March13]
  10. https://www.drugs.com/drug-interactions/tropicamide-ophthalmic-with-viravan-t-2263-0-1858-1828.html [2021,March13]