ไซเลียม (Psyllium)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไซเลียม (Psyllium) เป็นยาตัวหนึ่งในกลุ่มยาแก้ท้องผูก (ยาระบาย) ที่เพิ่มเนื้ออุจจาระให้มีมากขึ้นและเกิดการกระตุ้นให้อยากขับถ่าย

ยาไซเลียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไซเลียม

ยาไซเลียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ช่วยระบายอุจจาระ ใช้เป็นยาระบายในหญิงตั้งครรภ์ ช่วยระบายในผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดลำไส้ใหญ่

ยาไซเลียมออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไซเลียมออกฤทธิ์โดยเพิ่มปริมาณกากใยให้กับลำไส้ ทำให้เกิดการกระตุ้นการอยากถ่าย อุจจาระ

ยาไซเลียมมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไซเลียมมีรูปแบบจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาผงขนาด 283, 425 และ 528 กรัม โดยผสมน้ำก่อนรับประทานในปริมาณตามคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกร หรือเอกสารกำกับยา

ยาไซเลียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

การรับประทานยาไซเลียมมีขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ ลักษณะอาการป่วย, เพศ, และ อายุ ดังนั้นเพื่อความถูกต้องและเหมาะสมควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายขนาดรับประทานในผู้ป่วย แต่ละคน ไม่ควรซื้อยากินเอง

อนึ่ง:

  • สำหรับผู้ใหญ่ ขนาดสูงสุดที่รับประทานแก้ท้องผูกไม่ควรเกิน 3.5 กรัม/ครั้ง จำนวนครั้งต่อวันขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ โดยเมื่อกระจายผงยาลงในน้ำแล้วควรดื่มยาทันที
  • สำหรับในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) การใช้ยานี้ควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไซเลียม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซเลียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาหลายตัวสามารถผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไซเลียม สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาไซเลียมมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ยาไซเลียมมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจก่อให้เกิดภาวะอึดอัดในช่องท้องจากการพองตัวจากกากใยของยาที่รับประทาน

ยาไซเลียมมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

การกินยาไซเลียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นได้ เช่น

  • เมื่อกินร่วมกับยารักษาเบาหวาน อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งกลุ่มยารักษาเบาหวาน เช่นยา ไกลมีไพไรด์ (Glimepiride) และ ยาอินซูลิน (Insulin)

มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาไซเลียม?

ข้อควรระวังเมื่อกินยาไซเลียม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเบาหวาน ด้วยยานี้มีผลกับระดับน้ำตาลในกระแสเลือดดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ ปฏิกิริยากับยา’ตัวอื่นๆ
  • ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีสภาวะทางเดินลำไส้อุดตัน เพราะอาจเพิ่มอาการลำไส้อุดตันให้รุนแรงขึ้น (ปวดท้องและอาเจียนรุนแรงขึ้น)
  • การกินยาไซเลียม ควรต้องดื่มน้ำตามให้มากเพียงพอ เพื่อป้องกันการอุดตันของตัวยาในช่องทางเดินอาหาร
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาไซเลียมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาไซเลียมอย่างไร?

สามารถเก็บยาไซเลียม เช่น

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาให้พ้นความชื้น ห่างแสง/แสงแดด และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไซเลียมมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไซเลียม มีชื่อยาทางการค้า และมีบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
AGIOLAX (อะจิโอแลค) Madaus
DETOLAX (ดีโทแลค) Madaus
FYBOGEL (ไฟโบเจล) Reckitt Benckiser Healthcare
IGOL (ไอกอล) Raptakos
METAMUCIL (เมตามิวซิล) Pfizer
MUCILIN (มูซิลิน) Berlin Pharm

บรรณานุกรม

  1. นพ. สมชาย ลีลากุศลวงศ์. (2551). แนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคท้องผูก ท้องเสีย และ IBS (ดีวีดี). กรุงเทพฯ: โรงแรมสยามซิตี้
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2f [2020,Oct10]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Laxative [2020,Oct10]
  4. https://www.drugs.com/ppa/psyllium.html [2020,Oct10]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Psyllium [2020,Oct10]