ไซทาราบีน (Cytarabine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไซทาราบีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไซทาราบีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไซทาราบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไซทาราบีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ไซทาราบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไซทาราบีนอย่างไร?
- ไซทาราบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไซทาราบีนอย่างไร?
- ไซทาราบีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง (Selfcare of neutropenia during cancer therapy)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
บทนำ
ยาไซทาราบีน(Cytarabine) หรือจะเรียกว่า ไซโทซีน อะราบิโนไซด์(Cytosine arabinoside) หรือ อะรา-ซี(Ara-C) หรือ Arabinofuranosyl cytidine เป็นยาเคมีบำบัด(Cytotoxic chemotherapy) ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคมะเร็งหลายชนิดอาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน เป็นต้น ยาไซทาราบีนถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) และอีก 10 ปีต่อมาจึงถูกนำมาใช้ทางคลินิก รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไซทาราบีนเป็นยาฉีด โดยมีช่องทางการฉีดยาหลายแบบ เช่น ฉีดเข้าหลอดเลือดโดยตรง หยดเข้าหลอดเลือด ฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
ตัวยาไซทาราบีนในกระแสเลือดสามารถผ่านรก และเข้าในสมองได้ ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้ ตัวยาไซทาราบีนบางส่วนที่ผ่านเข้าไต จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ สำหรับระยะเวลาที่ยาไซทาราบีนจะอยู่ในร่างกายได้นานเพียงใดนั้น จะขึ้นอยู่กับวิธีการให้ยากับผู้ป่วย เช่น กรณีให้ยาโดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำตัวยาจะถูกกำจัดเป็น 2 ช่วง (Biphasic half life) ในช่วง 10 นาทีแรก ร่างกายจะเริ่มกำจัดยาไซทาราบีนได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นเข้าช่วงที่ 2 ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1–3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้ง แต่หากผู้ป่วยได้รับการฉีดยาชนิดนี้เข้าทางน้ำไขสันหลัง จะต้องใช้เวลาในการกำจัดยานี้นานถึงประมาณ 100–263 ชั่วโมง
สำหรับปริมาณการให้ยาไซทาราบีนกับผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น น้ำหนักตัว มีโรคประจำตัวอื่นๆนอกจากมะเร็งร่วมด้วยหรือไม่ รวมถึงชนิดของมะเร็งที่ตอบสนองต่อการใช้ยานี้ แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจในการใช้ยานี้ในขนาดที่เหมาะสมตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องมารับการให้ยานี้ได้ดีที่สุด
ยาไซทาราบีนมีผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวังคือ การกดไขกระดูก จึงทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดต่างๆลดลง และส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดภาวะเลือดออกง่าย ปวดท้อง รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร ท้องเสีย เกิดแผลในช่องปาก ตับทำงานผิดปกติ รวมถึงมีอาการ ผมร่วง
สำหรับข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วยขณะได้รับยาไซทาราบีนมีดังนี้ เช่น
- ล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ และควรอยู่ในที่ไม่มีผู้คนแออัด ด้วยเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บเป็นแผลเลือดออก รวมถึงการ แปรงฟัน ต้องใช้ขนแปรงอ่อน เพื่อป้องกันเลือดออกตามซอกเหงือก
- กรณีได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยานี้ เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง มีผื่นคัน มีไข้ ฯลฯ ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเพื่อขอรับการบำบัดรักษษอาการข้างเคียงดังกล่าว
- ในสูตรตำรับของยาไซทาราบีนอาจมีสารประเภท Benzyl alcohol อยู่ด้วยซึ่งถือเป็นข้อห้ามใช้กับทารกด้วยจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงต่อทารก
- ขณะได้รับยาไซทาราบีน ห้ามรับการฉีดวัคซีนใดๆ ด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะมีประสิทธิภาพต่ำลง และอาจติดเชื้อจากวัคซีนเสียเอง
- ผู้ป่วยมะเร็ง หลังจากได้รับยาไซทาราบีน อาจเกิดอาการ Tumor lysis syndrome ซึ่งคือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการที่เซลล์มะเร็งตายพร้อมๆกันในปริมาณมากมาย จนส่งผลให้เกิดสารเคมีที่เป็นของเสียจากเซลล์มะเร็งเป็นปริมาณมากมายในเลือดจนเกิดเป็นพิษต่อร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการ หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดตะคริว ปวดท้อง ท้องเสีย มีอาการซึม และอาจเกิดไตวายเฉียบพลัน หากพบเห็นกรณีเหล่านี้ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- สตรีที่ได้รับยาไซทาราบีน ต้องป้องกันมิให้ตั้งครรภ์ ด้วยตัวยาไซทาราบีนสามารถทำอันตรายต่อทารกได้อย่างรุนแรง ดังนั้นระหว่างที่ได้รับยานี้แล้วพบว่าตนเองตั้งครรภ์ขึ้นมา จะต้องรีบแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบโดยเร็วที่สุด
- ห้ามหยุดการรักษาโรคมะเร็งไปเองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
อนึ่ง คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาไซทาราบีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยเราสามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน และ หากมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับยาไซทาราบีนเพิ่มเติม สามารถสอบถามจากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษาหรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลได้ตลอดเวลา
ไซทาราบีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไซทาราบีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (Chronic Myelogenous Leukemia)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin lymphoma)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)ชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล (Acute Myeloid Leukemia) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะแพร่กระจายเข้าสมอง/เยื่อหุ้มสมอง(Meningeal Leukemia)
ไซทาราบีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไซทาราบีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรม (DNA)ของเซลล์มะเร็งในระยะที่เซลล์มะเร็งมีการเพิ่มจำนวนโครโมโซม(S-phase) จึงส่งผลทำให้เซลล์มะเร็งตายลงจึงหยุดการแพร่กระจาย และเกิดฤทธิ์ในการรักษาได้ตามสรรพคุณ
ไซทาราบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไซทาราบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่ส่วนประกอบของตัวยา Cytarabine ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร, 500 มิลลิกรัม/25 มิลลิลิตร, 2,000 มิลลิกรัม/20 มิลลิลิตร, 1กรัม/10 มิลลิลิตร, 100 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร, 500 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ไซทาราบีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไซทาราบีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. ยาไซทาราบีนมีขนาดการบริหารยาสำหรับ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน , มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล, มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล , มะเร็งเม็ดเลือดขาว เช่น
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2–6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลาการให้ยานาน 24 ชั่วโมงขึ้นไป หรือจะฉีดยาเข้าหลอดเลือดฯโดยตรง และแบ่งฉีดให้ผู้ป่วยตามคำสั่งแพทย์ การให้ยาผู้ป่วยต้องกระทำติดต่อกันเป็น เวลา 5–10 วัน และผู้ป่วยอาจต้องมารับการให้ยานี้ในลักษณะนี้ซ้ำอีกทุกๆ 2 สัปดาห์
- เด็ก: การให้ยานี้กับเด็กให้เป็นไปตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา หรือตามดุลยพินิจของแพทย์
ข. สำหรับ Meningeal Leukemia:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าน้ำไขสันหลังขนาด 5–75 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน หรือให้ยา 1 ครั้งทุก 4 วัน หรือให้ยา 30 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย 1 ตารางเมตร ทุกๆ 4 วัน จนกระทั่งน้ำไขสันหลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
- เด็ก: การให้ยานี้กับเด็กให้เป็นไปตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาหรือตามดุลยพินิจของแพทย์
อนึ่ง:
- สำหรับผู้ที่มีโรคตับ โดยมีระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือด ชนิด ทรานซามิเนส (Transaminases) สูง แพทย์อาจต้องลดขนาดการให้ยานี้ลง 50%
- การให้ยานี้ทางหลอดเลือดฯสามารถใช้น้ำกลั่นปราศจากเชื้อเป็นตัวเจือจางยา ก่อนฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดดำ หรือใช้วิธีเจือจางยาด้วย 0.9% Sodium chloride หรือ 5% Dextrose เป็นปริมาณ 250–1000 มิลลิลิตร เพื่อหยดยาเข้า หลอดเลือดฯ
- กรณีให้ยานี้เข้าน้ำไขสันหลัง ให้เจือจางตัวยาด้วย 0.9% Sodium chloride หรือใช้ Elliot’s B solution (Elliots B solution) หรือ Lactated Ringer’s solution
- ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
- มารับการตรวจร่างกาย /มาโรงพยาบาล ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามหยุดทำการรักษาโรคมะเร็ง โดยมิได้ปรึกษาแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไซทาราบีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซทาราบีนอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาไซทาราบีนได้ ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อ แพทย์ พยาบาล ผู้ที่ทำการบำบัดรักษาเพื่อนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว
ไซทาราบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไซทาราบีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ตับอ่อนอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เส้นประสาทอักเสบ เกิดพิษกับสมองน้อย/สมองอักเสบ อิดโรย/อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีไข้ วิงเวียน
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ เกิดดีซ่าน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน อาจเกิดแผลตามผิวหนัง มีภาวะผมร่วง เกิดลมพิษ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หลอดเลือดดำอักเสบแบบมีลิ่มเลือด มีภาวะเลือดออกง่าย
- ผลต่อตา: เช่น อาจมีอาการม่านตาอักเสบ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก เม็ดเลือดต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดแผลในลำคอ หายใจขัด/หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)ได้ง่าย ปอดบวม
มีข้อควรระวังการใช้ไซทาราบีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไซทาราบีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- กรณีมีอาการวิงเวียนหลังจากรับการฉีดยาไซทาราบีน ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะทุกชนิด รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการให้ยานี้/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไซทาราบีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไซทาราบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไซทาราบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาไซทาราบีนร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคคางทูม(Mumps virus vaccine) วัคซีนป้องกันวัณโรค(BCG) เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อคางทูม หรือเชื้อวัณโรคดังกล่าว ด้วยระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยขณะที่ได้รับยาไซทาราบีนจะอยู่ในภาวะอ่อนแอ
- ห้ามใช้ยาไซทาราบีนร่วมกับ ยา Adalimumab เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆได้อย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยาไซทาราบีนร่วมกับ ยาClozapine เพราะจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และมีการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไซทาราบีนร่วมกับ Vitamin E ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาไซทาราบีนต่ำลง
ควรเก็บรักษาไซทาราบีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไซทาราบีน ตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไซทาราบีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไซทาราบีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cytarine (ไซทารีน) | Fresenius Kabi |
Cytosar CS (ไซโทซาร์ ซีเอส) | Pfizer |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Cytarine , Cytosar CS, Cytosar, Cytabin, Cytarine, Cytosar-U, Tarabine, Depocyt
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cytarabine#Mechanism_of_action [2017,Nov11]
- http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/cytarabine.aspx [2017,Nov11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/cytarabine/?type=brief&mtype=generic [2017,Nov11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/cytarine/?type=brief [2017,Nov11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/cytosar%20cs/?type=brief [2017,Nov11]
- https://www.drugs.com/dosage/cytarabine.html [2017,Nov11]
- https://www.drugs.com/pro/cytarabine.html [2017,Nov11]
- https://www.drugs.com/sfx/cytarabine-side-effects.html [2017,Nov11]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/cytarabine-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Nov11]
- http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/086/11.PDF [2017,Nov11]
- http://medinfo.psu.ac.th/smj2/smj24_4/pdf24_4/11porntap.pdf [2017,Nov11]