ไคโมทริปซิน (Chymotrypsin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ไคโมทริปซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไคโมทริปซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไคโมทริปซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไคโมทริปซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ไคโมทริปซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไคโมทริปซินอย่างไร?
- ไคโมทริปซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไคโมทริปซินอย่างไร?
- ไคโมทริปซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)
- หลอดลมอักเสบในเด็ก (Bronchitis in children)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- ยาขับเสมหะ (Expectorants) และยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
บทนำ
ยาไคโมทริปซิน (Chymotrypsin) เป็นสารประเภทเอนไซม์ผลิตได้จากตับอ่อน และทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารประเภทโปรตีน โดยจะออกฤทธิ์และทำงานในลำไส้เล็กส่วนที่เรียกว่า ดูโอดีนัม (Duodenum) ไคโมทริปซินมีองค์ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนหลายตัวเช่น Tryptophan, Tyrosine, Phenylalanine, Leucine และ Methionine
สำหรับทางอุตสาหกรรมยาได้พัฒนายาไคโมทริปซินในรูปแบบของยาที่ใช้กับช่องปาก เพื่อลดอาการติดเชื้อของแผลในปาก ช่วยละลายเสมหะในผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบ, ผู้ป่วยโรคปอด, ทำให้การหายใจคล่องขึ้น และยังนำไปใช้กับผู้ป่วยไซนัสอักเสบ บางรูปแบบของยาไคโมทริปซินถูกพัฒนาไปใช้เป็นยาสำหรับผิวหนัง ช่วยลดอาการปวดบวมของการอักเสบที่ผิวหนัง หรือในรูปแบบของยาทางจักษุวิทยา/โรคตา โดยจะใช้ในระหว่างการผ่าตัดต้อกระจกเพื่อลดการทำลายเนื้อเยื่อต่างๆในลูกตา จะเห็นได้ว่ายานี้ต้องอาศัยการคัดกรองจากแพทย์ก่อนการใช้ ด้วยมีรายละเอียดและมีความจำเพาะ เจาะจงในแต่ละอาการโรคที่แตกต่างกันออกไป
ไคโมทริปซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไคโมทริปซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาและบรรเทาอาการบวมจากการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆตามร่างกาย
- เป็นยาที่ใช้ระหว่างทำหัตถการในการผ่าตัดตาในผู้ป่วยต้อกระจก
ไคโมทริปซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ด้วยยาไคโมทริปซินเป็นเอนไซม์ กลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาจึงเป็นการทำหน้าที่ย่อยและกำ จัดเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายหรือที่เป็นบาดแผล ซึ่งก่อให้เกิดอาการอักเสบตามมา จากกลไกนี้ทำให้อาการบวมและการอักเสบลดลงตามลำดับ
ไคโมทริปซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไคโมทริปซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาอมใต้ลิ้น ขนาด 100,000 ยูนิต/เม็ดโดยมีเอนไซม์ Trypsin เป็นตัวยาผสมร่วม
- ยาเตรียมที่เป็นสารละลายสำหรับหัตถการผ่าตัดตาขนาด 150 และ 300 ยูนิต (หน่วย, Unit)/ขวด(ไวอัล, Vial)
- ยาฉีด ขนาด 5,000 ยูนิต/มิลลิลิตร
ไคโมทริปซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยา/การบริหารยาไคโมทริปซินต้องเป็นการสั่งใช้ยาโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งจะแตกต่าง กันในแต่ละโรค ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการใช้ยานี้สำหรับการผ่าตัดต้อกระจก เช่น
- ผู้ใหญ่: ล้างลูกตาส่วนที่จะผ่าตัดด้วยสารละลายไคโมทริปซิน 1 - 2 มิลลิลิตร โดยเจือจางเป็นสารละลายตามมาตรฐานที่ระบุในเอกสารกำกับยา แล้วใช้ยานี้ล้างซ้ำอีกอย่างน้อย 2 มิลลิลิตรหลัง จากการผ่าตัดเสร็จแล้วประมาณ 2 - 4 นาที
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลศึกษาที่แน่ชัดถึงขนาดยาและผลการรักษาของยาที่รวมถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องเป็นดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไคโมทริปซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไคโมทริปซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ไคโมทริปซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไคโมทริปซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ต่างๆ เช่น
ก. รูปแบบยาที่ใช้กับตา: เมื่อผ่าตัดต้อกระจกอาจทำให้ความดันลูกตาเพิ่มขึ้น ก่อให้ เกิดตาบวมและอักเสบ
ข. รูปแบบที่เป็นยาฉีดและยารับประทาน (ยาอมใต้ลิ้น): อาจพบอาการแพ้ยาได้อย่างรุนแรงหรือเกิดมีผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้ไคโมทริปซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการยาใช้ยาไคโมทริปซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยต้อกระจกประเภทแต่กำเนิด (Congenital cataracts)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับวายหรือโรคไตวายในขั้นรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 20 ปี
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือดผิดปกติ ผู้ป่วยโรคตับโรคไตที่อยู่ในระยะรุนแรง
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในปริมาณมากๆ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไคโมทริปซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไคโมทริปซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ในรูปแบบของยาไคโมทริปซินที่ใช้ในปัจจุบัน ยังไม่พบเห็นปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานตัวอื่นแต่อย่างใด
ควรเก็บรักษาไคโมทริปซินอย่างไร?
ควรเก็บยาไคโมทริปซิน:
- เก็บยาระหว่างอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไคโมทริปซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไคโมทริปซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ALFAPSIN (อัลแฟปซิน) | Hetero HC |
ALFAPSIN-D (อัลแฟปซิน-ดี) | Hetero HC |
ALTRIP (อัลทริป) | Altar |
ALZIBIT (อัลซิบิท) | Allenge |
CEZE FORTE (เซซ ฟอร์ท) | Zee Lab |
CHEMOFAST (เชโมฟาสท์) | Solitaire (Prominent) |
Catarase (คาทาเรส) | Iolab Pharmaceuticals |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fchymotrypsin%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric [2020,Oct24]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fIndia%2fdrug%2finfo%2fALFAPSIN%2fALFAPSIN%2520sublingual%2520tab [2020,Oct24]
- https://www.medindia.net/doctors/drug_information/chymotrypsin_alfa.htm [2020,Oct24]
- https://www.testclear.com/false_positives_database/drug/016938/CATARASE.aspx [2020,Oct24]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/chymotrypsin-ophthalmic,catarase.html [2020,Oct24]
- https://www.catalog.md/drugs/catarase.html [2020,Oct24]
- https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-405/chymotrypsin [2020,Oct24]