ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean - Congo hemorrhagic fever)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? เกิดจากเชื้ออะไร? มีสัตว์อะไรเป็นโฮสต์? และเป็นเชื้อประจำถิ่นของประเทศใด?

ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean-Congo hemorrhagic fever ย่อว่า โรคซีซีเอชเอฟ/CCHF) คือโรคที่สาธารณสุขประเทศไทยจัดเป็น ‘โรคติดต่ออันตราย*’ โดยเกิดจากคนติดเชื้อไวรัสที่อาศัยในเห็บของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดกินพืชและในนกบางชนิด(เห็บเป็นรังโรค), และรวมถึงเชื้อฯที่อาศัยอยู่ในในเลือดและในเนื้อเยื่อของสัตว์ต่างๆเหล่านั้น(สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมฯเป็นโฮสต์), ซึ่งอาการหลักของโรคฯเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออกจากยุงลายกัด  ต่างกันที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดเลือดออกได้รุนแรงมากกว่าในทุกอวัยวะ ส่งผลเกิดอัตราตายประมาณ 10-40% แต่ถ้าอาการรุนแรงมาก อัตราตายสูงได้ถึง80%, รวมถึงโรคยังแพร่กระจายติดต่อระหว่างคนสู่คนได้อย่างรวดเร็วกว่าโรคไข้เลือดออกมาก,  อย่างไรก็ตาม ไวรัสที่ก่อโรคนี้จะไม่ก่ออาการโรคต่อเห็บ และต่อสัตว์ฯที่ได้รับเชื้อไวรัสนี้

ชนิดไวรัสและสัตว์ที่เป็นโฮสต์:         

  • ปัจจุบันไวรัสที่เป็นสาเหตุเกิดไข้เลือดออกไครเมียนคองโก จัดอยู่ใน ‘สกุล/Genus ‘ออร์โธแนโรไวรัส/Orthonairovirus’, ‘วงศ์/Family’  ‘แนโรวิริดี/Nairoviridae’ และ ‘อันดับ/Order ‘บันยาไวราล/ Bunyavirales’, ทั้งนี้ บางท่านเรียกไวรัสกลุ่มนี้สั้นๆว่า ‘แนโรไวรัส’ และ บางท่านเรียกว่า ‘บันยาไวรัส’
  • สัตว์ฯที่เป็นโฮสต์/ตัวให้อาศัย(Host)ของไวรัสนี้: ทั่วไป คือ สัตว์บ้าน ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินพืช เช่น วัว ควาย แพะ แกะ กระต่าย อูฐ และ นกบางชนิด เช่น นกกระจอกเทศ นกอีมู  

ไข้เลือดออกไครเมียนคองโกพบทั่วโลก  ตลอดทั้งปี แต่พบชุกในช่วงอากาศอบอุ่นเพราะเห็บซึ่งเป็นทั้ง รังโรค และ ตัวนำโรค เจริญแพร่พันธ์ได้ดี, ทั้งนี้มีการศึกษาที่รายงานในปีค.ศ. 2021 พบในภาพรวม ทั่วโลกมีความชุกของโรคนี้ 22.5% ของประชากร  ซึ่งเมื่อวินิจฉัยโรคจากตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานชนิดเพิ่งติดโรคฯ  พบโรคฯได้ 11.6%, และจากสารภูมิต้านทานชนิดเคยติดโรคนานแล้ว พบโรคฯ 4.3%

ประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานพบโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ทั้งนี้โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นของหลายประเทศ ได้แก่  ประเทศต่างๆในอัฟริกา, ยุโรปตะวันออกโดยเฉพาะประเทศที่เคยรวมอยู่ในสหภาพโซเวียตมาก่อน, ยุโรปใต้, ประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, ตอนเหนือของประเทศจีน, อินเดีย , เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และ ตะวันออกกลาง

หมายเหตุ:

  • โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโกมีรายงานพบครั้งแรกที่สาธารณรัฐปกครองตนเอง ภายใต้ประเทศยูเครนที่ชื่อ ‘ไครเมีย/Crimea’ ในปีค.ศ. 1944 (ชื่อโรคในช่วงนั้น คือ ไข้เลือดออกไครเมียน/Crimean hemorrhagic fever), ต่อมาได้ตรวจพบไวรัสต้นกำเนิดโรคนี้เป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1965 ที่ประเทศคองโก (ชื่อขณะนั้น คือ คองโกไวรัส/Congo virus), จากเหตุผลดังกล่าวทั้งหมด จึงเป็นที่มาของชื่อโรคในปัจจุบัน ‘โรคไข้เลือดออกไครเมียน-คองโก’
  • *โรคติดต่ออันตราย: ความหมาย จากพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558(5) หมายความว่า ‘โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูง และสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว’
  • นอกจากจัดเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว โรคนี้ยังจัดอยู่ในกลุ่ม’โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน’ด้วย และยังไม่มีมีรายงานแน่ชัดว่า โรคฯสามารถแพร่จากคนสู่สัตว์ได้หรือไม่

ไข้เลือดออกไครเมียนคองโกติดต่อสู่คนได้อย่างไร?

เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้เลือดออกไครเมียนคองโกสามารถติดต่อสู่คนได้ 4 ทาง ได้แก่

ก. จากคนถูกเห็บสัตว์ประเภทเป็นโฮสต์ของเชื้อไวรัสฯ ดังได้กล่าวใน 'หัวข้อ บทนำฯ' กัด หรือ คนบี้เห็บฯจนตาย/บาดเจ็บ(สารคัดหลั่งของเห็บที่มีไวรัสฯนี้อยู่จึงซึมผ่านผิวหนังเข้ากระแสเลือดคนโดยเฉพาะเมื่อมีแผลหรือผิวหนังบาดเจ็บ)

ข. จากคนสัมผัสกับ เลือด สารคัดหลั่ง เนื้อเยื่อ ของสัตว์ที่เป็นโฮสต์ ดัง ได้กล่าวใน 'หัวข้อ บทนำ' และเชื้อผ่านเข้ากระแสเลือดทางผิวหนังที่บาดเจ็บ และ/หรือ ทางเนื้อเยื่อเมือก

ค. จากคนสู่คน โดยสัมผัส เลือด, สารคัดหลั่ง  เนื้อเยื่อ ผู้ป่วยโรคนี้,  และจากการคลุกคลีใกล้ชิด, หรือ จากเครื่องมือ เครื่องใช้ เสื้อผ้า ของใช้ผู้ป่วย ที่รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ (เช่น เข็มฉีดยา กรณีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล)

ง. จากการทำงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ศึกษา และ/หรือ ตรวจวินิจฉัย เลือด สารคัดหลั่ง ผู้ป่วยโรคนี้

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ทั่วไป ได้แก่

  • ผู้เลี้ยงสัตว์, ทำปศุศัตว์, สัตวแพทย์,  ผู้มีอาชีพ/ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ หรืออยู่ในธุรกิจ หรือ สัมผัสสัตว์กลุ่มเป็นโฮสต์ของเชื้อไวรัสก่อโรคนี้ และโดยเฉพาะเมื่ออยู่อาศัย  หรือ ทำงานในประเทศ/ท้องถิ่นที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น
  • บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น รวมถึง ผู้ดูแลผู้ป่วย และ ผู้ศึกษาวิจัยโรคนี้
  • นักท่องเที่ยว หรือผู้ต้องเดินทางทำงานในประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น

ไข้เลือดออกไครเมียนคองโกมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก จะมีอาการหลังได้รับเชื้อ(ระยะฟักตัวของโรค) ทั่วไป ประมาณ 3-7 วัน(ช่วงประมาณ 1-14 วัน) โดยระยะฟักตัวจะขึ้นกับว่าผู้ป่วยติดเชื้อด้วยวิธีใด ได้แก่ ถ้าจากถูกเห็บฯกัด ทั่วไประยะฟักตัวจะประมาณ1-3 วัน(นานที่สุดประมาณ 9 วัน) ส่วนเมื่อติดเชื้อจากสัมผัส สารคัดหลั่ง เลือด หรือเนื้อเยื่อคน/สัตว์ฯป่วย ทั่วไประยะฟักตัวจะประมาณ 5-6 วัน (นานสุดประมาณ 13 วัน)

ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก เป็นโรคที่อาการเกิดเฉียบพลัน ทั่วไป อาการต่างๆ คือ

  •  ใน 1-4 วันแรก: อาการที่มักพบในผู้ป่วยเกือบทุกคน ได้แก่ มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ/ ปวดข้อ/ ปวดเนื้อตัว, ปวดหัว, ปวดต้นคอ, คอแข็ง, ปวดหลัง, วิงเวียน, ตาเจ็บ, น้ำตาไหล/ตาไม่สู้แสง  
    • ผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง เจ็บคอ
    • มีอารมณ์แปรปรวน  ตามด้วยอาการสับสน ไม่สงบ/กระวนกระวาย
  • หลังจาก 2-4 วัน จะเริ่มง่วงซึม อิดโรย
    • อาการปวดท้อง จะเป็นเฉพาะที่ คือด้านขวาใต้ชายโครงจากมี ตับโตจากตับอักเสบ
  • อาการอื่นๆที่เกิดตามมา เช่น
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • ต่อมน้ำเหลืองบวมทั่วตัว คลำพบได้
    • มีจุดเลือดออกกระจาย และเป็นผื่นเลือดออก ตามผิวหนังทั่วร่างกาย และในเนื้อเยื่อเมือก (เช่น ในช่องปาก) ที่รวมถึงในอวัยวะภายในต่างๆ, ต่อจากนั้น ถ้าอาการแย่ลง จะเกิดเลือดออกมากขึ้นจนเห็นเป็นปื้น/ห้อเลือด และ/หรือ มีอาการเลือดไหล/เลือดไหลออกได้จากทุกอวัยวะ/ทั่วตัว
    • อาการของภาวะตับอักเสบ เช่น เจ็บตับ ตับโตจนแน่นท้อง หายใจอึดอัด ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะสีซีด ท้องมาน
    • ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมาก จะเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน, ตามมาด้วยหรือร่วมกับ ตับวาย และภาวะหายใจล้มเหลว ซึ่งอาการเหล่านี้พบเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 5 นับจากเริ่มมีอาการ
  • ผู้ป่วยที่สภาพร่างกายแข็งแรง/มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ดีก่อนเกิดโรคนี้ และที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับโรคนี้ได้ มักเริ่มฟื้นตัว/อาการค่อยๆดีขึ้นในวันที่ 9-10 นับจากวันแรกของการมีอาการ
  • แต่ถ้าไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านโรคได้ ผู้ป่วยมักถึงตายภายใน 2 สัปดาห์นับจากวันแรกของการมีอาการ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ' และอาการไม่ดีขึ้น หรือ แย่ลงภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีอาการ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เด็ก หรือ มีโรคประจำตัว และโดยเฉพาะมีประวัติเดินทางในประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น ควรรีบด่วนพบแพทย์/มาโรงพยาบาล พร้อมต้องแจ้งแพทย์/พยาบาลว่า เดินทางมาจากประเทศใด หรือ มีใครในบ้าน หรือชุมชน ป่วยด้วยอาการเช่นเดียวกัน (กลุ่มผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้)

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ได้จาก

  • ประวัติอาการผู้ป่วย อาชีพ การงาน ถิ่นพักอาศัย หรือ การเดินทางในถิ่นที่โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น
  • การตรวจร่างกาย
  • แต่ที่ให้ผลแน่ชัด คือ การตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิคระดับสูงจาก เลือด สารคัดหลั่ง และ/หรือ เนื้อเยื่อ ผู้ป่วย เช่น
    • ตรวจหาสารภูมิต้านทาน/Antibodyต่อเชื้อไวรัสนี้
    • ตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานของไวรัสนี้ ที่เรียกว่า ELISA antigen capture
    • ตรวจหาสารพันธุกรรม/อาร์เอ็นเอ/RNAของไวรัสก่อโรคนี้ ที่เรียกว่า RT-PCR
    • การย้อมสีเนื้อเยื่อของผู้ป่วยทางพยาธิวิทยา ที่เรียกว่า Immunohistochemical staining

ทั้งนี้ การจะเลือกใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีใด หรือจะวินิจฉัยเพียงจากประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย(การวินิจฉัยทางคลินิก) ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา และความพร้อมของแต่ละโรงพยาบาล

รักษาโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโกอย่างไร?

วิธีรักษาไข้เลือดออกไครเมียนคองโกในปัจจุบัน คือ การรักษาตามอาการ, ยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะโรคนี้

อย่างไรก็ตาม มีรายงานการใช้ยาต้านไวรัสที่ชื่อ ‘ไรบาไวริน/Ribavirin’ ซึ่งทั่วไปใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ได้ผลดีในผู้ป่วยหลายราย

ดูแลตนเองอย่างไร?

การรักษาโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก เป็นการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะโรงพยาบาลที่สามารถดูแลผู้ป่วยโรคติดต่ออันตราย ดังนั้นการดูแลตนเอง คือ การปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด ที่รวมถึงมาตรการในการป้องกันโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น และสังคม

ไข้เลือดออกไครเมียนคองโกรุนแรง/มีการพยากรณ์โรค และผลข้างเคียงอย่างไร?

ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก เป็นโรคติดต่ออันตราย ที่ยังไม่มียาต้านไวรัสที่รักษาโรคนี้โดยตรง  ทั่วไปอัตราตายอยู่ในช่วง 10-40% (แต่มีรายงานสูงได้ถึง 80%)

สาเหตุการตาย คือ เลือดออกรุนแรงมากจากผู้ป่วยเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำมาก และเกิดภาวะดีไอซี/DIC (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดทั่วร่างกาย) จนก่อภาวะช็อกจนอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายล้มเหลว)ที่สำคัญ คือ สมอง ตับ ไต ซึ่งอัตราตายจะสูงมากในสตรีตั้งครรภ์

สำหรับผู้รอดชีวิตจากโรคนี้ จะค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าๆ อาจใช้เวลาเป็นปี และยังไม่มีการศึกษาที่จริงจังที่ให้ผลชัดเจนว่า โรคนี้มีมีผลข้างเคียงระยะยาวเป็นอย่างไร แต่เท่าที่มีการศึกษา ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรงในระยะยาวอย่างน้อย 1 ปีหลังติดเชื้อ

ป้องกันไข้เลือดออกไครเมียนคองโกได้อย่างไร?

การป้องกันไข้เลือดออกไครเมียนคองโกซึ่งแนะนำโดยองค์การอนามัยโลกที่เผยแพร่ในปีค.ศ 2022 โดยสรุป ได้แก่

ก. วัคซีน:

  • ในคน: ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนนี้ที่มีประสิทธิภาพ (มีบางประเทศในยุโรปตะวันออกผลิตวัคซีนได้แต่ก็ไม่แน่ชัดในประสิทธิภาพ จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก)
  • ในสัตว์ที่เป็นโฮสต์: ยังไม่มีวัคซีน

ข. การป้องกันดูแลตนเองในคน: ที่สำคัญคือ การให้ความรู้และการตระหนักรู้เรื่องของโรคนี้และวิธีที่โรคติดต่อ แก่ประชากร โดยเฉพาะในถิ่นที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น, ซึ่งทั่วไป ได้แก่

  • การลดโอกาสเกิด/ป้องกันการติดต่อจากเห็บและสัตว์ฯที่เป็นโฮสต์ของไวรัสโรคนี้: (ดังกล่าวใน’หัวข้อ บทนำฯ’)  ทั่วไป  คือ
    • สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังส่วนที่จะถูกเห็บกัดได้ง่าย เช่น หมวกคลุมผม เสื้อ แขน/ขายาวเมื่อต้องปฏิบัติงานหรือคลุกคลีสัตว์ฯหรือชิ้นส่วนสัตว์ฯ
    • กรณีทำงานที่เป็นปัจจัยเสี่ยงติดโรคฯ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ/ระเบียบปฏิบัติของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
    • เสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม ควรเป็นสีอ่อนเพื่อให้มองเห็นตัวเห็บได้ง่าย
    • เสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่มควรฉีดน้ำยาฆ่าเห็บ
    • ทาผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเห็บชนิดที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ
    • สำรวจผิวหนัง ผม และเสื้อผ้า ทุกครั้งหลังเสร็จภารกิจ/กิจกรรม เพื่อกำจัดเห็บ
    • ดูแลสัตว์เลี้ยงฯด้วยการใช้น้ำยากำจัดเห็บสม่ำเสมอ
    • หลีกเลี่ยง/ลดเวลา/ไม่ไปในสถานที่ ที่เห็บชุกชุม
    • โรงงานฆ่าสัตว์ในถิ่นรังโรค ควรมีระบบกักกันสัตว์เพื่อการตรวจว่าไม่ติดโรคนี้ก่อนการฆ่าสัตว์ และมีระบบกำจัดเห็บ
  • ป้องกันการติดต่อจากคนสู่คน:
    • หลีกเลี่ยงไม่คลุกคลี ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ ยกเว้นเท่าที่จำเป็น
    • เมื่อต้องดูแลผู้ป่วยโรคนี้ ต้องสวมถุงและใช้อุปกรณ์กรทุกอย่างที่ป้องกันการติดเชื้อนี้ฯ
    • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังดูแล สัมผัส ใกล้ชิด หรือเยี่ยมเยียนผู้ป่วยโรคนี้

บรรณานุกรม

  1. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/crimean-congo-haemorrhagic-fever [2023,April1]
  2. https://www.ecdc.europa.eu/en/crimean-congo-haemorrhagic-fever/facts/factsheet [2023,April1]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Crimean%E2%80%93Congo_hemorrhagic_fever [2023,April1]
  4. https://www.cdc.gov/vhf/virus-families/bunyaviridae.html [2023,April1]
  5. http://www.ppho.go.th/webppho/dl_strat/F20200131152210.pdf [2023,April1]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8096040/ [2023,April1]
  7. https://ddc.moph.go.th/law.php?law=1 [2023,April1]