ไข่ขาวผง เมนู น้ำนมหวานเย็น (เมนูที่ 4)
- โดย กาญจนา ฉิมเรือง
- 5 ตุลาคม 2562
- Tweet
ส่วนผสม
อาหารทางการแพทย์ | 45 | กรัม |
ไข่ขาวผง | 30 | กรัม |
น้ำหวานเฮลบลูบอย | 10 | ซีซี |
น้ำต้มสุกอุ่นๆ | 180 | ซีซี |
น้ำแข็งหลอด |
วิธีทำ
1. นำอาหารทางการแพทย์ ไข่ขาวผง น้ำหวานเฮลบลูบอย น้ำต้มสุก ใส่เครื่องปั่นๆผสมให้เข้ากันดี
2. นำส่วนผสมข้อ 1 ใส่แก้วเติมน้ำแข็ง พร้อมดื่ม
โปรตีน | 38.25 | กรัม |
คาร์โบไฮเดรต (กรัม) | 32.3 | กรัม |
ไขมัน (กรัม) | 6 | กรัม |
พลังงาน (กิโลแคลอรี่) | 336.2 | กรัม |
- เมนูเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการโปรตีน พลังงานสูง ผู้ป่วยขาดสารอาหาร ผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร ฯลฯ
- สามารถเปลี่ยนจากอาหารทางการแพทย์ เป็นเครื่องดื่มต่างๆ เช่น ไมโล โอวันติน น้ำขิง น้ำใบเตย น้ำส้ม ฯลฯ
- อาหารทางการแพทย์ หมายถึง อาหารที่ผลิตขึ้นชนิดสำเร็จรูป มีสารอาหารครบถ้วน ตามข้อบ่งชี้ของผู้ป่วย ตามกลุ่มโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคมะเร็ง ผู้สูงอายุ ฯลฯ
ไข่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ เป็นโปรตีนที่มีกรดอมิโนครบถ้วน นอกจากนี้ในไข่ยังมีวิตามินเอ วิตามินบีต่างๆ โฟเลท และแร่ธาตุอื่นๆทั้งนี้ไข่ที่บริโภคควรเป็นไข่ที่สุก เพราะไข่ที่ไม่สุกจะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และไข่ที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมวิตามินไบโอติน ทำให้ได้รับคุณค่าทางโภชนาการจากไข่ ลดลง ร่างกายจะย่อยได้ยาก
เกร็ดความรู้
ประโยชน์ของอาหารทางการแพทย์
1. ใช้เป็นอาหารหลักแทนอาหารแต่ละมื้อ สำหรับผู้ที่กินอาหารไม่ได้ตามปกติเช่นผู้ป่วยอัมพาต อัมพฤกษ์ รวมทั้งผู้ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารหรือเกลือแร่บางชนิด เช่นผู้ป่วยไตวายต้องการอาหารที่จำกัดปริมาณโซเดียมและโปแตสเซียม ผู้ป่วยเบาหวานต้องการอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำหรือผู้ที่สูญเสียกล้ามเนื้อต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูงหรืออาหารสำหรับเด็กที่แพ้โปรตีนจากนมวัวและนมถั่วเหลือง
2. ใช้เป็นอาหารเสริมเพื่อเพิ่มพลังงานให้กับผู้ที่กินอาหารเองได้แต่มีปริมาณและพลังงานไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เช่นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด อาจมีอาการข้างเคียงเช่นเบื่ออาหาร กินอาหารหลักได้น้อย
3. สารอาหารส่วนใหญ่ที่มีในอาหารทางการแพทย์คือคาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน จะถูกดัดแปลงให้ย่อยง่ายหรือผ่านการย่อยแล้วบางส่วนเพื่อให้ดูดซึมได้ง่ายขึ้นร่างกายนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว
4. หากมีสุขภาพแข็งแรงและสามารถกินอาหารได้เอง ได้รับอาหารหลักครบทั้ง 5 หมู่เป็นประจำ ออกกำลังสม่ำเสมอ อาหารทางการแพทย์ก็ไม่มีความจำเป็น อาหารทางการแพทย์ส่วนใหญ่มีใยอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน อาหารทางการแพทย์แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติหรือสรรพคุณแตกต่างกัน ซึ่งไม่ควรใช้อาหารทางการแพทย์โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
อ้างอิง (เกร็ดความรู้):
- ทศพร นามโฮง.อะไรคืออาหารทางการแพทย์ (Medical food). [อินเตอร์เน็ต]. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ; [เข้าถึงเมื่อ 11 ธันวาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: fic.nfi.or.th/futurefood/medical_research_detail.php?id=9
- ประไพศรี ศิริจักรวาล. สถาบันวิจัยโภชนาการแนะนำ เด็กกินไข่วันละฟอง แต่ผู้ใหญ่เกิน 40 ปีต้องระวัง. [อินเตอร์เน็ต]. สถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล; 2011 [เข้าถึงเมื่อ 11 ธันวาคม 2561].เข้าถึงได้จาก: www.inmu.mahidol.ac.th/Th/news/index.php?id=25