ไข่ขาวผง เมนู แกงจืดไข่ขาวสอดไส้ (เมนูที่ 1)
- โดย กาญจนา ฉิมเรือง
- 24 สิงหาคม 2562
- Tweet
ส่วนผสม
ไข่ขาวผง | 10 | กรัม |
น้ำ | 100 | ซีซี |
เนื้อไก่เลาะหนังบด | 10 | กรัม |
ผักตำลึง | 35 | กรัม |
แครอท | 35 | กรัม |
น้ำซุปโครงกระดูกไก่ | 1 | ถ้วยตวง |
กระเทียม | 1-2 | กลีบ |
รากผักชี | 1 | ต้น |
เครื่องปรุงรส พริกไทย ซีอิ้วใส เกลือ น้ำตาล |
วิธีทำ
1. นำไข่ขาวผงปั่นผสมกับน้ำ หรือคนสมให้เข้ากัน พักไว้
2. นำเนื้อไก่เลาะหนังบดหมักกับรากผักชี กระเทียม พริกไทย ซีอิ้วใส ปั้นเป็นก้อนกลมเล็กๆ
3. นำไข่ขาวผงที่ปั่นเสร็จแล้วใส่ในถ้วยตะไล ตักฟองทิ้ง หยอดไก่ปั้นก้อนไว้ตรงกลาง นำไปนึ่งให้สุก
4. นำน้ำซุปซี่โครงไก่ตั้งไฟ พอเดือดตามด้วยไข่ขาวนึ่งสุก แครอท ผักตำลึง ปรุงรสตามชอบ
หมายเหตุ น้ำซุปสามารถใช้น้ำซุปผักหรือ โครงกระดูกไก่ กระดูกหมู
โปรตีน | 21.3 | กรัม |
คาร์โบไฮเดรต (กรัม) | 7 | กรัม |
ไขมัน (กรัม) | 0.33 | กรัม |
พลังงาน (กิโลแคลอรี่) | 115 | กรัม |
แหล่งของอัลบูบินในอาหาร พบได้ในไข่ขาว (กว่า 50 %) ของโปรตีนจากไข่ขาวคือโปรตีนอัลบูมิน) แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ จึงให้ความนิยมในการนำมาใช้ในการรักษา แนะนำ ให้ผู้ป่วยรับประทานไข่ขาว การรับประทานไข่ขาวทุกวัน ก็เกิดความรู้สึกเบื่อ เมื่อต้องรับประทานในปริมาณมาก ๆ (ไข่ขาวมีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณ 90%) การจะรับประทานไข่ขาวให้อร่อย มีรสชาติที่ดี ส่วนใหญ่จะมีการปรุงรสเพิ่มเติม เช่น ซอสปรุงรส ซีอิ้วขาว เกลือ น้ำปลา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจมีผลกับความดันโลหิตและเกิดการบวมน้ำได้
เกร็ดความรู้
ตำลึงเป็นผักข้างรั้วที่ขึ้นง่าย แล้วก็มีให้เราเก็บรับประทานได้ตลอดปี ในสมัยโบราณเราก็จะมีการปลูกตำลึงไว้ที่รั้วบ้าน มีการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ของตำลึงค่อนข้างมาก การศึกษาวิจัยของสถาบันโภชนาการพบว่าตำลึง เป็นผักที่มีเบต้าแคโรทีนสูง เป็นแหล่งของวิตามินเอที่ดีมาก นั่นหมายถึงว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระขณะเดียวกันสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ที่ช่วยในเรื่องของภูมิต้านทาน ช่วยในเรื่องของการมองเห็น ถ้าขาดวิตามินเอ ร่างกายของเราก็จะอ่อนแอ อาจจะเกิดโรคติดเชื้อค่อนข้างง่าย มีงานวิจัยที่พบว่า ตำลึง เป็นแหล่งของสารฟลาโวนอยด์ที่ดีแล้วก็สามารถช่วยในการป้องกันโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน หรือว่าโรคมะเร็งได้ นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาพบว่าตำลึงสามารถช่วยลดน้ำตาล และสถาบันโภชนาการเอง ก็ศึกษาพบว่า ตำลึงมีแคลเซียมค่อนข้างสูง และแคลเซียมที่อยู่ในตำลึง ร่างกายสามารถดูดซึมเอาไปใช้ได้เทียบเท่ากับแคลเซียมที่อยู่ในนม เพราะฉะนั้นในผู้ที่ไม่สามารถดื่มนมได้ เนื่องจากแพ้นม หรือดื่มนมแล้วท้องเสีย ก็หันมารับประทานตำลึงให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้ได้รับแคลเซียมไปช่วยในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ซึ่งก็เหมาะทั้งเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องการแคลเซียมมากกว่าวัยอื่น ๆ
อ้างอิง (เกร็ดความรู้):
- สมศรี เจริญเกียรติกุล. ตำรับอาหารไทย. [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561]. www.inmu.mahidol.ac.th/gallery/inmucooking/Central.../แกงจืดตำลึงหมูสับ.html