ใครว่าข้าบ้า (ตอนที่ 4)

ใครว่าข้าบ้า-4

      

      และหากทิ้งไว้ไม่รักษา โรคจิตเภทอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนหรือมีปัญหาที่รุนแรงต่อชีวิตทุกด้าน เช่น

  • การฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
  • ทำร้ายตัวเอง (Self-injury)
  • โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) และ โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder = OCD)
  • ซึมเศร้าหดหู่ (Depression)
  • ติดแอลกอฮอล์หรือติดยาสูบ
  • ไม่สามารถทำงานหรือเรียนหนังสือ
  • มีปัญหาทางด้านการเงิน เป็นคนไร้บ้าน (Homelessness)
  • แยกตัวเองออกจากสังคม
  • มีปัญหาสุขภาพ
  • พฤติกรรมก้าวร้าว

      ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคจิตเภท แต่การปฏิบัติตนตามแผนการรักษาจะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงได้ นอกจากนี้ การเรียนรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอาจช่วยให้ทำการวินิจฉัยและรักษาโรคได้เร็วยิ่งขึ้น

      ซึ่งการวินิจฉัยโรคอาจทำได้ด้วยการ

  • ตรวจร่างกาย
  • ทดสอบด้วยวิธี เช่น เอ็มอาร์ไอ หรือ ซีทีสแกน เพื่อตัดข้อสงสัยว่าอาจเป็นโรคอื่นออกไป
  • ทำการประเมินทางจิตวิทยา (Psychiatric evaluation)
  • ทำการวินิจฉัยตามเกณฑ์ The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5)

      สำหรับการรักษาโรคจิตเภทต้องใช้เวลาทั้งชีวิตแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว โดยการใช้ยาเป็นพื้นฐานเบี้องต้นในการรักษาโรคจิตเภท ทั้งนี้เพื่อควบคุมสารในสมองที่ทำให้เกิดอาการ ซึ่งมีทั้งยากินและยาฉีด

      แพทย์อาจต้องลองใช้ยาแต่ละชนิดในปริมาณที่แตกต่างกันไปเพื่อให้ได้ผลที่พอใจ ซึ่งอาจต้องทดลองใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ก่อนที่จะเห็นถึงพัฒนาการ และเนื่องจากยาที่ใช้สำหรับโรคจิตเภทอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่รุนแรง เช่น มีความผิดปกติในการเคลื่อนไหว (Tardive dyskinesia) ดังนั้นผู้ป่วยจึงอาจลังเลถึงการใช้ยาได้

      โดยตัวอย่างยาต้านอาการทางจิตรุ่นแรก (First-generation antipsychotics) ได้แก่

  • Chlorpromazine
  • Fluphenazine
  • Haloperidol
  • Perphenazine

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Schizophrenia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/schizophrenia/symptoms-causes/syc-20354443 [2019, Jun 10].
  2. Schizophrenia. https://www.nimh.nih.gov/health/topics/schizophrenia/index.shtml [2019, Jun 10].