โอเค เลนส์ เลนส์สัมผัส โอ-เค (O-K lens)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

โอเคเลนส์คืออะไร?

         โอเค (OK)ทางจักษุวิทยาย่อมาจากคำว่า Orthokeratology ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึง การทำให้กระจกตา (Cornea = Kerato = กระจกตา โดย Ortho แปลว่า ปกติหรือแก้ไข) แบนลง หรือลดกำลังหักเหแสงของกระจกตาลงเป็นการแก้ไขสายตาสั้น แต่บางครั้งอาจมีการเพิ่มกำลังหักเหแสงของกระจก ตาเพื่อเป็นการแก้ไขสายตายาว        

          โอเคเลนส์ (OK lens) จึงหมายถึง คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัส (Contact lens) ที่ทำขึ้น เพื่อเมื่อใส่แล้วทำให้กระจกตาเปลี่ยนรูปร่าง/รูปทรง โดยมักเป็นเลนส์สำหรับผู้มีสายตาสั้นโดยเมื่อใส่เลนส์แล้วจะทำให้กระจกตามีความโค้งลดลง

โอเคเลนส์  “ใส่เฉพาะเวลานอน”  ถอดตอนตื่นนอน ดังนั้นสายตาที่สั้นจึงลดลงได้ชั่วคราว กล่าวคือใส่เลนส์เวลานอนเพื่อปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาให้แบนลง ซึ่งเมื่อตื่นนอนภาย หลังถอดเลนส์แล้วกระจกตาจะยังคงแบนค้างอยู่ทำให้สายตาสั้นหายไปหรือลดลง ซึ่งการเปลี่ยน ความโค้งของกระจกตานี้จะเป็นชั่วคราวในระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นก่อนนอนจึงต้องใส่เลนส์ซ้ำเพื่อคงรูปร่างเลนส์ โอเคเลนส์จึงเป็นการทำให้กระจกตาเปลี่ยนรูปร่างได้ชั่วคราว (Reshaping) จัด เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งแข็งที่ออกซิเจนซึมผ่านได้ดีเรียกว่า เลนส์อาร์จีพี (Rigid gas perme able lens = RGP lens)

         นับตั้งแต่มีการใช้คอนแทคเลนส์แก้ไขสายตาสั้นในราว ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) พบว่าผู้ ใช้คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งหรือ RGP เมื่อถอดคอนแทคเลนส์ออกพบว่าสายตาสั้นลดลงกว่าเดิม นั่นคือการใช้คอนแทคเลนส์มีส่วนทำให้เปลี่ยนทรงความโค้งของกระจกตาจึงทำให้สายตาสั้นลด ลง นักวิทยาศาสตร์จึงมีความคิดที่จะใช้คอนแทคเลนส์ปรับความโค้งของกระจกตาเรื่อยมา จนอีก 20 ปีต่อมาจึงมีวิชา Orthokeratology ที่ใช้คอนแทคเลนส์ปรับความโค้งของกระจกตาเป็นจริงเป็นจังได้ และได้มีการปรับปรุงทั้งรูปแบบและสารที่นำมาผลิตเลนส์ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวิธี การที่ใส่คอนแทคเลนส์เฉพาะเวลานอน พอตื่นนอนถอดคอนแทคเลนส์ออกตาจะหายสั้นไปจน ถึงกลางคืน แล้วกลับมาใส่คอนแทคเลนส์ใหม่ตอนกลางคืน วนเวียนเป็นวงจร ซึ่งเป็นหลักของ โอเคเลนส์ในปัจจุบัน

         อายุการใช้งานของโอเคเลนส์ขึ้นกับชนิดของโอเคเลนส์ อาจต้องเปลี่ยนทุกวัน ทุก 2 สัปดาห์ หรือใช้ได้นาน 1 เดือน ทั้งนี่ในการใช้ต้องใช้ตามกำหนดระยะเวลาของแต่ชนิดเพื่อป้อง กันการติดเชื้อจากเลนส์ของกระจกตาและเพื่อประสิทธิภาพของเลนส์

          โอเคเลนส์ที่ได้รับการยอมรับขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA, Food and Drug Administration) ในปัจจุบันคือ

  1. Paragon Corneal refractive therapy (CRT) lens ของบริษัท Paragon Viseral Science
  2. Vision shape therapy (VST) ของบริษัท Bausch and Lomb เช่น Cortex OK lens, Dream lens และ Miracle lens

โอเคเลนส์ต่างจากคอนแทคเลนส์แก้ไขสายตาทั่วไปอย่างไร?

โอเคเลนส์

         ข้อเปรียบเทียบโอเคเลนส์กับคอนแทคเลนส์ที่แก้ไขสายตาทั่วไปรวมทั้งเลนส์ RGP ทั่วไป ซึ่งแม้จะทำด้วยวัสดุที่ใกล้เคียงกันแต่มีความแตกต่างกัน คือ

  1. โอเคเลนส์ใส่เวลานอน ตื่นนอนถอดไม่ต้องใส่ แต่คอนแทคเลนส์ทั่วไปใส่เวลาตื่น (เวลาที่ต้อง การแก้ไขสายตาสั้น/เวลาที่ต้องใช้สายตา) แต่ถอดเวลานอน (เวลาไม่ใช่สายตา)
  2. กลไกในการแก้ไขสายตาสั้นต่างกัน โอเคเลนส์แก้ไขโดยเปลี่ยนรูปร่างกระจกตาเพื่อแก้ไขสายตาสั้นซึ่งคล้ายวิธีเลสิก (Lasik) ที่ตัดกระจกตาออกให้กระจกตาแบนลงเปลี่ยนความโค้งของ กระจกตา ส่วนคอนแทคเลนส์ทั่วไปใส่คอนแทคเลนส์ที่มีค่าเท่ากับกำลังสายตาที่ผิดปกติโดยไม่ ได้เปลี่ยนรูปร่างของกระจกตาแต่อย่างใด
  3. ลักษณะรูปแบบ (Design) ของเลนส์ต่างกัน คอนแทคเลนส์ทั่วไปต้องมีความโค้ง (Base curve) ที่สอดคล้องกับความโค้งของกระจกตาผู้ใช้ และมีความโค้งด้านหน้าและด้านหลังก่อ ให้เกิดกำลังของคอนแทคเลนส์เท่ากับสายตาที่ผิดปกติของผู้ใช้ คอนแทคเลนส์ทั่วไปจึงมี Optical zone (ส่วนของเลนส์ที่ใช้หักเหแสง) ซึ่งอยู่ตรงกลางเลนส์โค้งกว่าส่วนขอบเลนส์เพื่อ ให้เลนส์เกาะตา เวลากระพริบตาจะช่วยให้ผู้ใช้สบายตา ส่วนโอเคเลนส์บริเวณ Optical zone จะแบนกว่าส่วนขอบ การที่ตรงกลางเลนส์แบนจะเกิดแรงดันบวก (Positive pressure) หลังเลนส์ร่วมกับความดันภายในลูกตาจึงทำให้กระจกตาถูกขนาบด้วยแรงดันทั้งสอง ส่วนบริเวณขอบของโอเคเลนส์จะโค้งมากขึ้นเมื่อเทียบกับ Optical zone จึงเกิดแรงดันลบ (Negative pressure) เรียกรูปแบบ/Design ของโอเคเลนส์นี้ว่า Reverse geometry lens ซึ่งจะช่วยไม่ให้เกิดการบวมของกระจกตาในช่วงสวมใส่โอเคเลนส์
  4. ในคนปกติกระจกตานอกจากได้ออกซิเจนจากฟิล์มน้ำตา/Tear film และจากสารน้ำในลูกตาที่หล่อเลี้ยงกระจกตา/Aqueous humor แล้ว (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ฟิล์มน้ำตาและสารน้ำในลูกตาในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา) กระจกตายังได้ออกซิเจนจากอากาศ เมื่อหลับตาหรือในเวลานอน กระจกตาจะขาดออกซิเจนจากอากาศจึงอาจทำให้กระจกตาบวมได้เล็กน้อยเมื่อ ใส่โอเคเลนส์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้เลนส์เป็นชนิดพิเศษให้มีค่าออกซิเจนซึมผ่านได้ดีกว่าคอน แทคเลนส์ทั่วไปที่ใช้เวลาลืมตาเรียกว่ามีค่า Dk สูงกว่าคอนแทคเลนส์ทั่วไป (ค่า Dk ย่อมาจาก Diffusion Konstante ซึ่งเป็นภาษาเยอรมัน)

โอเคเลนส์มีประโยชน์และโทษอย่างไร?

         ประโยชน์และโทษของโอเคเลนส์:       

ก. ประโยชน์ของการใช้โอเคเลนส์ คือ

  1. 1. เป็นทางเลือกในการแก้ไขสายตาผิดปกติซึ่งทั่วไปคือสายตาสั้นแบบชั่วคราววิธีหนึ่งนอก เหนือจากแว่นตาและคอนแทคเลนส์ทั่วไป
  2. 2. เป็นการแก้ไขสายตาสั้นแบบชั่วคราวที่ไม่ต้องมีแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์มาใส่เกะกะเวลาทำงาน จึงเหมาะกับคนบางอาชีพเช่น นักบิน นักแสดง นักกีฬา ว่ายน้ำ ทำให้คล่องตัวในการทำงาน
  3. 3. เนื่องจากเป็นการแก้ไขสายตาชั่วคราว หากไม่พอใจเลิกรักษา สายตาจะกลับเป็นเหมือน เดิม ถ้าเป็นการแก้ไขแบบถาวรเช่น การทำเลสิก/Lasik หากทำแล้วเกิดผิดพลาดแก้ไขสายตาสั้นมากเกินไป กลายเป็นสายตายาวหรือมีสายตาเอียงยากแก่การแก้ไข
  4. 4. มีบางการศึกษาระบุว่า วิธีนี้อาจช่วยควบคุมภาวะสายตาสั้นได้คือทำให้สายตาสั้นไม่เพิ่ม ขึ้น ซึ่งคงต้องศึกษากันต่อไปถึงผลในเรื่องนี้
  5. 5. อาจใช้ได้ในทุกอายุ และไม่ว่าสายตาสั้นจะคงที่หรือมีการเปลี่ยนแปลง

ข. โทษของการใช้โอเคเลนส์ คือ

  1. เนื่องจากเป็นวิธีการใหม่และยังไม่แพร่หลาย จึงยังไม่มีใครทราบถึงผลในระยะยาวๆหลายปีถ้าใช้เลนส์นี้ต่อเนื่อง คงต้องมีการศึกษาในระยะยาวถึงผลดีผลเสียต่อไป จึงต้องชั่งใจให้ดีก่อนตัดสินใจใช้วิธีนี้
  2. โทษที่มีแน่นอนซึ่งเป็นทำนองเดียวกับการใช้คอนแทคเลนส์ทั่วไปกล่าวคือ การดูแลรักษาความสะอาดเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดเพื่อป้องกันการติดเชื้อของกระจกตาจากคอนแทคเลนส์ทุกชนิดที่ใช้
  3. แก้ไขสายตาสั้นมากไม่ได้โดยทั่วไปอย่างมากแก้ไขได้ไม่เกิน - 400 D (ไดออปเตอร์) โดยเฉพาะสายตาเอียง 90 องศาหรือสายตาเอียงมุมเฉียง (Oblique astigmatism) ที่จะแก้ไม่ ได้เลย บางบริษัทของเลนส์ชนิดนี้อาจระบุว่าแก้ไขสายตาสั้นได้ถึง - 800 D หรือ - 1,000 D แต่ก็ยังไมมีการศึกษาที่พิสูจน์ได้ชัดเจน
  4. ไม่สามารถคาดถึงผลที่แก้ไขสายตาได้ บางรายอาจแก้ไขได้มาก บางรายอาจแก้ได้น้อย จักษุแพทย์ไม่สามารถพยากรณ์ได้
  5. พบว่าอาจทำให้ชั้นเยื่อบุผิว (Epithelium) ของกระจกตาบริเวณตรงกลางบางลงในขณะ ที่เนื้อเยื่อชั้น Stroma ที่อยู่ริมกระจกตาหนาขึ้น (อ่านเรื่องกระจกตาเพิ่มเติมในบท กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา) ซึ่งในระยะยาวจะมีผลเสียอะไรหรือไม่ยังไม่สามารถบอกได้ ต้องมีการศึกษาเพิ่ม เติม
  6. หลังใช้เลนส์นี้แม้สายตาทั่วไปเห็นดีขึ้น แต่สายตาในที่สลัวใกล้มืด/แสง Contrast จะเห็นได้ไม่ดี

บุคคลกลุ่มใดที่ควรหรือไม่ควรใช้โอเคเลนส์?

บุคคลกลุ่มใดที่ควรหรือไม่ควรใช้โอเคเลนส์:

ก. บุคคลที่ไม่ควรใช้โอเคเลนส์:  เช่นเดียวกับในเรื่องของคอนแทคเลนส์ทั่วไปได้แก่

  1. มีการอักเสบบริเวณเปลือกตา/หนังตาเรื้อรัง
  2. เยื่อบุตา/เยื่อตาอักเสบจากโรคภูมิแพ้
  3. เป็นโรคตาแห้ง
  4. มีการติดเชื้อบริเวณตา
  5. ผู้ที่ไม่สามารถรักษาความสะอาดเลนส์ให้ดีพอ มีสุขอนามัยที่ไม่ดี
  6. ผู้มีโรคของกระจกตาและ/หรือผิวกระจกตาขรุขระ

ข. บุคคลที่ใช้โอเคเลนส์นี้ได้:  คือ

  1. บุคคลที่ไม่ต้องการใส่คอนแทคเลนส์หรือใส่แว่นตาในช่วงกลางวัน
  2. ผู้ที่เคยใส่คอนแทคเลนส์กลางวันได้ มาระยะหลังตาแห้งจากการใส่คอนแทคเลนส์กลาง วันจึงอาจลองใช้วิธีนี้ได้ เพราะการใช้โอเคเลนส์ก่อภาวะตาแห้งได้น้อยกว่าเนื่องจากเป็นการใส่ในช่วงนอนหลับตาปิดน้ำตาจึงระเหยได้น้อยกว่า
  3. ผู้สายตาสั้นที่กำลังจะมีภาวะสายตาผู้สูงอายุ หากไปทำเลสิก (Lasik) แก้ไขสายตาสั้น พอถึงอายุที่เริ่มมีสายตาผู้สูงอายุอยากจะกลับมาสายตาสั้นดังเดิม (เพราะอ่านหนังสือเห็นโดยไม่ต้องใช้แว่นตา) จะทำไม่ได้ การใช้โอเคเลนส์แก้ไขสายตาสั้นชั่วคราวจึงน่าจะเหมาะสำหรับผู้สาย ตาสั้นไม่มากและกำลังจะเข้าสู่ภาวะสายตาผู้สูงอายุ และกลางวันไม่อยากใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ พอเข้าสู่วัยมีสายตาผู้สูงอายุจะได้อ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใช้แว่นสายตาผู้สูงอายุ

ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อใช้โอเคเลนส์?

         การดูแลตนเองที่สำคัญเมื่อใช้โอเคเลนส์ คือ

  1. เนื่องจากต้องใส่เลนส์วางบนกระจกตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการบาดเจ็บของกระ จกตาจึงจำเป็นต้องรักษาความสะอาดตัวเลนส์อย่างเคร่งครัด ต้องเลือกใช้เลนส์ที่มีขนาดเหมาะ สมและต้องประกอบเลนส์โดยผู้ชำนาญ ตลอดจนใช้เลนส์ที่ผ่านการรับรองขององค์การอาหารและยาเท่านั้น รวมทั้งต้องเก็บเลนส์เมื่อไม่ใช้ในภาชนะที่สะอาดและเหมาะสมตามคำแนะนำของผู้ผลิต
  2. ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณตาทั้งผิวหนังรอบๆตา เปลือกตา/หนังตา หากสกปรกเชื้อโรคอาจแทรกเข้าไปอยู่ระหว่างเลนส์กับกระจกตาก่อให้เกิดการติดเชื้อของกระจกตาได้ ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงที่สุดเพราะอาจทำให้กระจกตาเป็นแผลเรื้อรังถึงขั้นตาบอดได้
  3. ไม่ฝืนใช้เลนส์เมื่อมีการอักเสบบริเวณรอบๆตาเช่น เป็นกุ้งยิงหรือเปลือกตาอักเสบ เป็นต้น
  4. เลนส์ชนิดนี้ บางครั้งเมื่อตอนตื่นนอนตัวเลนส์จะติดกับกระจกตาทำให้ถอดเลนส์ออกยาก อาจ ต้องใช้วิธีหยอดตาด้วยน้ำตาเทียมก่อนหรือใช้เครื่องมือถอดคอนแทคเลนส์ ขั้นตอนนี้ต้องฝึกฝนจากจักษุแพทย์และ/หรือพยาบาลและ/หรือผู้ประกอบเลนส์จนทำได้อย่างถูกต้อง เพราะหากทำไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดแผลที่กระจกตาได้
  5. ปรึกษาทั้งจักษุแพทย์ ผู้ประกอบเลนส์ และอ่านเอกสารกำกับการใช้เลนส์จากบริษัทผู้ผลิตให้เข้าใจถึงกระบวนการและวิธีใช้ให้เข้าใจก่อนเสมอ

เมื่อใช้โอเคเลนส์เมื่อไหร่ต้องพบจักษุแพทย์?

         เมื่อใช้โอเคเลนส์ควรพบจักษุแพทย์ เมื่อ

  1. หากมีอาการผิดปกติของตาเช่น เจ็บตา ปวดตา ไม่สบายตา เคืองตา ตาแดง มีขี้ตา (โดย เฉพาะมีขี้ตามาก) ต้องถอดเลนส์ออกทันที/ไม่ใช้เลนส์ และรีบไปพบจักษุแพทย์/หมอตา ซึ่งทั้งนี้เป็นหลักการเช่นเดียวกับผู้ใช้คอนแทคเลนส์ทั่วไป
  2. ในทุกวันหากตื่นนอนถอดเลนส์ออกแล้วตายังพร่ามัว เสมือนไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์คือสายตาสั้นไม่ลดลง แสดงว่าใช้วิธีนี้แก้ไขสายตาไม่ได้ผล จึงควรพบจักษุแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไขสาย ตาที่เหมาะสมต่อไป