โอริทาแวนซิน (Oritavancin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 เมษายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- โอริทาแวนซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โอริทาแวนซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โอริทาแวนซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โอริทาแวนซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- โอริทาแวนซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โอริทาแวนซินอย่างไร?
- โอริทาแวนซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโอริทาแวนซินอย่างไร?
- โอริทาแวนซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
บทนำ
ยาโอริทาแวนซิน(Oritavancin) เป็นยาปฏิชีวนะกึ่งสังเคราะห์ (Semisynthetic glycopeptides antibiotic) มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับยาVancomycin ทางคลินิก นำมาใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวก ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในบริเวณผิวหนัง ยาโอริทาแวนซินได้รับการขึ้นทะเบียนจากประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.2014(พ.ศ.2557) รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดชนิดผง ที่ต้องเตรียมเป็นสารละลายก่อนใช้กับผู้ป่วย
มีข้อควรระวังก่อนใช้ยาโอริทาแวนซินกับผู้ป่วยดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ แพ้ยาปฏิชีวนะ Dalbavancin, Telavancin หรือ Vancomycin
- ห้ามใช้กับผู้ที่ได้รับยา Heparin, Warfarin, Coumadin ด้วยจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย
- การใช้ยานี้ จะทำให้การทำงานของเกล็ดเลือดต้องใช้เวลามากขึ้น ดังนั้นผู้ที่ได้รับยานี้ต้องระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บจนเกิดแผลเลือดออกเพราะจะส่งผลให้เลือดออกง่ายและเลือดที่ออกจะหยุดได้ยาก การทำงานของเกล็ดเลือดจะกลับมาเป็นปกติเมื่อหยุดใช้ยานี้อย่างต่ำประมาณ 5 วัน
- ขณะให้ยานี้เข้าทางหลอดเลือดดำ แล้วพบเห็นอาการผื่นคัน มีลมพิษ เกิดขึ้น ต้องหยุดการให้ยานี้ทันที แล้วรีบแจ้ง แพทย์/พยาบาล โดยเร็ว
- การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานต่อเนื่องมากกว่า 2 เดือนที่รวมถึงยาโอริทาแวนซิน อาจทำให้มีอาการท้องเสียรุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile ที่เป็นเชื้อประจำถิ่นในระบบทางเดินอาหาร จากการที่แบคทีเรียนี้จะเจริญเพิ่มจำนวนขึ้นในปริมาณมากจนก่อโรคเมื่อมีการใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆที่รวมถึงยาโอริทาแวนซินต่อเนื่องยาวนาน หากพบเห็นอาการท้องเสียอย่างรุนแรง แพทย์จะหยุดใช้ยาโอริทาแวนซิน และจะเร่งรักษาอาการท้องเสียนั้น
- ระหว่างได้รับยานี้ต้องระวังการเกิดภาวะกระดูกอักเสบ หากตรวจพบภาวะดังกล่าว แพทย์จะสั่งเปลี่ยนการใช้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่แทนยาโอริทาแวนซิน
- การใช้ยานี้ต้องอาศัยความต่อเนื่อง เพื่อกำจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคให้หมดฤทธิ์ ผู้ป่วยอาจจะต้องได้รับยาอย่างต่ำเป็นเวลา 5 วัน หรือตามคำสั่งแพทย์ การได้รับยานี้ในช่วง 2–3 วันแรกแล้วอาการดีขึ้น ผู้ป่วยยังคงต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องจนครบเทอมการรักษา ทั้งนี้เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค
ปัจจุบันโอริทาแวนซินที่จัดจำหน่ายจะใช้ชื่อการค้าว่า Orbactiv และสามารถพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
โอริทาแวนซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโอริทาแวนซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงในชั้นโครงสร้างของผิวหนัง
โอริทาแวนซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโอริทาแวนซินสามารถออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียจำพวก S.aureus(Staphylococcus aureus), S.pyogenes(Staphylococcus pyogenes) และ E.faecalis (Enterococcus faecalis) โดยตัวยาจะปิดกั้นการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย และยังรบกวนทำลายความสมบูรณ์ของเยื่อหุ้มเซลล์ ส่งผลให้แบคทีเรียไม่สามารถคงสภาพรูปร่างของตัวมัน หมดสภาพในการเจริญเติบโต หยุดการแบ่งเซลล์และตายลงในที่สุด
โอริทาแวนซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโอริทาแวนซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อ ที่บรรจุตัวยา Oritavancin ขนาด 400 มิลลิกรัม/ขวดและบรรจุ 3 ขวด/กล่อง
โอริทาแวนซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโอริทาแวนซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: หยดยาขนาด 1,200 มิลลิกรัมที่เตรียมเป็นสารละลายแล้วเข้าหลอดเลือดดำ วันละ1ครั้ง การหยดยาเข้าหลอดเลือดฯต้องใช้เวลานาน 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ แต่ต้องไม่เกิน 6 ชั่วโมง
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้
อนึ่ง:
- การเตรียมยานี้เป็นสารละลาย โดยละลายตัวยานี้แต่ละขวดด้วยน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ 40 มิลลิลิตร เขย่าให้ตัวยาละลายหมด หากพบเศษผงปนเปื้อน ห้ามใช้ยาเตรียมขวดนั้น
- นำยานี้ที่เตรียมเป็นสารละลายแล้วใส่ลงในสารละลาย 5% Dextrose เพื่อเจือจางตัวยา จากนั้นจึงหยดเข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วย
- ห้ามใช้ 0.9% Sodium chloride เป็นตัวเจือจางยาเตรียมนี้ เพราะยา Oritavancin จะทำปฏิกิริยากับ Sodium chloride และตกตะกอนออกมา
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโอริทาแวนซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโอริทาแวนซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
โอริทาแวนซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโอริทาแวนซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารจากเชื้อ Clostridium difficile ที่เป็นเชื้อประจำถิ่นในระบบทางเดินอาหาร
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดดำอักเสบในบริเวณที่แทงเข็มให้ยา
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้โอริทาแวนซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโอริทาแวนซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับ ยา Heparin หากจำเป็นต้องใช้ยาHeparin ควรต้องเว้นระยะเวลาการใช้ยาทั้ง2ชนิดห่างกัน 5 วันเป็นอย่างต่ำ
- ห้ามใช้ยาที่บรรจุภัณฑ์ชำรุดหรือมีสิ่งปนเปื้อนลงในตัวยา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- ตัวยานี้ที่เจือจางเป็นสารละลาย ควรใช้ให้หมดภายใน 6 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง หากนำไปแช่ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นานไม่เกิน 12 ชั่วโมง
- ห้ามหยุดใช้ยานี้โดยไม่มีคำสั่งแพทย์ ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้จนครบเทอมการรักษาเพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย
- ระหว่างที่ได้รับยานี้ ต้องระวังไม่ให้เกิดบาดแผล ด้วยจะทำให้เลือดออกง่ายและหยุดได้ช้า
- ระหว่างการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานาน อาจเปิดโอกาสให้เชื้อโรคบางชนิดเข้ามาเล่นงาน/ก่อโรคให้กับร่างกายได้
- หากพบอาการแพ้ยา เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดผื่นคันตามร่างกาย ท้องเสียบ่อยครั้ง ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบแจ้งให้ แพทย์ พยาบาลดำเนินการรักษา
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโอริทาแวนซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โอริทาแวนซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโอริทาแวนซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาโอริทาแวนซินร่วมกับ วัคซีนอหิวาตกโรค เพราะจะทำให้การกระตุ้นของวัคซีนไม่ได้ผล ก่อนใช้วัคซีนนี้ควรต้องหยุดการใช้ยาโอริทาแวนซิน 14 วันไปแล้ว
- ห้ามใช้ยาโอริทาแวนซินร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างเช่น Ethinyl estradiol ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลง ต้องใช้ถุงยางอนามัยชายแทนในการมีเพศสัมพันธ์ทางเพศ
- การใช้ยาโอริทาแวนซินร่วมกับยา Guanfacine จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Guanfacine ด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาโอริทาแวนซินอย่างไร?
ควรเก็บยาโอริทาแวนซินในช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โอริทาแวนซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโอริทาแวนซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ORBACTIV (ออแบคทีพ) | The Medicine Company |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Oritavancin [2018,March17]
- https://www.drugs.com/npc/kaolin-hydrated-aluminum-silicate.html [2018,March17]
- https://www.drugs.com/cdi/oritavancin.html [2018,March17]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/206334s000lbl.pdf [2018,March17]