โอปิออยด์ อะโกนิสต์ (Opioid agonist)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์(Opioid agonist หรือ Narcotic agonist) หรือ Opioid receptor agonist เป็นยา/สารที่มีการออกฤทธิ์คล้ายฝิ่น(Opioid) สามารถลดอาการเจ็บ/ปวดได้ ในวงการแพทย์ ยามอร์ฟีน(Morphine) จัดเป็นยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ที่โดดเด่นมากตัวหนึ่ง นอกจากยามอร์ฟีนแล้ว ยังพบเห็นยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ที่เป็นสารสังเคราะห์ได้หลายตัว อาทิเช่นยา Oxycodone, Hydromorphone, Fentanyl, Codeine, และ Hydrocodone

นอกจากฤทธิ์ลดการเจ็บปวดแล้ว ตัวยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ยังมีฤทธิ์ลดความวิตกกังวล ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม รู้สึกผ่อนคลาย ระงับอาการไอ แต่ในอีกด้านหนึ่งสาร/ยากลุ่มนี้ก็สามารถทำให้เกิดอาการ ท้องผูก รูม่านตาหดแคบลง รวมถึงกดการหายใจของผู้ที่ได้รับยาประเภทนี้

นักวิทยาศาสตร์ได้วิจัยจนค้นพบว่า ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์บางตัวมีคุณสมบัติ การเป็นยาโอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์(Opioid antagonist)ร่วมอยู่อีกด้วย

ทางคลินิก ไม่สามารถระบุขนาดการใช้ยาในระดับสูงสุดของยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ ว่าควรเป็นเท่าใด แพทย์จะใช้โอกาสการเกิดผลข้างเคียงซึ่งรวมถึงฤทธิ์การสงบประสาท/กดประสาทส่วนกลาง และฤทธิ์กดการหายใจเข้ามาเป็นปัจจัยในการเลือกขนาดการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วย

ยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์หลักๆอยู่ที่สมอง ผลที่ตามมาคือผู้ป่วยอาจเกิดการเสพติดยากลุ่มนี้หากใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานเกินความจำเป็น แพทย์สามารถช่วยเหลือผู้ที่เสพติดยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์ โดยใช้ยาโอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเสพติดได้

ยาโอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์ จะออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับ(Receptor)ตัวเดียวกันกับโอปิออยด์ อะโกนิสต์ แต่จะก่อให้เกิดฤทธิ์ตรงกันข้ามกัน นอกจากสมองหรือระบบประสาทส่วนกลางแล้ว ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ ยังเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายได้หลายอวัยวะ อาทิเช่น การทำงานของหัวใจ การทำงานของระบบทางเดินอาหาร ระบบการหายใจ การทรงตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกาย การตอบสนองทางอารมณ์ กระบวนการทางความคิด การรับรู้และการควบคุมระดับอุณหภูมิของร่างกาย

มีผู้กล่าวว่ายาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีข้อดีบางประการที่ก่อให้เกิดผลเสียตามมา อาจอธิบายคำกล่าวนี้ว่า ภาวะเคลิบเคลิ้ม รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขที่เกิดจากยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ กลับเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยชอบที่จะใช้ยาประเภทนี้บ่อยครั้งกว่าที่จำเป็น ซึ่งก่อให้เกิดการเสพติดตามมา

ผลข้างเคียงหลายประการที่อาจพบเห็นและเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ มีอยู่หลายประการแต่ที่พบเห็นได้บ่อยคือ ทำให้เกิดฤทธิ์สงบประสาท/กดประสาทส่วนกลาง มีความรู้สึกสับสน กดการหายใจ กดการทำงานของหัวใจ เหงื่อออกมาก และท้องผูก

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อาการถอนยาเมื่อผู้ป่วยหยุดการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์อย่างกะทันหัน ซึ่งมักจะแสดงออกมาด้วยอาการกระสับกระส่าย อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล รู้สึกหมดแรง ง่วงซึม และหงุดหงิด

*กรณีตรงกันข้ามกับอาการถอนยาคือ การได้รับยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์เกินขนาด ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ด้วยผู้ป่วยหลายรายต้องเสียชีวิตลงจากการรับประทานยากลุ่มนี้เกินขนาด จึงมีการสืบค้นว่าสาเหตุใดที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาดซึ่งพอสรุปออกมาเป็นข้อๆได้ดังนี้

  • ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานยานี้เพิ่มขึ้นเองโดยอยู่นอกเหนือจากคำสั่งแพทย์
  • มีการรับประทานยานี้ถี่เกินจากคำสั่งแพทย์
  • มีการรับประทานโอปิออยด์ อะโกนิสต์ร่วมกับยากดประสาทส่วนกลางกลุ่มอื่นๆจนเกิดฤทธิ์ที่เป็นผลข้างเคียงที่สูงขึ้นมากตามมา
  • รับประทานยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ หรือรับประทานร่วมกับยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
  • ผู้ป่วยแอบใช้ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ร่วมกับยาเฮโรอีน(Heroin)

สำหรับการบำบัดรักษาการได้รับยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์เกินขนาด แพทย์อาจต้องใช้ยาบางประเภทเข้ามาแก้พิษโดยเร็วอย่างเช่นยา Naloxone และต้องอาศัยหัตถการทางการแพทย์หลายด้านเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วย อย่างเช่น การใช้เครื่องช่วยการหายใจ

หากจะนำรายการยาประเภทโอปิออยด์ อะโกนิสต์มาแจกแจงในบทความนี้ทั้งหมดคงจะทำได้ยาก ด้วยยากลุ่มนี้มีอยู่หลายร้อยรายการ ทั้งนี้ โดยทั่วไป มักจะพบเห็น การสั่งจ่ายยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ทั้งนี้ด้วยฤทธิ์ของการเสพติด ฤทธิ์จากอาการถอนยา และเป็นยาที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกฎหมาย การใช้ตัวยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์รายการใดก็ตาม จึงต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น

โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โอปิออยด์อะโกนิสต์

ยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์สามารถนำมาใช้รักษาอาการโรคดังนี้ เช่น

  • อาการปวดชนิดเฉียบพลันหลังผ่าตัด
  • อาการปวดที่เกิดจากบาดแผลฉกรรจ์
  • อาการปวดจากโรคมะเร็งโดยเฉพาะโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
  • อาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์
  • ใช้ร่วมกับการใช้ยาชา/ยาสลบ เพื่อระงับอาการปวดระหว่างผ่าตัด
  • บรรเทาอาการไอที่รุนแรง ที่เป็นการไอแห้งๆ/ไอไม่มีเสมหะ
  • รักษาและบรรเทาอาการท้องเสียที่รุนแรง
  • ใช้บำบัดอาการของผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด

โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับที่ชื่อ Opioid receptors ในสมองหลายส่วนที่รวมถึงในไขสันหลังและในอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น หัวใจ ตับ ตับอ่อน กล้ามเนื้อ ไต ลำไส้ ส่งผลปิดกั้นการนำของกระแสประสาท ส่งผลทำให้หมดความรู้สึกและไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวด

นอกจากนี้ การกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางของยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ ยังมีผลกดต่อศูนย์การไอ การหายใจ รวมถึงอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ใช้ยานี้ เช่น ในด้านอารมณ์และสติปัญญา

การใช้ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์อย่างเหมาะสมตามแพทย์สั่งเท่านั้น ที่จะส่งผลดีต่อการรักษา และไม่ทำให้เกิดอาการถอนยา หรือ การติดยา

ซึ่งจากกลไกดังกล่าว จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยารับประทานชนิด ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ
  • ยาฉีด
  • ยาเหน็บทวาร
  • พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง

โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ด้วยยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ เป็นกลุ่มยาที่มีหลายชนิดและมีฤทธิ์เสพติด ดังนั้น ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยากลุ่มนี้/ยานี้ จึงขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละรายไป และต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งต้องมีการทำบันทึกการใช้ยานี้กับผู้ป่วยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อนำส่งรายงานการใช้ยากลุ่มนี้ต่อกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มี ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหืด โรคหัวใจ ท้องผูก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลาโมไตรจีนสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานในครั้งถัดไปให้รับประทานยาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานเป็น 2 เท่า

แต่การลืมรับประทานยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์บ่อยครั้ง อาจทำให้มีภาวะถอนยาตามมา

โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาหดเล็กลง อาจทำให้เห็นภาพไม่ชัด
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เกิดการเสพติด เคลิบเคลิ้ม ประสาทหลอน สับสน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น กดการหายใจ

มีข้อควรระวังการใช้โอปิออยด์ อะโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยมีการหายใจผิดปกติ เช่น ขณะเป็นหอบหืดเฉียบพลัน หรือหอบหืดขนาดรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยพิษสุราแบบเฉียบพลัน รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคตับ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่สลบ ไร้การตอบสนองต่อตัวกระตุ้น หรือขณะไม่รู้สึกตัว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์/ตังครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคของท่อระบบทางเดินน้ำดี
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Fentanyl ร่วมกับยารักษาโรคจิตประสาท/ยารักษาทางจิตเวช เช่น Phenothiazines สามารถก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
  • ห้ามใช้ยา Methadone ร่วมกับยาที่เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ เช่นยา Cisapride ด้วยการใช้ร่วมกัน สามารถกระตุ้นให้หัวใจทำงานผิดปกติจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ใช้ยาได้
  • การใช้ยา Hydrocodone ร่วมกับยา Bupropion โดยเฉพาะการใช้ในปริมาณที่สูงๆ สามารถทำให้เกิดอาการลมชักได้ ยิ่งเป็นผู้ป่วยสูงอายุโอกาสที่จะเกิดอาการลมชักยิ่งมีสูงมากขึ้นตามลำดับ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Oxycodone ร่วมกับยากลุ่ม TCAs จะเกิดการเสริมฤทธิ์ของยากลุ่มTCAs เพิ่มมากขึ้นจนอาจได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นจากยา TCAs ติดตามมา การจะใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาโอปิออยด์ อะโกนิสต์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ ดังนี้ เช่น

ก. การเก็บรักษาในสถานพยาบาล: ควรเก็บยากลุ่มนี้ในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และยาที่หมดอายุ ต้องทำรายงานขออนุมัติการทำลายจากกระทรวงสาธารณสุขทุกครั้ง

ข.การเก็บรักษาในที่พัก/ที่บ้าน: เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Durogesic Patch (ดูโรเจซิก แพท)Janssen-Cilag
Fentanyl GPO (เฟนทานิล จีพีโอ)Hexal AG
Fentanyl Hexal (เฟนทานิล เฮ็กซอล)Hexal AG
Fentanyl Janssen-Cilag (เฟนทานิล แจนเซน ซีแล็ก)Janssen-Cilag
Fentanyl Sandoz (เฟนทานิล แซนดอซ)Hexal AG
Fentanyl Tablet, Buccal (เฟนทานิล แทบเล็ท, บัคคอล)Watson Laboratories Inc
Durogesic (ดูโรเจซิก)Janssen-Cilag
Durogesic Patch (ดูโรเจซิก แพท)Janssen-Cilag
Fentanyl Janssen-Cilag (เฟนทานิล แจนเซน ซีแล็ก)Janssen-Cilag
Fentanyl Sandoz (เฟนทานิล แซนดอซ)Hexal AG
Fentanyl Tablet, Buccal (เฟนทานิล แทบเล็ท, บัคคอล)Watson Laboratories Inc
OxyContin Tablet, Film Coated (เฟนทานิล แทบเล็ท, ฟิล์ม โคท)Purdue Pharma LP
Methadone GPO (เมทาโดน จีพีโอ)GPO
Camphorated Opium Tincture GPO (แคมโฟเรทเตท โอเปียม ทิงเจอร์ จีพีโอ)GPO
Kapanol (คาพานอล)GlaxoSmithKline
Morphine Sulfate Inj Blue (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น บลู)M & H Manufacturing
Morphine Sulfate Inj Purple (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น เพอเพิล)M & H Manufacturing

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/answers/what-is-an-opioid-agonist-205450.html[2017,Sept16]
  2. http://www.opiate.com/agonist/what-do-opioid-agonists-do/[2017, Sept16]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Mu-opioid_agonists[2017, Sept16]
  4. https://www.nps.org.au/australian-prescriber/articles/opioids-mechanisms-of-action[2017, Sept16]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Opioid_receptor[2017, Sept16]
  6. http://www.news-medical.net/health/Opioid-Side-Effects.aspx[2017, Sept16]
Updated 2017,Sep27