โวราแพซาร์ (Vorapaxar)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโวราแพซาร์(Vorapaxar หรือ Vorapaxar sulfate) เป็นยาในกลุ่มทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Thrombin receptor antagonist) มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดลิ่มเลือด(Clot)ในร่างกาย ทางคลินิกจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติหัวใจวาย(Heart attack) รวมถึงผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงตีบ (Peripheral arterial disease) คุณประโยชน์ของยาโวราแพซาร์สามารถลดอัตราการตายจากโรคหัวใจ เช่น หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราของหัตถการเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน(Urgent coronary revascularization) ในทางปฏิบัติ แพทย์จะไม่ใช้ยาโวราแพซาร์เป็นยาเดี่ยวในการรักษาแต่มักจะสั่งจ่ายยาโวราแพซาร์ร่วมกับยาอีก 2 ตัวคือ Aspirin และ/หรือ Clopidogrel

ทั้งนี้ ทางการแพทย์มีข้อห้ามใช้ยาโวราแพซาร์กับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น

  • ผู้ป่วยที่มีประวัติหลอดเลือดในสมองแตก
  • ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีภาวะเลือดออกง่ายอยู่แล้ว

อนึ่ง ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการมีภาวะเลือดออกง่ายเมื่อได้รับยาโวราแพซาร์ อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำ ผู้ป่วยด้วยโรคตับ หรือโรคไต รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับยาบางประเภท อย่างเช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากลุ่มเอนเซด(NSAID) ยาSSRIs ยาSNRIs เป็นต้น

การใช้ยาโวราแพซาร์ ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ด้วยยาชนิดนี้สามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนาน 5–13 วัน หากได้รับยานี้เกินขนาดจะเป็นเรื่องที่อันตรายต่อผู้ป่วย ด้วยยังไม่มียาต้านพิษของยาโวราแพซาร์ จากรายงานทางคลินิกพบว่า ผู้ป่วยที่หยุดการใช้ยาโวราแพซาร์ ตัวยายังคงออกฤทธิ์ต้านการเกิดก้อนเลือดอุดตันได้ยาวนานถึง 4 สัปดาห์

ยาโวราแพซาร์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทานที่มีการดูดซึมจากระบบทาง เดินอาหารประมาณ 100% การทำลายยาในร่างกายจะเกิดที่ตับ ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ผู้ป่วยต้องรับประทานยาโวราแพซาร์ตามคำสั่งแพทย์ ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และปัจจุบันเราจะพบเห็นการจำหน่ายยาโวราแพซาร์ภายใต้ชื่อการค้าว่า Zontivity

โวราแพซาร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โวราแพซาร์

ยาโวราแพซาร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้ป้องกันหัวใจขาดเลือดในผู้ป่วยที่มีประวัติหัวใจวาย
  • ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดตีบจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด

โวราแพซาร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกที่ทำให้เกิดการรวมตัวของเกล็ดเลือดจนกลายเป็นก้อนเลือด/ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากเอนไซม์ที่มีชื่อว่า ทรอมบิน(Thrombin) นักวิทยาศาสตร์พบว่าโครงสร้างทางชีวะโมเลกุลของทรอมบินจะทำปฏิกิริยากับตัวรับ(Receptor)บนผิวของเกล็ดเลือดที่มีชื่อเรียกว่า Protease activated receptor-1(PAR-1) ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือดได้อย่างเหนียวแน่น

ยาโวราแพซาร์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาเข้าจับที่ตัวรับ PAR-1 ทำให้เกล็ดเลือดหมดความสามารถในการเกาะตัวกันได้อีกต่อไป ส่งผลให้ระงับการก่อตัวของก้อนเลือด ที่ก่อปัญหาอุดตันหลอดเลือดตามมา

โวราแพซาร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโวราแพซาร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีตัวยา Vorapaxar sulfate 2.5 มิลลิกรัม/เม็ด (เทียบเท่ากับ Vorapaxar 2.08 มิลลิกรัม)

โวราแพซาร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโวราแพซาร์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 2.08 มิลลิกรัม/วัน โดยสามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และขนาดยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ขณะได้รับยานี้ ต้องระวังภาวะเลือดออกในสมอง(เลือดออกในกะโหลกศีรษะ) เลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น ในกระเพาะอาหาร
  • ใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยา

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาโวราแพซาร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต มีประวัติ หลอดเลือดในสมองแตก โรคความดันโลหิตต่ำ ผ่าตัดบายพาส(Bypass)หัวใจ รักษาขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งกำลังกิน ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะ ยาโวราแพซาร์และอาหารเสริม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยโวราแพซาร์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจแนะนำวิธีรับประทานยาเมื่อลืมรับประทานในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการเจ็บป่วยของโรคแต่ละประเภท ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ควรทำอย่างไรเมื่อตนเองลืมรับประทานยานั้นๆ

โวราแพซาร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโวราแพซาร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เลือดออกในสมอง(เลือดออกในกะโหลกศีรษะ)
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน เกิดตุ่มหนอง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเลือดออกง่าย เกิดโลหิตจาง ร่างกายขาดธาตุเหล็ก
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดโรคจอตาอักเสบ/ โรคของจอตา

มีข้อควรระวังการใช้โวราแพซาร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโวราแพซาร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้มีประวัติเส้นโลหิตในสมองแตก(Stroke)
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่บาดแผลเลือดออก รวมถึงผู้ที่มีเลือดออกจากอวัยวะภายใน ร่างกาย เช่น กระเพาะอาหารหรือลำไส้(เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร)
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และ เด็ก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดรับประทานยานี้โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโวราแพซาร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา ใช้เองเสมอ

โวราแพซาร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโวราแพซาร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาโวราแพซาร์ร่วมกับยา Alteplase, Ibuprofen ,Meloxicam, ,Omacetaxine และ Urokinase เพราะจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกในร่างกายอย่างรุนแรงตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโวราแพซาร์ร่วมกับยา Carbamazepine , Rifampin ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาโวราแพซาร์ด้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโวราแพซาร์ร่วมกับยา Clarithromycin ,Voriconazole ด้วยจะ ทำให้ระดับยาโวราแพซาร์ในกระแสเลือดสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา

ควรเก็บรักษาโวราแพซาร์อย่างไร?

สามารถเก็บยาโวราแพซาร์ ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

โวราแพซาร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโวราแพซาร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ZONTIVITY (ซอนทิวิตี)MSD

บรรณานุกรม

  1. https://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/z/zontivity/zontivity_pi.pdf [2018,July21]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Vorapaxar [2018,July21]
  3. https://www.youtube.com/watch?v=uYpv8T7Qoh0 [2018,July21]
  4. https://www.drugs.com/mtm/vorapaxar.html [2018,July21]
  5. https://www.drugs.com/sfx/vorapaxar-side-effects.html [2018,July21]