โลปินาเวียร์ (Lopinavir)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 22 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โลปินาเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โลปินาเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โลปินาเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โลปินาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโลปินาเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโลปินาเวียร์อย่างไร?
- โลปินาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโลปินาเวียร์อย่างไร?
- โลปินาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- เอดส์ (AIDS)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
- ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาโลปินาเวียร์ (Lopinavir) เป็นยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี(ยาต้านเอชไอวี)ในกลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์ ย่อว่า พีไอ (Protease Inhibitors, PIs, ยาต้านการทำงานของเอนไซม์โปรติเอส/Protease enzyme) โดยกลไกของโลปินาเวียร์จะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรติเอสของเชื้อเอชไอวี ซึ่งเอนไซม์โปรติเอสดังกล่าวนี้เป็นตัวตั้งต้นชนิดหนึ่งของโปรตีนของเชื้อไวรัสเอชไอวีที่มีชื่อว่า Gag-pol polyprotein ที่ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวี ส่งผลทำให้เชื้อไวรัสฯไม่สามารถเพิ่มจำนวน (Viral load) ในร่างกายได้เนื่องจากมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ (Immature virion) จึงอยู่ในสภาวะไม่พร้อมต่อการเพิ่มจำนวน ดังนั้นเมื่อยานี้เข้าสู่ร่างกายจึงส่งผลทำให้ไวรัสเอชไอวีไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้
ข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีกลุ่ม “พีไอ” คือ การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) เมื่อใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย เนื่องจากอาจเกิดการต้านหรือการเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน เช่น หากยาที่ได้รับร่วมส่งผลให้ระดับยา พีไอ นี้ลดลงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความล้มเหลวในการรักษาเอชไอวี หรือหากยาที่ได้รับร่วมส่งผลให้ระดับยา พีไอ เพิ่มสูงขึ้นก็อาจจะส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากยา พีไอ นี้เพิ่มมากขึ้นได้
โลปินาเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโลปินาเวียร์ เป็นยาต้านเอชไอวีที่ปัจจุบันยังไม่มีสูตรยาเดี่ยว มีเฉพาะยาสูตรผสมที่มีส่วนประกอบของยาโลปินาเวียร์คู่กับยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ด้วยจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิ ภาพในการออกฤทธิ์ของยาโลปินาเวียร์ให้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อเอชไอวีได้สูงขึ้น และเพื่อลดอัตราเกิดเชื้อเอชไอวีที่ดื้อยา จึงนำยาริโทนาเวียร์ที่มีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในร่างกายคนที่ชื่อว่า Cytochrome P450 CYP3A4 (ต่อไปในบทความนี้เรียกสั้นๆว่า CYP3A4) ซึ่งเอนไซม์ CYP3A4 มีหน้าที่ทำลายยาโลปินาเวียร์ ซึ่งด้วยการลดการทำลายยาโลปินาเวียร์ในร่างกายลง ประสิทธิภาพของยาโลปินาเวียร์จึงเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวปัจจุบันจึงไม่พบการใช้ยาโลปินาเวียร์เพียงตัวเดียวในทางคลินิก แต่มียาเม็ดและยาน้ำสูตรผสมระหว่างยาโลปินาเวียร์และริโทรนาเวียร์
ข้อบ่งใช้/สรรพคุณของยาโลปินาเวียร์และริโทรนาเวียร์คือ ใช้สำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในผู้ใหญ่และในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปโดยใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดอื่นๆอีก 2 ชนิด เช่น ซิโดวูดีน (Zidovudine), ลามิวูดีน(Lamivudine) เป็นต้น
ทั้งนี้ก่อนเลือกใช้ยาโลปินาเวียร์และริโทรนาเวียร์ในผู้ป่วยมีประวัติเคยได้รับยากลุ่ม “พีไอ” มาก่อนนั้น ควรทดสอบเชื้อไวรัสเอชไอวีดื้อยาก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อเอชไอวีไม่มียีน/จีน/Gene ที่ดื้อต่อยาโลปินาเวียร์อยู่
โลปินาเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโลปินาเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรติเอส ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวเป็นตัวตั้งต้นของโปรตีนชนิดหนึ่ง (มีชื่อว่า Gag-pol polyprotein) ที่ส่งผลต่อการเจริญแบ่งตัวของเชื้อไวรัสเอชไอวี ดังนั้นเมื่อโลปินาเวียร์เข้าสู่ร่างกายแล้วทำการยับยั้งเอน ไซม์โปรติเอสของเชื้อไวรัสฯ จะทำให้การสร้างส่วนประกอบโปรตีนของไวรัสฯไม่สมบูรณ์ จึงส่งผลทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้
โลปินาเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบจำหน่ายของยาโลปินาเวียร์ในประเทศไทยมีเฉพาะยาสูตรผสมระหว่างยาโลปินาเวียร์กับยาต้านรีโทรไวรัสเอชไอวีชนิดอื่น ได้แก่
- คาเลทต้า (Kaletra®) เป็นยาสูตรผสมชนิดน้ำประกอบด้วยโลปินาเวียร์ 80 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตรและ Ritonavir 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และ
- อะลูเวียร์ (Aluvia®) เป็นยาสูตรผสมชนิดเม็ด ใน 1 เม็ดประกอบด้วยโลปินาเวียร์ 100 มิลลิกรัมและ Ritonavir 25 มิลลิกรัม
โลปินาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาโลปินาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาดังนี้ เช่น
ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับสำหรับเด็ก:
1. ขนาดยาสำหรับรักษาการติดเชื้อเอชไอวี: เช่น
- เด็กอายุน้อยกว่า 1 เดือน: ยาไม่ได้รับการรับรองให้ใช้เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลขนาดยาที่เหมาะสมและเด็กอาจได้รับผลพิษจากยา
- เด็กอายุมากกว่า 1 เดือนขึ้นไปและเด็กอายุอื่นๆ: เนื่องจากไม่มียาโลปินาเวียร์ชนิดเดี่ยวในประเทศไทย ขนาดการใช้ยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา และแนะนำศึกษาขนาดยาจากข้อมูลยาจากเอกสารกำกับยาสูตรผสมตามชนิดที่ผู้ป่วยกำลังได้รับอยู่
2. ขนาดยาในผู้ป่วยเด็กไตบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในเด็กที่มีการทำงานของไตบกพร่อง
3. ขนาดยาในผู้ป่วยเด็กตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในเด็กที่มีการทำงานของตับบกพร่องระดับน้อยถึงปานกลาง มีรายงานในผู้ป่วยที่มีตับบกพร่องปานกลางอาจทำให้ระ ดับยาในร่างกายต่ำกว่าปกติ แพทย์จึงจำเป็นต้องติดตามอาการทางคลินิกใกล้ชิด เนื่องจากยานี้ถูกเปลี่ยนโครงสร้าง (Metabolite) ผ่านตับ แต่ยังไม่มีการศึกษาในผู้ป่วยตับบกพร่องรุนแรง ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยตับบกพร่องรุนแรง
ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับสำหรับผู้ใหญ่: เช่น
1.ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี: เนื่องจากไม่มียาโลปินาเวียร์ชนิดเดี่ยวในประเทศไทย ขนาดการใช้ยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา และแนะนำศึกษาขนาดยาจากข้อมูลยาจากเอกสารกำกับยาสูตรผสมตามชนิดที่ผู้ป่วยกำลังได้รับอยู่
2. ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง
3. ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องระดับน้อยถึงปานกลาง มีรายงานในผู้ป่วยที่มีตับบกพร่องปานกลางอาจทำให้ระดับยาในร่างกายต่ำกว่าปกติ จึงจำเป็นต้องติดตามอาการทางคลินิกใกล้ชิด เนื่องจากยานี้ถูกเปลี่ยนโครง สร้างผ่านตับ แต่ยังไม่มีการศึกษาในผู้ป่วยตับบกพร่องรุนแรง จึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยตับบก พร่องรุนแรง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโลปินาเวียร์ ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังรับประทานยาอะไรอยู่ เพราะยาโลปินาเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หากเจ็บป่วยเล็กน้อยและต้องการซื้อยาเพื่อบรรเทาอาการด้วยตัวเอง ควรแจ้งเภสัชกรก่อนทุกครั้งว่ากำลังรับประทานยาโลปินาเวียร์อยู่ เนื่องจากยาโลปินาเวียร์สามารถเกิดปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นๆได้หลายชนิด
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดสำหรับความปลอดภัยในการใช้ยาโลปินาเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์และการผ่านของยาทางน้ำนม จึงพิจารณาใช้ยาโลปินาเวียร์ในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตรเฉพาะกรณีแพทย์ผู้รักษาพิจารณาประโยชน์ว่ามีมากกว่าความเสี่ยงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามเพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก จึงมักไม่แนะนำให้หญิงที่กำลังได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีอยู่ให้นมบุตร
- แจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากช่วงที่ผ่านมาลืมรับประทานยา/ไม่ได้รับยาหรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถกินยาได้อย่างสม่ำเสมอทุกวันได้ เนื่องจากยาโลปินาเวียร์เป็นยาจำเป็นที่ต้องรับประ ทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัดทุกวัน
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาโลปินาเวียร์ (ซึ่งยาสูตรผสมประกอบด้วยโลปินาเวียร์กับริโทรนาเวียร์) นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาห่างกันทุก 12 ชั่วโมงอย่างเคร่งครัดโดยแนะนำให้รับประทานพร้อมอาหาร
กรณีลืมรับประทานยาสูตรผสมนี้ ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ (หากห่างไม่เกิน 6 ชั่วโมง จากเวลารับประทานปกติ) แต่หากนึกได้ในช่วงใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่า 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทานไป จากนั้นรับประทานยาในขนาดปกติต่อไป (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือนำยามื้อที่ลืมไปมารับประทานด้วย) และรับประทานยาในมื้อถัดๆไปในขนาดยาปกติเช่นเดิม อาจบันทึกเวลาที่ลืมรับประทานยาและความถี่ในการลืมไว้ เพื่อแจ้งแพทย์พยาบาลกรณีแพทย์ต้องการทราบความร่วมมือในการใช้ยา ยกตัวอย่างเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. และ 20.00 น. หากผู้ ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. โดยนึกขึ้นได้ตอนเวลา 12.00 น.(เกินกว่าเวลาปกติที่รับประทานยา 4 ชั่วโมง) ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันที ณ เวลาที่นึกขึ้นได้ จากนั้นเมื่อถึงเวลา 20.00 น. ให้รับประทานยามื้อ 20.0 น.ในขนาดปกติ
แต่ถ้าหากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ในช่วงเวลาที่นานเกินกว่า 6 ชั่วโมงของเวลาปกติแล้ว ให้รอรับ ประทานยามื้อต่อไปโดยข้ามยามื้อที่ลืมไป และรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดปกติ (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือนำยามื้อที่ลืมไปมารับประทานด้วย) ยกตัวอย่างเช่น หากนึกขึ้นได้ว่าลืมรับ ประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 16.00 น. (เกิน 6 ชั่วโมง) ให้ผู้ป่วยข้ามยามื้อ 8.00 น. ไปเลย จดบันทึกมื้อยาที่ลืมรับประทาน และรอรับประทานยามื้อ 20.00 น. ในขนาดยาปกติ ไม่ต้องนำยามื้อ 8.00 น. ที่ลืมมารับประทานหรือเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาต้านไวรัสที่ไม่สม่ำเสมอจะทำให้ระดับยาในเลือดอยู่ในระ ดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำเสมือนเป็นการกระตุ้นให้ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ซึ่งเป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา
*การรับประทานยาเกินขนาดโดยอุบัติเหตุ ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง ไม่มียาต้านพิษที่จำเพาะเจาะจงสำหรับยาโลปินาเวียร์ โดยอาจพิจารณาให้ยาถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal) เพื่อกำจัดยาที่เหลืออยู่ที่ยังไม่ถูกดูดซึม การล้างไตเพื่อช่วยกำจัดยาออกจากกระแสเลือดสามารถทำได้ แต่ไม่น่าจะเกิดประโยชน์มากนัก เนื่องจากยานี้จับกับโปรตีนในร่างกายสูง ดังนั้นตามการรัก ษาจึงควรตรวจสัญญาณชีพและให้การรักษาตามอาการ ทางคลินิกของผู้ป่วยเป็นหลัก
โลปินาเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ของยาโลปินาเวียร์ (Lopinavir) พบได้บ่อย เช่น
- ภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง(Hyperlipidemia) โดยมีค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์, ไขมันคอเลสเตอรอลเพิ่มสูงขึ้น
- อาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสีย
นอกจากนี้ ยานี้
- อาจทำให้ค่า GGT (Gamma-Glutamyl Transpeptidase: ค่าบ่งชื้การเกิดความผิดปกติที่ตับและท่อน้ำดี)ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้, หรือ
- อาจทำให้เกิดรู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนแรง และ
- อาจพบการเพิ่มขึ้นของระดับ CPK ในเลือด (CPK: Creatinine phosphokinase/การตรวจค่าเอนไซม์ซีพีเค) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบใน หัวใจ สมอง กล้ามเนื้อ และกระดูก หากค่า CPK ในเลือดสูงหมายถึง เกิดความผิดปกติของอวัยวะ เช่น เกิดกล้ามเนื้อฉีกหรืออักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ยาโลปินาเวียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโลปินาเวียร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโลปินาเวียร์คู่กับยาดังต่อไปนี้ที่อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยารุนแรงได้ ได้แก่ยา
- อาฟูโซซิน (Alfuzosin: ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต)
- อะมิโอดาโลน (Amiodarone: ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ)
- ควินิดีน (Quinidine: ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ)
- ฟูซิดิกเอซิด (Fusidic acid: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย)
- โวลิโคนาโซล (Voriconazole: ยาต้านเชื้อรา)
- แอสทิมีโซล (Astemizole: ยาแก้แพ้)
- เทอร์ฟีนีดีน (Terfenadine: ยาแก้แพ้)
- โบรนาซีลีน (Blonaserin: ยารักษาโรคจิต)
- Ergot derivetives (ยาที่มีส่วนผสมของ Ergot ประกอบด้วย Erogatamine/เออโกตามีน: ยารักษาไมเกรน
- Ergonovine/เออร์โกโนวีน: ยาบีบมดลูก, Methylergonovine/เมททิวเออร์โกโนวีน: ยาบีบมดลูก)
- ซิสซาพาย (Cisapide: ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอา หารและลำไส้)
- สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธ (St. John's wort: สมุนไพรคลายเครียด)
- โลวาสสะตาติน (Lovastatin: ยาลดไขมัน)
- ซิมวาสสะตาติน (Simvastatin: ยาลดไขมัน)
- เซาเมทารอล (Salmeterol: ยาขยายหลอดลม)
- พิโมซายด์ (Pimozide: ยาต้านโรคจิต)
- ซิเดนาฟิว (Sidenafil: ยารักษาภาวะPulmonary Hypertension/ โรคความดันหลอดเลือดปอดสูง)
- ไมด้าโซแลม (Midazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยานอนหลับ)
- ไตรอะโซแลม (Triazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยานอนหลับ)
- ทุกครั้งที่มีการใช้ยาโลปินาเวียร์คู่กับยาชนิดอื่นๆ ควรตรวจสอบปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆเพี่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาที่มีปฏิกิริยาระหว่างยาเหล่านี้ แพทย์จะพิจารณายาอื่นที่มีโอกาสในเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่ลดลง
- ปฏิกิริยาการแพ้ยา:
- มีรายงานการเกิด ลมพิษ การเกิดผื่นที่ผิวหนังในระดับไม่รุนแรง หลอดลมหดเกร็ง/หายใจลำบาก และ แองจิโออีดีมา/Angioedema (หลอดเลือดที่ผิวหนังขยาย ก่ออาการผื่นแดง)
- แต่มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (แอแนฟิแล็กซิส /Anaphylaxis) และสตีเวนจอห์นสันซินโดรม (Steven's Johnson Syndrome)น้อยมาก แต่หากเกิดผื่นรุนแรงหรือมีผื่นระดับปานกลางร่วมกับอาการทางคลินิกอื่นๆ แนะนำให้หยุดการใช้ยานี้และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
- ปฏิกิริยาต่อตับ: ยานี้จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ตับและกำจัดผ่านตับเป็นหลัก จึงควรระมัด ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยตับบกพร่องปานกลางถึงรุนแรง พบว่าการใช้ยาโลปินาเวียร์อาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบได้
- ยาสามารถทำให้เกิดภาวะ/โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) โดยมีอาการทางคลินิก เช่น คลื่นไส้-อาเจียน ปวดท้อง หากเกิดภาวะนี้แล้วแพทย์จำเป็นที่ต้องประเมินเพื่อหยุดการใช้ยานี้
- นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติในการกระจายตัวของมวลไขมันที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ โดยมีภาวะไขมันฝ่อตัว (Lipoatrophy) มักพบไขมันฝ่อตัวบริเวณใบหน้า, แขน, ขา หรือก้น และอาจพบไขมันพอกตัวผิดปกติ โดยพบก้อนไขมันพอกที่คอด้านหลัง (Buffalo hump), เส้นรอบวงของคอขยายขึ้น 5 - 10เซนติเมตร, เต้านมขยายใหญ่ขึ้น, ไขมันสะสมตามอวัยวะภายในช่องท้องมากขึ้นทำให้มีพุง ซึ่งในผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดทั้งภาวะไขมันฝ่อตัวและไขมันพอกตัวผิดปกติ โดยมักเกิดร่วมกับภาวะไขมันในเลือดสูง, ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia), ดังนั้นหากพบว่าเกิดภาวะไขมันกระจายตัวผิดปกติในระหว่างใช้ยาโลปินาเวียร์ ให้แจ้งแพทย์ โดยแพทย์อาจมีการเปลี่ยนแปลงสูตรยาให้แก่ผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยา
- กลุ่มอาการ Immune Reconstitution Inflammatory Syndrome โดยมีรายงานเกิดกลุ่มอาการดังกล่าวในผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งกลุ่มอาการดังกล่าวคือในช่วงต้นของการรักษาเมื่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเริ่มมีการตอบสนองต่อยา ผู้ ป่วยอาจเกิดการตอบสนองแบบการอักเสบติดเชื้อต่อเชื้อฉวยโอกาสที่อยู่ในร่างกายเช่น การติดเชื้อวัณโรค, การติดเชื้อไวรัส Cytomagalovirus
- มีรายงานการเกิดเลือดออกเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยโรคเลือดฮีโมฟิเลีย (Hemophilia) ที่สัมพันธ์กับการใช้ยาในกลุ่ม”พีไอ” ที่รวมถึงยาโลปินาเวียร์
ยาโลปินาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโลปินาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
1. เมื่อใช้ยาโลปินาเวียร์คู่กับยาดังต่อไปนี้ซึ่งคาดว่าสามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ได้เช่น ฟีโนบาร์บีทาล (Phenobarbital: ยากันชัก), คาร์บามาซีปิน (Carbamazepine: ยากันชักฯ), ฟีนีทอย (Phenytoin: ยากันชักฯ), ไรแฟมปิซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาวัณโรค), ไรฟาบูติน (Rifambutin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาวัณโรค) ดังนั้นหากใช้ยาเหล่านี้ที่กล่าวมาคู่กับยาโลปินาเวียร์อาจทำให้ระดับยาโลปินาเวียร์ลดลง ซึ่งมีผลทำให้ระดับยาในการต้านเชื้อเอชไอวีลดลง ประสิทธิภาพของยาจึงลดลงตามไปด้วยเช่นกัน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
2. หากมีการใช้ยาโลปินาเวียร์ร่วมกับยากลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์อื่นๆ เช่นยา อะทาซานาเวียร์(Atazanavir), ดารุนาเวียร์ (Darunavir), ฟอสแอมพรีนาเวียร์ (Fosamprenavir), อินดินาเวียร์(Indinavir), ซาควินาเวียร์ (Saquinavir), ทิพล่านาเวียร์ (Tipranavir) แพทย์จะปรับขนาดยาแต่ละตัวโดยใช้ข้อมูลการศึกษาปฏิกิริยาระหว่างยากับยาในการปรับขนาดยาแต่ละตัวเมื่อใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับขนาดยาที่ถูกต้องเหมาะสมเพียงพอต่อการรักษา
3. นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายชนิดที่อาจจะทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้เมื่อใช้คู่กับยาโลปินาเวียร์ ซึ่งแพทย์และเภสัชกรจะตรวจสอบคู่ยาที่ได้รับร่วมหากกำลังใช้โลปินาเวียร์เสมอ
ควรเก็บรักษาโลปินาเวียร์อย่างไร?
เนื่องจากไม่มียาโลปินาเวียร์ชนิดเดี่ยวจำหน่ายในประเทศไทย มีเฉพาะยาสูตรผสมที่มีส่วน ประกอบของยาโลปินาเวียร์ ดังนั้นวิธีการเก็บรักษายา แนะนำให้ศึกษาในเอกสารกำกับยา/ฉลากยาสูตรผสมตามชนิดที่ผู้ป่วยกำลังได้รับอยู่
โดยทั่วไปแล้วยาโลปินาเวียร์คู่กับยาริโทนาเวียร์จะมีลักษณะทางเภสัชภัณฑ์ 2 รูปแบบคือ เป็นยาเม็ดชนิดเคลือบฟิล์ม (Film-coated Tablets) และยาน้ำ
แนะนำให้เก็บยานี้รูปแบบยาเม็ดชนิดเคลือบฟิล์มที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงโดยไม่ถูกแสงแดดหรือแสงสว่างส่องถึงโดยตรง โดยเก็บในภาชนะบรรจุเดิม ไม่เก็บยาในที่ร้อนเช่น ในรถยนต์ หรือในที่ชื้นเช่น ห้องครัว ห้องน้ำ เนื่องจากยาอาจชื้นได้ง่าย จึงแนะนำเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมและคอยสังเกตลักษณะเม็ดยา หากเม็ดยาเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพ(เช่น ยาเปลี่ยนสี เม็ดยาแตก) ควรทิ้งยาไปเนื่องจากยาอาจขาดประสิทธิภาพ
อีกรูปแบบเภสัชภัณฑ์หนึ่งคือยาน้ำ แนะนำเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส(Celsius) โดยห้ามเก็บในช่องแช่เข็ง หากเก็บที่อุณหภูมิห้องนอกตู้เย็น ควรเก็บให้พ้นจากแสง ไม่ให้แสงแดดหรือแสงสว่างส่องถึงยาโดยตรง และกรณีเก็บยานอกตู้เย็น (ณ อุณหภูมิห้อง) ควรใช้ยาในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือนเพื่อประสิทธิภาพของยา
โลปินาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ไม่มียาโลปินาเวียร์ชนิดเดี่ยวจำหน่ายในประเทศไทย แต่มียาชนิดสูตรผสมที่มีส่วนประกอบของยาโลปินาเวียร์จำหน่ายดังนี้เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
คาเลทต้า (Kaletra) | Abbvie |
อะลูเวียร์ (Aluvia®) | Abbvie |
บรรณานุกรม
- Taketomo CK, Hodding, JH, Kraus DM, .Pediatric & Neonatal Dosage Handbook, 19th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2012
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
- มานิตย์ วัชร์ชัยนันท์. Drug interactions: CYP3A4 (มารู้จักกับเอ็นไซม์ CYP3A4 กันเถอะ) http://vatchainan2.blogspot.com/2011/03/drug-interactions-cyp3a4-cyp3a4.html [2021,Aug21]