โลปราโซแลม (Loprazolam/Triazulenone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- โลปราโซแลมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โลปราโซแลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โลปราโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โลปราโซแลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โลปราโซแลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โลปราโซแลมอย่างไร?
- โลปราโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโลปราโซแลมอย่างไร?
- โลปราโซแลมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)
บทนำ
ยาโลปราโซแลม(Loprazolam หรืออีกชื่อคือ Triazulenone)เป็นหนึ่งในกลุ่มยาBenzodiazepine ทางคลินิกนำมาใช้รักษา อาการวิตกกังวล อาการชัก ใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด และยานอนหลับ รวมถึงมีฤทธิ์เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ โดยทั่วไป ยานี้มีขนาดรับประทานอยู่ที่ 1 หรือ 2 มิลลิกรัมก่อนนอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
ยาโลปราโซแลมมีการออกฤทธิ์คล้ายกับยากลุ่มBenzodiazepine ทั่วไป โดยมี กลไกต่อตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ GABA receptor ในระบบประสาทส่วนกลาง และมีการออกฤทธิ์ในระยะเวลาสั้นๆ ทั้งนี้หลังจากตัวยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ยาชนิดนี้จะมีระยะเวลาอยู่ในร่างกาย/ในกระแสโลหิตได้นานประมาณ 6–12 ชั่วโมง แต่กรณีผู้สูงอายุ ร่างกายจะกำจัดตัวยานี้ได้ช้ากว่าคนทั่วไป ทำให้ยาโลปราโซแลมสามารถอยู่ในร่างกายผู้สูงอายุได้นานประมาณ 19.8 ชั่วโมง และเป็นเหตุผลทำให้แพทย์จะรักษาอาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุด้วยการเริ่มให้ยานี้ขนาดต่ำที่สุดก่อน
ด้วยยาโลปราโซแลมเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง/ระบบประสาทส่วนกลาง หากใช้ไม่ถูกต้อง ก็สามารถก่อให้เกิดการเสพติด หรือทำให้เกิดภาวะถอนยาขึ้นได้ ทางคลินิกจึงมีข้อแนะนำให้ใช้ยานี้เพียงระยะสั้นๆโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
สำหรับข้อจำกัดการใช้ยาโลปราโซแลมที่ควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีปัญหาการทำงานของปอด ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ ผู้มีภาวะทางจิตใจ เช่น ซึมเศร้า รวมถึงมีอาการหวาดระแวง ผู้มีภาวะหยุดหายใจบ่อยๆขณะนอนหลับ(นอนหลับแล้วหยุดหายใจ) และผู้ที่มีประวัติติดสุรา
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับกลุ่มยานอนหลับประเภทอื่นๆ
- กรณีมีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ ด้วยยาโลปราโซแลมจะถูกทำลายโดยตับ และขับทิ้งออกจากร่างกายโดยผ่านไต หากอวัยวะทั้งตับและไตทำงานผิดปกติ ย่อมส่งผลให้ตัวยานี้อยู่ในร่างกายได้ยาวนาน จนอาจเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)รุนแรงจากยานี้ต่างๆตามมาได้มากมาย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโลปราโซแลมร่วมกับยาบางประเภท เพื่อป้องกันการเกิดอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาทางจิตเวช ยากันชัก ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด ยาต้านฮีสตามีน(ยาแก้แพ้)ที่มีฤทธิ์สงบประสาท
- ห้ามรับประทานยาโลปราโซแลมร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดฤทธิ์สงบประสาท/กดประสาทมากยิ่งขึ้น
- ระหว่างการใช้ยานี้แล้วมีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ต้องเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร เพราะจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุอันตรายได้ง่าย
อนึ่ง ด้วยยาโลปราโซแลมออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง การใช้ยาโลปราโซแลมได้อย่างปลอดภัย จึงควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และยานี้มักถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์ตามสถานพยาบาล ซึ่งในต่างประเทศเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Dormonoct” และ “Havlane”
โลปราโซแลมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโลปราโซแลมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ โดยทางคลินิก จะใช้ยานี้มาบำบัดอาการนอนไม่หลับ โดยมีระยะเวลาการใช้ยาเพียงสั้นๆ
โลปราโซแลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโลปราโซแลม มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อสมอง โดยตัวยาจะยับยั้งการส่งกระแสประสาทที่ใช้ควบคุมการทำงานของ กล้ามเนื้อ และของความรู้สึกตัว ส่งผลให้ผู้ที่ใช้ยานี้มีอาการสงบประสาท ลดความวิตกกังวล รวมถึงเกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ ด้วยกลไกเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
โลปราโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโลปราโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Loprazolam ขนาด 1 และ 2 มิลลิกรัม/เม็ด
โลปราโซแลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโลปราโซแลม มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1 มิลลิกรัม ครั้งเดียวก่อนนอน ทั้งนี้แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 1.5 หรือ 2 มิลลิกรัมตามความจำเป็น
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยการใช้ยานี้ในเด็ก โยทั่วไปจึงห้ามใช้ยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ไม่ควรใช้ยานี้นานติดต่อกันเกิน 4 สัปดาห์
- ผู้สูงอายุควรเริ่มรับประทานยานี้ที่ 0.5 มิลลิกรัม และขนาดรับประทานยาสูงสุดของผู้สูงอายุไม่ควรเกิน 1 มิลลิกรัมต่อวัน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโลปราโซแลม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคทางจิตเวช รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโลปราโซแลมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโลปราโซแลม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าให้รับประทานในขนาดปกติ
โลปราโซแลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโลปราโซแลมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน รู้สึกสับสน เดินเซ ง่วงนอน อุณหภูมิร่างกายต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
- ผลต่อตับ: เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน อาจรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง
- ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
มีข้อควรระวังการใช้โลปราโซแลมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโลปราโซแลม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยน
- ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 4 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดยา
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโลปราโซแลมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โลปราโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโลปราโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโลปราโซแลมร่วมกับยา Cisapride อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาโลปราโซแลมสูงขึ้นตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามรับประทานยาโลปราโซแลมร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้ได้รับอาการข้างเคียงจากยานี้สูงมากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาโลปราโซแลมร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ ด้วยจะทำให้มีอาการกล้ามเนื้อ อ่อนแรงมากขึ้น
- ห้ามใช้ยาโลปราโซแลมร่วมกับยารักษาทางจิตเวช ด้วยจะทำให้เกิดภาวะกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง/กดสมอง มากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาโลปราโซแลมอย่างไร?
ควรเก็บยาโลปราโซแลม ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
โลปราโซแลมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโลปราโซแลม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dormonoct (ดอร์โมนอก) | sanofi Aventis |
Havlane (แฮฟเลน) | sanofi Aventis |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Sonin, Somnovit
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Loprazolam[2017,July15]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/loprazolam/?type=brief&mtype=generic[2017,July15]
- https://www.drugs.com/uk/pdf/leaflet/895906.pdf[2017,July15]
- http://home.intekom.com/pharm/hmr/dormnoct.html[2017,July15]