โรฟลูมิลาสท์ (Roflumilast)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- โรฟลูมิลาสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โรฟลูมิลาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โรฟลูมิลาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โรฟลูมิลาสท์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โรฟลูมิลาสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โรฟลูมิลาสท์อย่างไร?
- โรฟลูมิลาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโรฟลูมิลาสท์อย่างไร?
- โรฟลูมิลาสท์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- PDE selective inhibitors
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- ปอด: กายวิภาคปอด (Lung anatomy) / สรีรวิทยาของปอด (Lung physiology)
บทนำ
ยาโรฟลูมิลาสท์ (Roflumilast) เป็นยาในกลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (PDE 4 selective inhibitors) มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบที่หลอดลมและที่ถุงลมปอดของร่างกาย ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD) ซึ่งมักจะมีอาการของหลอดลมอักเสบร่วมด้วย ยาโรฟลูมิลาสท์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ยานี้มีการดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารประมาณ 79% ตับจะคอยทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่องและทำให้ได้สาร/ยาที่ออกฤทธิ์ คือ N-oxide metabolite ทั้งนี้ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 17 ชั่วโมงในการกำจัดยาโรฟลูมิลาสท์ที่ยังไม่ถูกเปลี่ยนโครงสร้าง และประมาณ 30 ชั่วโมงต่อการกำจัด N-oxide metabolite โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
สำหรับผู้บริโภค/ผู้ป่วย มีข้อควรทราบโดยทั่วๆไปของยาโรฟลูมิลาสท์ดังนี้ เช่น
- ตัวยาโรฟลูมิลาสท์ใช้บำบัดและป้องกันอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังก็จริง แต่ไม่ สามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหายใจขัด/หายใจลำบากหรือขณะกำลังแสดงอาการกำเริบ กรณีนี้ต้องใช้ยาสูดพ่นแบบออกฤทธิ์เร็วเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเท่านั้น
- ยาโรฟลูมิลาสท์เป็นยาที่ถูกทำลายโดยตับ จึงควรหลีกเลี่ยง/ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคตับ ด้วยจะทำให้เกิดการสะสมของตัวยาโรฟลูมิลาสท์ในร่างกายจนอาจกระตุ้นการเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อร่างกายจากยาโรฟลูมิลาสท์ตามมา
- ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยาโรฟลูมิลาสท์ใน สตรีมีครรภ์ สตรีที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดา และในเด็ก จึงถือเป็นข้อห้ามใช้ยาโรฟลูมิลาสท์กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
- ผลข้างเคียงประการหนึ่งของยาโรฟลูมิลาสท์ คือ จะทำให้น้ำหนักตัวลดลง กรณีนี้ ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อบำบัดอาการข้างเคียงดังกล่าว
- เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์
- การรับประทานยาชนิดใดๆร่วมกับยาโรฟลูมิลาสท์จะต้องได้รับการยินยอมจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ตามมา ตัวอย่างยาที่ควรหลีกเลี่ยงหรือห้ามใช้กับยาโรฟลูมิลาสท์ เช่นยา Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin, หรือ Rifampin
- รายงานทางคลินิกพบว่า ผู้ที่ได้รับยาโรฟลูมิลาสท์อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจสังเกตจากอาการดังต่อไปนี้ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจขัด/หายใจลำบาก เหงื่อออกมาก วิงเวียน เป็นลม กรณีเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง เพราะนอกจากแพทย์จะดูความก้าวหน้าของการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหลังได้รับยาโรฟลูมิลาสท์แล้ว แพทย์จะตรวจติดตามการทำงานของตับ น้ำหนักตัว รวมถึงตรวจหัวใจว่า มีความผิดปกติหรือไม่
- โรคบางอย่างที่เกิดกับผู้ป่วย อาทิ เอชไอวี(HIV) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(MS) โรคลูปัส(Lupus erythematosus) ตับอักเสบขั้นรุนแรง โรคมะเร็ง วัณโรค โรคเริม และโรคงูสวัด อาจไม่เหมาะต่อการใช้ยาโรฟลูมิลาสท์ ด้วยตัวยาโรฟลูมิลาสท์ สามารถกระตุ้นอาการของโรคเหล่านั้นให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ยาโรฟลูมิลาสท์ถูกจัดเป็นยาทางเลือกอีกหนึ่งรายการสำหรับรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง สามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า “Daxas” ซึ่งหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาชนิดนี้ ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จากแพทย์ และจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้ทั่วไป
โรฟลูมิลาสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโรฟลูมิลาสท์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดป้องกันและควบคุมอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD)
โรฟลูมิลาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
cAMP (Cyclic adenosine monophosphate)เป็นสาร/หน่วยย่อยที่อยู่ในเซลล์ร่างกายของมนุษย์ มีหน้าที่ควบคุมกระบวนการชีวะเคมีหลายประเภท รวมถึงกระบวนการอักเสบของเซลล์และของเนื้อเยื่อต่างๆ การมีปริมาณ cAMP อย่างเหมาะสมจะทำให้การควบคุมการทำงานของระบบภูมิต้าน/ภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค มิให้ออกฤทธิ์มากจนเกินไป และภายในเซลล์ สาร cAMP จะถูกทำลายหรือแปลงสภาพด้วยเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Phosphodiesterase 4 (PDE 4) กรณีที่มี PDE 4 มากเกินไปจะทำให้ cAMP มีปริมาณลดลง จึงส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานมากขึ้นผิดปกติโดยปล่อยสารกระตุ้นการอักเสบออกมาเล่นงานเซลล์ปกติของร่างกายจนกระทั่งเกิดอาการอักเสบตามมา ตัวยาโรฟลูมิลาสท์เป็นยาที่มีฤทธิ์/กลไกการออกฤทธ์ยับยั้งการทำงานของ PDE 4 จึงทำให้ระดับ cAMP กลับมาเป็นปกติ และช่วยลดการปลดปล่อยสารที่กระตุ้นการอักเสบของเซลล์ในหลอดลมและในถุงลมปอด ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนดังกล่าว จึงเป็นที่มาของสรรพคุณในการรักษาโรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง ของยานี้
โรฟลูมิลาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโรฟลูมิลาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Roflumilast ขนาด 500 ไมโครกรัม/เม็ด
โรฟลูมิลาสท์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโรฟลูมิลาสท์มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 500 ไมโครกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
อนึ่ง:
- โรฟลูมิลาสท์เป็นยาที่ช่วยลดความเสี่ยงและควบคุมมิให้เกิดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD) ไม่สามารถใช้เป็นยาขยายหลอดลม หรือใช้บรรเทาอาการหอบหืดแบบเฉียบพลันได้ ผู้ป่วยควรมียาขยายหลอดลมเพื่อบำบัดอาการหอบหืดหรืออาการหลอดลมหดเกร็งแบบเฉียบพลันติดตัวตามแพทย์สั่งเพื่อใช้ยามฉุกเฉินเสมอ
- หลังการใช้ยาโรฟลูมิลาสท์ แล้วพบอาการน้ำหนักตัวลดลงอย่างมากซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายของผู้ป่วย แพทย์อาจจำเป็นต้องหยุดใช้ยาชนิดนี้ และปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ยาตัวใหม่ทดแทน
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโรฟลูมิลาสท์มี ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโรฟลูมิลาสท์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา โรฟลูมิลาสท์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโรฟลูมิลาสท์ ตรงเวลา
โรฟลูมิลาสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโรฟลูมิลาสท์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ตัวสั่น
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้น
- ผลต่อการเกิดมะเร็ง: เช่น อาจก่อให้เกิดมะเร็งปอดหรือมะเร็งต่อมลูกหมากได้ แต่พบได้น้อย และต้องใช้ยานี้ปริมาณสูง ต่อเนื่อง เป็นเวลานาน
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลดลงอย่างมาก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึม มีความคิดหรือพฤติกรรมอยาก ทำร้ายตนเอง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน หรือเกิดลมพิษ
- ผลต่อไต: เช่น ไตวายเฉียบพลัน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ตับอ่อนอักเสบ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาเจียน
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง เป็นตะคริว
มีข้อควรระวังการใช้โรฟลูมิลาสท์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโรฟลูมิลาสท์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- งดการสูบบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- หลังการใช้ยานี้ถ้าอาการป่วยไม่ดีขึ้น ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- หากเกิดอาการแพ้ยานี้ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานยาต่างๆ อาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย และต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโรฟลูมิลาสท์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โรฟลูมิลาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโรฟลูมิลาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาโรฟลูมิลาสท์ร่วมกับ ยาHydrocortisone ด้วยจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถดถอยและมีการติดเชื้อต่างๆได้ง่ายยิ่งขึ้นตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโรฟลูมิลาสท์ร่วมกับยา Amiodarone, Ciprofloxacin, Isoniazid เพราะจะทำให้ระดับยาโรฟลูมิลาสท์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงสูงขึ้นจากโรฟลูมิลาสท์ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง น้ำหนักตัวลด ปวดศีรษะ
- การใช้ยาโรฟลูมิลาสท์ร่วมกับยา Phenobarbital และ Phenytoin อาจทำให้ระดับ ยาโรฟลูมิลาสท์ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาโรฟลูมิลาสท์ด้อยลงมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาโรฟลูมิลาสท์อย่างไร?
ควรเก็บยาโรฟลูมิลาสท์ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
โรฟลูมิลาสท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโรฟลูมิลาสท์ที่จำหน่ายในประเทศไทยมีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Daxas (ดาซัส) | Takeda GmbH |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Daliresp
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Roflumilas [2017,Nov18]
- https://www.hpra.ie/img/uploaded/swedocuments/edumat_auto_84ec9172-33b6- 4856-bfe1-0b8e5d8d97eb.pdf [2017,Nov18]
- https://www.medicines.org.uk/emcmobile/PIL.23423.latest.pdf [2017,Nov18]
- https://www.drugs.com/cdi/roflumilast.html [2017,Nov18]
- https://www.drugs.com/ppa/roflumilast.html [2017,Nov18]
- https://www.drugs.com/dosage/roflumilast.html [2017,Nov18]
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-arrhythmia/symptoms-causes/dxc-20188128 [2017,Nov18]
- http://www.discoverpde4.com/role-of-pde4.html [2017,Nov18]
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/copd/diagnosis-treatment/drc-20353685 [2017,Nov18]