โรพินิโรล (Ropinirole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 มิถุนายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- โรพินิโรลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โรพินิโรลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โรพินิโรลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โรพินิโรลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โรพินิโรลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โรพินิโรลอย่างไร?
- โรพินิโรลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโรพินิโรลอย่างไร?
- โรพินิโรลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โดพามีน อะโกนิสต์ (Dopamine agonist)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
บทนำ
ยาโรพินิโรล(Ropinirole หรือ Ropinirole hydrochloride)เป็นยาประเภท โดพามีน อะโกนิสต์ (Dopamine agonist) ซึ่งมีโครงสร้างเคมีเหมือนกับสารสื่อประสาทในสมองของมนุษย์ ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการของโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) และกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข(Restless legs syndrome)
ยาโรพินิโรลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า D2, D3 และ D4 receptors(D คือ Dopamine) ส่งผลให้มีการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองที่เหมาะสม ทำให้การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายจากสมองดีขึ้น
เภสัชภัณฑ์ของยาโรพินิโรลเป็นยารับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 50% ตับจะใช้เอนไซม์ชนิด CYP1A2(Cytochrome P450 1A2 )ทำลายโครงสร้างของยาโรพินิโรลอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5–6 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด
ผู้ที่จะได้รับยาโรพินิโรลจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองร่างกายจากแพทย์ ตลอดจนถึงขั้นการใช้ยาก็ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่แพทย์ต้องพิจารณาความเหมาะสม ความปลอดภัย ของการใช้ยานี้เป็นกรณีๆไป เช่นการใช้กับ สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่างๆ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ ผู้ที่ติดบุหรี่-สุรา หรือแม้แต่ผู้ที่มีประวัติติดสาร/ยาเสพติด ด้วยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว สามารถได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อสุขภาพได้อย่างมากมายเมื่อใช้ยาโรพินิโรล
ผู้ป่วยพาร์กินสันหรือผู้ป่วยกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขที่ได้รับยาโรพินิโรล จะต้องใช้ยานี้ต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการโรคให้เป็นปกติตลอดเวลา การหยุดใช้ยานี้อย่างกระทันหันโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงอย่างมากมาย เช่น รู้สึกสับสน มีไข้ กล้ามเนื้อมีอาการแข็งเกร็ง เป็นต้น โดยทั่วไป การหยุดใช้ยาโรพินิโรลจะต้องลดขนาดรับประทานลงเป็นลำดับๆ และใช้เวลาพอประมาณ
เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้ยาโรพินิโรล อาจสรุปข้อปฏิบัติต่างๆได้ดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- กรณีผู้ป่วยใช้ยานี้แล้วมีอาการ วิงเวียน ห้ามมิให้ผู้ป่วยขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ หรือทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้าม/หลีกเลี่ยงการรับประทานโรพินิโรลพร้อมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียน และอาจถึงขั้นเป็นลมได้ง่าย มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงไม่นำผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ไปอยู่ในที่มีอากาศร้อนอบอ้าว ด้วยจะกระตุ้น ให้เกิดอาการไข้กับผู้ป่วย
- ห้ามรับประทานยานี้เกินจากคำสั่งแพทย์ เพราะจะทำให้ได้รับผลข้างเคียงตามมา
- กรณีมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้ ที่รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นอาการ วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน ควรรีบนำผู้ป่วยกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อเพื่อแพทย์พิจารณาบำบัดและเยียวยาอาการข้างเคียงดังกล่าว
ในประเทศเรา ก็มียาโรพินิโรล โดยจัดจำหน่ายและนำมาใช้ในสถานพยาบาล ทางคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาชนิดนี้อยู่ในหมวดยาอันตราย และการใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาโรพินิโรล ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรตามสถานพยาบาลที่เข้าตรวจรักษาได้
โรพินิโรลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโรพินิโรลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาและบำบัดอาการโรคพาร์กินสัน
- รักษาและบำบัดอาการของกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข
โรพินิโรลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโรพินิโรลคือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับประเภท Dopamine receptor ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง และเกิดสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ผู้ป่วยจึงมีการทรงตัวและมีการเคลื่อนไหวได้เป็นปกติขึ้น จึงช่วยบรรเทาอาการป่วยของโรคอย่างเช่น โรคพาร์กินสันและกลุ่มอาการอาการขาอยู่ไม่สุข
โรพินิโรลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโรพินิโรลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ออกฤทธิ์ได้นาน ประกอบด้วยตัวยา Ropinirole ขนาด 2 , 4, และ 8 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ออกฤทธิ์ทันที ประกอบด้วยตัวยา Ropinirole ขนาด 0.25, 0.5, และ 1 มิลลิกรัม/เม็ด
โรพินิโรลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโรพินิโรล มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาโรคพาร์กินสัน:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาชนิดออกฤทธิ์นานขนาด 2 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง จากนั้นทุกๆ 1–2 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 2 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 24 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับรักษากลุ่มอาการโรคขาอยู่ไม่สุข: สามารถใช้ยาทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์ทันที(ยกตัวอย่างขนาดยา ในบทความนี้) และออกฤทธิ์นานร่วมในการรักษา
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาชนิดออกฤทธิ์ทันทีขนาด 0.25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หลังจากนั้นอีก 2 วัน แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 0.5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน, สัปดาห์ที่ 2 แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานยาเป็น 1 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, สัปดาห์ที่ 3 แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานยาเป็น 1.5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, สัปดาห์ที่ 4 แพทย์อาจปรับการรับประทานยาเป็น 2 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, สัปดาห์ที่ 5 แพทย์อาจปรับการรับประทานยาเป็น 2.5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, สัปดาห์ที่ 6 แพทย์อาจปรับการรับประทานยาเป็น 3 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, และสัปดาห์ที่ 7 แพทย์อาจปรับการรับประทานยาเป็น 4 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, ทั้งนี้ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- การปรับขนาดรับประทานแต่ละครั้ง แพทย์จะดูการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยา เป็นสำคัญ
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโรพินิโรล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคกระเพาะอาหาร รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรือ อาหารเสริม และ/หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอะไรอยู่ เพราะยาโรพินิโรล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับ อาหารเสริม/ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโรพินิโรล สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ กรณีที่เวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาด รับประทานเป็น 2เท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ
อย่างไรก็ดี การหยุดรับประทานยาโรพินิโรลทันที อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากภาวะถอนยาตามมา
โรพินิโรลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโรพินิโรลสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร ปากแห้ง ปวดท้อง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ตัวสั่น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ประสาทหลอน รู้สึกสับสน วิตกกังวล ฝันร้าย กระสับกระส่าย
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตอาจสูงหรืออาจต่ำ เจ็บหน้าอก ขาบวม หน้าแดง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว มือ-เท้าบวม
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น ติดเชื้อโรคหวัดได้ง่าย
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า การมองเห็นภาพผิดปกติไป
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเหงื่อออกมาก
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้โรพินิโรลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโรพินิโรล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้โดยไม่ปรึกษาแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น สีเม็ดยาเปลี่ยนไป เม็ดยาแตกหัก
- หากมีอาการแพ้ยานี้ เช่น มือ-เท้า-ใบหน้าบวม มีผื่นคัน-ลมพิษขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรง พยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- กรณีใช้ยานี้ไปแล้วตามเวลาที่เหมาะสมตามแพทย์แนะนำ แต่อาการไม่ดีขึ้น ควรกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- หากมีอาการ วิงเวียน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงาน ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องจักร ด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ตรวจสอบความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอในระหว่างใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโรพินิโรลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองทุกครั้ง
โรพินิโรลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
โรพินิโรลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา โรพินิโรลร่วมกับยา Cimetidine, Ciprofloxacin, Erythromycin, Fluvoxamine, Isoniazid, Ritonavir, จะทำให้ระดับยาโรพินิโรลในกระแสเลือด เพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาโรพินิโรลสูงขึ้นตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- ห้ามใช้ยาโรพินิโรลร่วมกับยากลุ่ม Dopamine antagonist ตัวอื่นๆ ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาโรพินิโรลด้อยลงไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโรพินิโรลร่วมกับยา Propoxyphene เพราะจะทำให้เกิด อาการข้างเคียงต่างๆสูงขึ้น อย่างเช่น วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน
- การรับประทานยาโรพินิโรลร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างเช่น Ethinyl estradiol อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาโรพินิโรลมากขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ง่วงนอน เป็นลม หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะ ปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาโรพินิโรลอย่างไร
ควรเก็บยาโรพินิโรลในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
โรพินิโรลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโรพินิโรลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Requip PD 24 Hour (รีควิป พีดี 24 ชั่วโมง) | GlaxoSmithKline |
อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Requip, Requip XL, Parkirop, Ropark, Ropeway
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/requip%20pd%2024%20hour/?type=brief[2017,May20]
- https://www.drugs.com/cdi/ropinirole.html[2017,May20]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/020658s018s020s021lbl.pdf[2017,May20]
- https://www.drugs.com/dosage/requip-xl.html[2017,May20]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/ropinirole/?type=brief&mtype=generic[2017,May20]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/ropinirole-index.html?filter=3&generic_only=[2017,May20]