โรต้าไวรัสพาท้องร่วง (ตอนที่ 1)

โรต้าไวรัสพาท้องร่วง-1

      

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 พบผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวแล้ว 925,149 ราย เสียชีวิต 7 ราย ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือภาคเหนือ กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี

โดยตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเป็นกลุ่มก้อน จำนวน 4 เหตุการณ์ ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อโรต้าไวรัส

ในการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในสัปดาห์นี้ จึงคาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงที่มีสาเหตุจากเชื้อ โรต้าไวรัส เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าวจะเจริญเติบโตและทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ดีในช่วงฤดูหนาว จึงทำให้ประชาชนมีโอกาสได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารและน้ำ หรือสัมผัสกับของเล่นหรือเครื่องใช้ที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้มีคำแนะนำสำหรับประชาชน คือเลือกรับประทานอาหารและน้ำที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ และมีการปรุงหรือผลิตที่ได้มาตรฐาน ก่อนรับประทานอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และในกรณีที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ควรระมัดระวังเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้เป็นกรณีพิเศษ ไม่ควรใช้ภาชนะหรือแก้วร่วมกับผู้อื่น หากผู้ใดมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ควรดื่มน้ำเกลือแร่หรือสารละลายเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปทันที

หากอาการยังไม่ดีขึ้น รู้สึกอ่อนเพลีย อาเจียนรุนแรง หรือมีอาการขาดน้ำ ควรรีบไปพบแพทย์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วงได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

โรต้าไวรัส (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสที่มีลักษณะกลม เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงที่ติดต่อได้ โรต้าไวรัสมีหลายชนิด มักพบในทารกและเด็กทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 215,000 รายต่อปี โดยเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีต้องเคยติดเชื้อนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งการติดเชื้อซ้ำจะมีอาการรุนแรงลดลง

อาการของการติดเชื้อโรต้าไวรัสมักเกิดขึ้นภายใน 2 วันหลังการติดเชื้อ โดยมีอาการ

  • เป็นไข้
  • อาเจียน
  • ถ่ายเหลว
  • ปวดท้อง

แหล่งข้อมูล:

  1. โรต้าไวรัส สาเหตุโรคอุจจาระร่วง. https://www.thaihealth.or.th/Content/50609-a.html [2020, February 5].
  2. Rotavirus. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/rotavirus/symptoms-causes/syc-20351300 [2020, February 5].
  3. Rotavirus. https://www.cdc.gov/rotavirus/index.html [2020, February 5].
  4. What Is Rotavirus? https://www.webmd.com/children/guide/what-is-rotavirus#1 [2020, February 5].