โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส โรคไอพีดี
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 24 กันยายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส?
- โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดได้อย่างไร?
- โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสอย่างไร?
- มีแนวทางรักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสอย่างไร?
- โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสมีผลข้างเคียงและความรุนแรงของโรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองและป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- หูติดเชื้อ (Ear infection)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)
- กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
บทนำ
โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส (Invasive pneumococcal infection) หรือโรคไอพีดี (IPD, Invasive pneumococcal disease) คือโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการติดต่อกันระหว่างคนสู่คน เชื้อโรคสามารถก่อโรคได้ในหลายอวัยวะ โดยส่วนใหญ่จะทำให้เกิดปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม โรคนี้มียาปฏิชีวนะสำหรับรักษาและมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค
โรคนี้พบได้ทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ แต่พบว่าคนพื้นเมืองอลาสกา (Native Alaskan) คนพื้นเมืองของอเมริกา (Native American) และคนผิวดำเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน (African American) มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ วัยที่พบเป็นโรคนี้ได้มากมี 2 ช่วงคือ ช่วงวัยทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 2 ปี และในวัยผู้ใหญ่อายุมากกว่า 55 ปี
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส?
แบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ชื่อ Streptococcus pneumoniae หรือเรียกว่าเชื้อนิวโมคอกคัส (Pneumococcus) เชื้อถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2424 เป็นแบคทีเรียที่มีรูปร่างคล้ายปลายใบมีดผ่าตัดที่มีคม 2 ด้าน (Lancet-shaped) 2 อันมาอยู่ติดกัน และมีแคปซูล (Capsule) ล้อมรอบ สามารถแบ่งเชื้อแบคทีเรียตามคุณสมบัติของแคปซูลออกได้มากกว่า 90 สายพันธุ์ย่อย
การติดเชื้อของแบคทีเรียนี้ เกิดจากการอยู่อาศัยและสัมผัสใกล้ชิด (Close person-to-person contact) กับผู้ป่วย หรือผู้ที่มีเชื้อ (แต่อาจไม่เป็นโรค หรือ พาหะโรค) ดังนั้นจึงมักพบโรคในสถานที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น ได้แก่ สถานพักฟื้นคนชรา ค่ายทหาร คุก เป็นต้น
โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดได้อย่างไร?
ในประชากรผู้ใหญ่ประมาณ 10-20% และในเด็กประมาณ 40% ที่ไม่มีอาการผิดปกติและแข็งแรงดี สามารถตรวจพบเชื้อแบคทีเรียชนิดก่อโรคนี้ได้จากหลังโพรงจมูก โดยเชื้อจะเจริญเติบโตและอาศัยอยู่บริเวณนี้โดยที่ไม่ทำให้เกิดโรค เชื้อสามารถอยู่ได้นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 6 เดือน แล้วระบบกำจัดเชื้อโรคของร่างกายจึงจะกำจัดออกไป
ในกรณีที่ระบบการกำจัดเชื้อโรคของร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ เช่น เกิดการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ (เช่น เป็นโรคหวัด) จะทำให้เกิดการคั่งของสารคัดหลั่งในจมูก/น้ำมูก และเซลล์ขนกวัด (Ciliated cell) ของโพรงจมูก ที่มีหน้าที่พัดโบกเชื้อโรคจะถูกทำลายหรือสูญเสียหน้าที่ไป หากในขณะนั้นร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอกคัสเข้าไป เชื้อก็ไม่อาจถูกกำจัดออกไปได้เหมือนคนปกติ จึงสามารถลุกลามเข้าสู่เนื้อเยื่อใกล้เคียง หรือเข้าสู่กระแสเลือด เรียกว่า Invasive pneumococcal infection และทำให้เกิดโรคตามมาได้
นอกจากนี้ยังรวมถึงการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และอาจพบในผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นโรคภูมิแพ้ที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งกรณีเหล่านี้ทำให้ระบบกำจัดเชื้อโรคสูญเสียหน้าที่ไป และยังพบในผู้ที่ประสบอุบัติเหตุมีเยื่อหุ้มสมองฉีกขาดจนทำให้เกิดช่องทางติดต่อระหว่างน้ำที่หล่อเลี้ยงสมองกับช่องหลังโพรงจมูก ซึ่งหากมีเชื้อนิวโมคอกคัสอยู่ เชื้อก็จะสามารถลุกลามเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองและทำให้เยื่อหุ้มสมองเกิดการติดเชื้อนี้ได้
กรณีที่ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายมีความผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นโรคนี้เช่นกัน เช่น เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดต่างๆ รวมถึงโรคติดเชื้อเอชไววี การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น กรณีเป็นโรคออโตอิมูน/โรคภูมิต้านตนเอง) เป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็ง โรคไตวาย มีภาวะขาดสารอาหาร เป็นโรคเลือด ชนิดที่เรียกว่า Sickle cell disease เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ในผู้สูงอายุ แม้ไม่มีโรคประจำตัว ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายก็มีการเสื่อมถอยตามวัย จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อและเป็นโรคนี้ได้
เชื้อจากหลังโพรงจมูก เมื่อลุกลามเข้าสู่ร่างกายแล้ว สามารถก่อให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เชื้อโรคลุกลามเข้าไปอยู่และแบ่งตัวเจริญเติบโต ที่พบได้บ่อยคือ ไซนัสอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ (หูติดเชื้อ) เนื่องจากทั้งไซนัสและหูชั้นกลางมีช่องที่ติดต่อกับหลังโพรงจมูกโดยตรง นอกจากนี้เชื้ออาจทำให้ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ กระดูกอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ในผู้ที่เป็นปอดอักเสบรุนแรง เชื้อจากปอดจะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด แล้วทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้เช่นเดียวกัน เชื้อที่อยู่ในกระแสเลือดอาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มหรือเยื่อบุภายในห้องหัวใจอักเสบตามมาได้
เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้แล้ว ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจะพยายามกำจัดเชื้อโรค โดยการส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อมาจับกินเชื้อ แต่แคปซูลที่ห่อหุ้มเชื้อนิวโมคอกคัสจะเป็นตัวปกป้องเชื้อจากการถูกกินของเซลล์เม็ดเลือดขาวไว้ ต่อมาร่างกายจึงสร้างแอนติบอดี (Antibody/ สารภูมิต้านทาน)ต่อแคปซูลของเชื้อ ซึ่งแอนติบอดีจะเป็นตัวช่วยให้เม็ดเลือดขาวสามารถจับกินเชื้อโรค เชื้อจึงสามารถถูกทำลายได้
เม็ดเลือดขาวชนิดที่มีหน้าที่เก็บกินเชื้อโรคที่มีแอนติบอดีจับอยู่นี้ พบได้มากในม้าม ดังนั้นผู้ที่ไม่มีม้ามแต่กำเนิด หรือถูกตัดม้าม จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่รุนแรง เนื่องจากไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสมีอาการอย่างไร?
โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส สามารถก่อให้เกิดอาการได้ภายใน 1-3 วันนับจากได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค) โดยมีอาการได้หลากหลาย ขึ้นกับอวัยวะที่เกิดโรคดังนี้ คือ
1. ไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการ คัดจมูก มีน้ำมูกข้น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดบริเวณโหนกแก้ม
2. หูชั้นกลางอักเสบ (หูติดเชื้อ) อาการได้แก่ มีไข้สูง ปวดหูข้างที่อักเสบมาก หูอื้อ การได้ยินลดลง คลื่นไส้ อาเจียน ในเด็กเล็ก อาจมีอาการร้องไห้งอแง โดยเฉพาะกลางคืน จับดึงใบหูของตนเอง หากส่องตรวจดูในรูหู จะพบเยื่อแก้วหูมีลักษณะขุ่นแดงและโป่งพองออก หากเยื่อแก้วหูแตกทะลุ ก็จะเห็นหนองไหลออกมาจากรูหู ซึ่งจะส่งผลให้อาการไข้และปวดหูของผู้ป่วยลดลง
3. ปอดอักเสบ จะมีอาการไข้สูง ไอ หอบเหนื่อย หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ตรวจฟังเสียงปอดจะได้ยินเสียงผิดปกติ
4. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการคือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ คอแข็ง หากไม่ได้รับยาปฏิชีวนะรักษาภายใน 24-48 ชั่วโมงผู้ป่วยจะเริ่มสับสน และค่อยๆซึมลงจนหมดสติได้ เยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจเกิดจากผู้ป่วยเป็นไซนัสอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสอยู่ก่อน แล้วเชื้อจึงลุกลามเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองซึ่งอยู่ใกล้กับช่องไซนัสหรือช่องหูชั้นกลางที่อักเสบนั้น หรืออาจเกิดจากผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อนิวโมคอกคัสในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) แล้วเชื้อจากกระแสเลือดก็เข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง นอกจากนี้อาจเกิดจากเคยประสบอุบัติเหตุที่ทำให้เยื่อหุ้มสมองฉีกขาดและเกิดช่องทางติดต่อระหว่างน้ำที่หล่อเลี้ยงสมองกับช่องหลังโพรงจมูก ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบซึ่งมักเกิดขึ้นซ้ำๆได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ต้นเหตุ
5. ข้ออักเสบ อาการได้แก่ ข้อบวม แดง ปวดข้อ การเคลื่อนไหวข้อลำบาก
6. กระดูกอักเสบ อาการได้แก่ ไข้ ปวดกระดูกบริเวณที่มีการอักเสบ เนื้อเยื่อบริเวณรอบกระดูกบวมแดง การเคลื่อนไหวของกระดูกที่มีการอักเสบทำได้ลำบาก ข้ออักเสบและกระดูกอักเสบมักเกิดจากการมีภาวะติดเชื้อนิวโมคอกคัสในกระแสเลือดอยู่ก่อน แล้วเชื้อจึงเข้าสู่ข้อหรือกระดูก และทำให้เกิดการอักเสบตามมา
7. เยื่อบุช่องท้องอักเสบ อาการคือ มีไข้ ปวดท้อง ท้องแข็ง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก เยื่อบุช่องท้องอักเสบอาจเกิดจากผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อนิวโมคอกคัสในกระแสเลือดอยู่ก่อน แล้วเชื้อจึงทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบตามมา หรืออาจเกิดจากผู้ป่วยเกิดกระเพาะอาหารหรือลำไส้ทะลุ ทำให้เชื้อนิวโมคอกคัส ซึ่งอาจอยู่ในลำไส้เหล่านั้นออกมาทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้ และอีกช่องทางหนึ่งคือ เชื้ออาจมาจากช่องของระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น อาจเป็นท่อนำรังไข่อักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสอยู่ก่อน จากท่อนำรังไข่ เชื้อสามารถเดินทางต่อเข้าสู่ช่องท้องเนื่องจากเชื่อมต่อกัน แล้วทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้
8. ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ในบางราย เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือดตั้งแต่แรก โดยที่ไม่พบการติดเชื้อของอวัยวะอื่นๆ ผู้ป่วยก็จะมีอาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เช่น มีไข้สูง หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำ เกิดการล้มเหลวของการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจล้มเหลว และ/หรือ ภาวะหายใจล้มเหลว เป็นต้น
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสอย่างไร?
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส ประกอบไปด้วย การวินิจฉัยว่ากำลังมีการติดเชื้อที่อวัยวะใด และการวินิจฉัยว่าการติดเชื้อนั้นๆ เกิดจากเชื้อนิวโมคอกคัสหรือไม่ และการวินิจฉัยหาโรคประจำตัว
- การวินิจฉัยว่ากำลังมีการติดเชื้อที่อวัยวะใด อาศัยจากอาการและการตรวจร่างกายผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งมักจะชัดเจนและวินิจฉัยได้ไม่ยาก ยกเว้นในเด็กทารกและผู้สูงอายุ ที่อาการ อาจไม่ตรงไปตรงมา เช่น ในผู้สูงอายุที่เป็นปอดอักเสบ อาจไม่มีไข้ แต่มีอาการซึม สับสนแทนก็ได้ เป็นต้น ในบางโรคแพทย์ต้องอาศัยการตรวจพิเศษเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น การเอกซเรย์ปอดในกรณีที่สงสัยว่าเป็นปอดอักเสบ การเจาะน้ำไขสันหลังตรวจกรณีที่สงสัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
- การวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อนิวโมคอกคัส ต้องอาศัยการย้อมสีดูเชื้อ (Gram stain) และเพาะเชื้อตรวจ โดยการเก็บสิ่งส่งตรวจขึ้นกับว่าผู้ป่วยกำลังป่วยเป็นอะไร เช่น หากเป็นปอดอักเสบ ต้องเก็บเสมหะไปเพาะเชื้อ หากเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ต้องเจาะน้ำไขสันหลังไปเพาะเชื้อ ในกรณีที่เป็นหูชั้นกลางอักเสบ หากมีหนองไหลออกมา อาจนำหนองไปเพาะเชื้อ หรือหากมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ต้องเจาะเลือดนำไปเพาะเชื้อ เป็นต้น
- การวินิจฉัยหาโรคประจำตัว ผู้ที่ไม่เคยทราบว่ามีโรคประจำตัวมาก่อน หากป่วยเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส ควรได้รับการประเมินว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ โดยเฉพาะหากติดเชื้อในอวัยวะที่พบได้น้อย เช่น เป็นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ (Cellulitis) จากเชื้อนิวโมคอกคัส ก็ควรเจาะเลือดตรวจหาเชื้อเอชไอวี เป็นต้น
มีแนวทางรักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสอย่างไร?
การรักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส ประกอบด้วย การให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อและการรักษาแบบประคับประคองตามอาการของโรค
- การให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ ในผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบและหูชั้นกลางอักเสบ (หูติดเชื้อ) ส่วนใหญ่จะไม่ได้เพาะเชื้อหาเชื้อที่เป็นต้นเหตุ โดยปกติแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุหลัก ซึ่งรวมถึงเชื้อนิวโมคอกคัส แต่เชื้อนิวโมคอกคัสที่ทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบ มักเป็นเชื้อที่ดื้อยา ดังนั้นหากอาการไม่ดีขึ้น แสดงว่าเชื้อนิวโมคอกคัสชนิดดื้อยาน่าจะเป็นสาเหตุการเกิดโรค แพทย์ก็จะเปลี่ยนชนิดยาปฏิชีวนะที่ใช้
สำหรับโรคที่เกิดกับอวัยวะอื่นๆ แพทย์จะดูผลการเพาะเชื้อเป็นหลัก แต่ในระหว่างที่รอผลหรือในกรณีที่อาการรุนแรง แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อได้หลายชนิดไปก่อน เมื่อผลการเพาะเชื้อออกมาเป็นเชื้อนิวโมคอกคัส แพทย์ก็จะเลือกใช้ชนิดยาปฏิชีวนะที่ตรงกับเชื้อมากขึ้น
- การรักษาแบบประคับประคองตามอาการของโรคที่เป็นอยู่ เช่น หากเป็นไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก และให้ยาบรรเทาอาการร่วมกับยาปฏิชีวนะดังกล่าวแล้ว ได้แก่ ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ส่วนผู้ที่เป็นปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้อ กระดูกอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และจะให้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบฉีด ส่วนการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ปวด ให้สารน้ำทางหลอดเลือดกับผู้ป่วย ให้ออกซิเจน เป็นต้น
โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสมีผลข้างเคียงและความรุนแรงของโรคอย่างไร?
โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสมีผลข้างเคียงและความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรค ดังนี้
1. ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยชนิดหนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่อาจไม่คุ้มกันตลอดชีวิตถ้าระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคอ่อนแอลง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ และยังมีโอกาสติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยอื่นๆได้อีก
2. อัตราการเสียชีวิต(ตาย) และการเกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น โรคที่ผู้ป่วยเป็น สภาพของผู้ป่วยและโรคประจำตัวที่มีอยู่ การได้รับการรักษาที่รวดเร็วและถูกต้องเหมาะสม
3. ผู้ที่เกิดหูชั้นกลางอักเสบ (หูติดเชื้อ) มีโอกาสเกิดเยื่อแก้วหูทะลุ ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคไม่ดี หรือไม่ได้รับยารักษาที่ถูกต้องเหมาะสม เชื้ออาจลุกลามเข้าสู่สมอง และเกิดฝีในสมองได้
4. ผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบ อาจเกิดเนื้อเยื่อรอบตาและลูกตาอักเสบตามมาได้ หรือกระดูกที่อยู่รอบๆไซนัส อาจเกิดการอักเสบ หรืออาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำในสมองได้
5. ผู้ที่เป็นปอดอักเสบ อาจเกิดเป็นฝีในปอด หรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอดตามมาได้
6. ผู้ที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อหายแล้วอาจเกิดความพิการทางระบบประสาทถาวรได้
7. ผู้ที่เป็นกระดูกและข้ออักเสบ เมื่อหายแล้วอาจเกิดการผิดรูปร่างของกระดูกแลข้อนั้นๆจนอาจใช้งานได้ไม่เหมือนปกติ
ดูแลตนเองและป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสอย่างไร?
ดูแลตนเองและป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสได้ดังนี้ คือ
1. วัคซีนสำหรับป้องกันโรคมีใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2520 หลังจากนั้นก็ถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีวัคซีน 2 ชนิด คือ Pneumococcal polysaccharide vaccine 23 (PPSV23) และ Pneumococcal conjugated vaccine 13 (PCV13)
2. วัคซีน PPSV23 เป็นวัคซีนที่ป้องกันเชื้อนิวโมคอกคัสได้ 23 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบเป็นสาเหตุบ่อยของการเกิดโรค ผู้ที่เหมาะกับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ คือ
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และแนะนำให้ฉีดกระตุ้นต่อไป อย่างน้อยทุก 5 ปี
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 19-64 ปี ที่เป็นโรคหืด หรือสูบบุหรี่
3. วัคซีน PCV13 เป็นวัคซีนที่ป้องกันเชื้อนิวโมคอกคัสได้ 13 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบเป็นสาเหตุบ่อยของการเกิดโรคในเด็ก แนะนำการฉีดวัคซีนชนิดนี้ดังนี้ คือ
- ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ให้ฉีด 4 ครั้งที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และที่ 12-15 เดือน
- ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีจนถึง 5 ปี หากไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนหรือได้รับไม่ครบ ควรฉีดวัคซีน 1 ครั้ง
- ในเด็กอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไปจนถึง 18 ปีที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่ว่าจะเคยได้รับวัคซีนมาก่อนหรือไม่ ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ ยกเว้นเด็กที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ตัวอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องชนิดต่างๆ ไม่มีม้ามหรือได้รับการผ่าตัดเอาม้ามออก ได้รับผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เป็นต้น
4. ในผู้ใหญ่อายุ 19 -64 ปี ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ หากไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ควรได้รับวัคซีน PCV13 1 เข็มก่อน หลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีน PPSV23 กระตุ้นอย่างน้อยทุก 5 ปี
5. ในผู้ใหญ่อายุ 19-64 ปี ที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ แนะนำให้ฉีดวัคซีน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากแม้จะมีโอกาสรับเชื้อจากผู้ป่วย แต่หากแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ก็จะไม่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังการดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์เสมอโดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดความรุนแรงของโรค ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ โรคเกิดได้อย่างไร เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ
บรรณานุกรม
- Daniel M. Musher. Pneumococcal infections, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald, Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001[2017,Sept2]
- https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/pneumo/index.html[2017,Sept2]
- http://www.vaccineinformation.org/pneumococcal/[2017,Sept2]
Updated 2017,September2