โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษ (Toxic neuropathy)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 21 กรกฎาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษคืออะไร?
- โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษพบได้บ่อยไหม?
- โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษเกิดได้อย่างไร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงได้รับสารพิษ?
- โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- การวินิจฉัยโรคโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษทำได้อย่างไร?
- รักษาโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ป้องกันโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษได้อย่างไร?
- สรุป
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (Diabetic Neuropathy)
- กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร โรคจีบีเอส (Guillan Barre syndrome: GBS)
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุติดเชื้อเอชไอวี (Neurologic Complications of HIV Infection)
- โรคเส้นประสาทเหตุโปรตีนผิดปกติ (Peripheral neuropathy associated with monoclonal gammopathy)
- โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร (Nutritional neuropathy)
- โรคเส้นประสาทเหตุไตวาย (Uremic neuropathy)
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี (Neurologic Complication of SLE)
- โรคซีไอดีพี
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
บทนำ
โรคเส้นประสาท (Neuropathy) เป็นโรคหนึ่งที่พบบ่อยในโรคทางระบบประสาท เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงจากได้รับสาร พิษต่างๆที่ในปัจจุบันพบบ่อยมากขึ้น เนื่องจากเรามีโอกาสได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม จากการประกอบอาชีพและในการดำรงชีวิต จึงจำเป็นต้องทราบถึง ‘โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษ(Toxic neuropathy)’ ว่ามีสารพิษอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุ มีอาการผิดปกติอย่างไร รักษาและดู แลตนเองอย่างไร
โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษคืออะไร?
โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษ คือ โรคจากความความผิดปกติของเส้นประสาทที่เกิดจากการได้รับยาบางชนิด สารเคมีบางชนิด อาจโดยการทานหรือการสัมผัส ที่ส่งผลให้เส้นประสาทเกิดความผิดปกติ โดยเฉพาะแกนกลางของเส้นประสาท (Axon) โดยความผิดปกติเริ่มจากส่วนปลาย ลามสู่ส่วนต้นของเส้นประสาท (Dying-back axonal degeneration)
โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษพบได้บ่อยไหม?
จากการศึกษาในปัจจุบัน ไม่พบความชุกของโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษที่แน่นอน เพราะส่วนใหญ่ คือ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเส้นประสาท แพทย์ตรวจไม่พบสา เหตุที่แน่ชัด ทั้งนี้เชื่อว่า ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยที่หาสาเหตุไม่พบ อาจเกิดจากสารพิษที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อม หรือจากการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม
โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษเกิดได้อย่างไร?
การเกิดโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษ พบกลไกจากสารพิษที่ส่งผลเสียต่อเส้นประสาทได้ 3 รูปแบบ
1. ทำลายเซลล์ประสาทโดยตรงที่บริเวณปมประสาท (Dorsal root ganglion)
2. ทำลายเยื่อหุ้มปลอกประสาท (Demyelination)
3. ทำลายแกนกลางของเส้นประสาท (Axon) จากส่วนปลาย (Distal axonopathy)
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงได้รับสารพิษ?
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารพิษและใช้ยาต่างๆ ดังจะกล่าวต่อไป มีโอกาสเกิดโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษได้ ซึ่งได้แก่
ก. สารพิษ: ที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อย ได้แก่
1. Thallium ใช้ในอุตสาหกรรม กัด กลึง ขึ้นรูป โลหะ การทำความสะอาดเตาเผาถ่านหิน
2. DMAP (Dimethylaminopyridine) ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตโฟมโพลียูรีเทนชนิดยืดหยุ่น
3. Carbon disulfide ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอ
4. Ethylene Oxide ใช้ในการอบฆ่าเชื่อโรคในอุปกรณ์การแพทย์
5. ปรอท (Merculy) ใช้ในอุตสาหกรรมเคลือบกระจกเงา อุดฟัน เครื่องมือวัดความดันโลหิต ปรอทวัดไข้
6. ตะกั่ว (Lead) ใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี ลูกปืน ส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องแก้ว สาย ไฟ
ข. ยา: ที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อย ได้แก่
- Amiodarone (ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ)
- Dapsone (ยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง ใช้รักษาโรคเรื้อน)
- INH (Isoniazid) / ยารักษาวัณโรค
- Lithium (ยารักษาโรคทางจิตเวช)
- Phenytoin (ยากันชัก)
- Vincristine (ยาเคมีบำบัด)
โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษมีอาการอย่างไร?
อาการส่วนใหญ่ของโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษคือ อาการปวด ชา อ่อนแรง ที่แขน ขา เท้า มือ และอาการผิดปกติอื่นๆที่อาจพบได้คือ เหงื่อออกมากผิดปกติ ท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อ รัง ปัสสาวะราด เป็นตะคริว ปากแห้ง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ ซึ่งทั้งหมดเป็นอาการที่เกิดจากมีระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติร่วมด้วย
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ (ถึงแม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย) ที่เกิดภาย หลังจากสัมผัสหรือได้รับสารพิษ หรือภายหลังได้ทานยาบางชนิด ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยา บาล นอกจากนี้ กรณีพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติหรืออันตรายต่อสุขภาพ ควรมีการตรวจสุขภาพประจำปี และหาทางป้องกันการได้ รับสารพิษนั้นๆอย่างเคร่งครัด
การวินิจฉัยโรคโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษทำได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษได้ โดย
- ใช้ข้อมูลจากอาการผิดปกติต่างๆ
- ประวัติการสัมผัสหรือการได้รับสารพิษ ร่วมกับ
- การตรวจร่างกาย และการตรวจร่างกายทางประสาทวิทยา ที่พบอาการผิดปกติเข้าได้กับโรคเส้นประสาท และ
- อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจเลือด ดูระดับสารพิษ
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อวัดระดับสารพิษ
- อาจตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electro myography) หรือ
- ตรวจภาพเส้นประสาทด้วยเอมอาร์ไอ เพื่อยืนยันความผิดปกติของเส้นประสาท
***อนึ่ง: สิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยการวินิจฉัยโรค คือ ประวัติอาชีพที่เสี่ยงต่อการได้รับสารพิษ
รักษาโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษอย่างไร?
วิธีรักษาโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษคือ
- ต้องลดการได้รับสารพิษ ทั้งนี้ไม่มียารักษาที่เฉพาะสำหรับรักษาโรคนี้
- นอกจากนี้คือ การให้ยารักษาตามอาการ เช่น
- ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวด
- การใช้ยาต้านเศร้า, ยากันชัก เพื่อรักษาอาการชา หรือความรู้สึกผิดปกติที่แขน ขา และ
- การทำกายภาพบำบัด กรณีมี แขน ขา อ่อนแรงเป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองที่บ้าน หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษ ที่สำคัญ คือ
- การหลีกเลี่ยงสารพิษที่ได้รับ หรือหลีกเลี่ยงยาที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับ
- การทานยาที่แพทย์ให้รักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น
- กรณีมีอาการแขนขาอ่อนแรงก็ต้องทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย ตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด และพยาบาล แนะนำ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ผู้ป่วยโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
- อาการผิดปกติที่เคยมีอยู่นั้น เกิดกำเริบรุนแรงขึ้น หรือ
- มีอาการผิดปกติใหม่เกิดขึ้น
- แพ้ยาที่แพทย์สั่ง หรือ
- มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆที่ส่งผลให้ร่างกายมีอาการผิดปกติรุนแรงขึ้น
โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคหรือผลการรักษาโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษ ขึ้นกับความรุนแรงที่เกิด ขึ้น ส่วนใหญ่แล้วอาการจะดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ถ้าสามารถลดสารพิษในตัวลงได้ ร่วมกับการป้อง กันไม่ให้กลับไปได้รับสารพิษซ้ำอีก
โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงของโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษคือ เกิดความพิการได้จากการที่มีอาการอ่อนแรงของแขน ขา และอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะมีปัญหาเรื่อง การเดิน การทรงตัว เซ ล้ม ได้ง่าย
นอกจากนี้สารพิษที่ได้รับก็มีโอกาสก่อให้เกิดความผิดปกติของร่างกายในส่วนอวัยวะอื่นๆได้ด้วย เช่น หัวใจ สมอง ตับ และ/หรือไต
ป้องกันโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษได้อย่างไร?
สามารถป้องกันโรคเส้นประสาทเหตุสารพิษได้โดย
- ควรศึกษาว่า งานที่ทำ และ/หรือสิ่งแวดล้อมตัวเรา (รวมถึงที่อยู่อาศัย) มีโอกาสที่เราจะสัมผัสหรือได้รับสารพิษทางใด ก็ต้องหาทางป้องกันโดยการปฏิบัติตัว ตามวิธีการป้องกันนั้นๆอย่างเคร่งครัด รวมทั้งช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
- ควรหมั่นสังเกต สุขภาพร่างกายว่า มีอาการอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้ามี ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- ไม่ควรซื้ออาหารแปลก ผลิตภัณฑ์จากป่า หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ไม่มีข้อมูลยืนยันว่ามีความปลอดภัยมาทาน
- ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ และปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
สรุป
โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษ ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว ถ้าจำเป็นต้องสัมผัสสารพิษ ก็ต้องหาทางป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วย