โรคเดอเคอแวง (De Quervain’s disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคเดอเคอแวงคือโรคอะไร?

โรคเดอเคอแวง(De Quervain’s disease หรือ De Quervain หรือ De quervain tendinosis หรือ De quervain’s tenosynovitis หรือ De Quervain tendinopathy) หรือ กลุ่มอาการเดอเคอแวง (De Quervain syndrome) คือภาวะ/โรคที่มีการเสื่อมของปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กางและเหยียดนิ้วหัวแม่มือ ก่อนหน้านี้เชื่อว่าเกิดจาก การอักเสบ บวม ของปลอกหุ้มเอ็น 2 เส้นดังกล่าว

โรคเดอเคอแวง ได้ชื่อตามศัลยแพทย์ชาวสวีส นพ. Fritz de Quervain ที่รายงานโรคนี้เป็นคนแรกเมื่อ ค.ศ. 1895(พ.ศ. 2438) และศัลยแพทย์ท่านนี้ยังได้รายงานอีกโรคที่ได้รับการตั้งชื่อตามชื่อของท่านเช่นกัน คือ โรคต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลันที่ไม่ใช่สาเหตุจากการติดเชื้อ(De Quervain thyroiditis, อ่านเพิ่มเติมโรคนี้ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ต่อมไทรอยด์อักเสบ”) ซึ่งทั้ง2โรคเป็นคนละโรคไม่เกี่ยวข้องกัน เพียงแต่รายงานโรคครั้งแรกจากแพทย์ท่านเดียวกัน

โรคเดอเคอแวงเกิดจากอะไร?

โรคเดอเคอแวง

สาเหตุแท้จริงของโรคเดอเคอแวง ‘ยังไม่ทราบ’ แต่แพทย์เชื่อกันว่า การใช้ข้อมือบ่อยๆ ยกของหนักบ่อยๆ อาจเป็นสาเหตุ หรืออาจพบภายหลังการบาดเจ็บบริเวณข้อมือ นอกจากนี้ ยังพบว่า ในหญิงตั้งครรภ์ ก็พบอาการของโรคนี้ได้บ่อย

โรคเดอเคอแวงมีลักษณะอย่างไร?

ส่วนใหญ่ของโรคเดอเคอแวง พบในมือข้างถนัดเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้เชื่อว่า การทำงานที่ใช้ข้อมือบ่อยๆ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ/โรคนี้

โรคเดอเคอแวง มักพบในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป พบในทุกเพศ แต่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 5-6 เท่า

โรคเดอเคอแวง พบได้บ่อยพอควร โดยในสหรัฐอเมริกา มีรายงานพบในแต่ละปีประมาณ 0.6-2.8 รายต่อประชากร 1,000 คน

โรคเดอเคอแวงมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคเดอเคอแวง คืออาการปวด และกดเจ็บ บริเวณด้านข้างของข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ อาการปวดอาจขึ้นไปตามแนวของกล้ามเนื้อทั้ง 2 มัด ซึ่งไปเกาะที่บริเวณข้อศอกด้านนอก ผู้ป่วยบางราย อาจพบบริเวณดังกล่าว มีอาการบวมร่วมด้วย

โรคเดอเคอแวงวินิจฉัยอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเดอเคอแวงจากอาการของผู้ป่วย คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อใช้งานข้อมือ บางรายแม้กระทั่งแปรงฟันก็มีอาการปวด

จากการตรวจร่างกาย: แพทย์จะพบตำแหน่งกดเจ็บบริเวณหัวแม่มือ แพทย์จะตรวจโดยให้ผู้ป่วย งอนิ้วหัวแม่มือเข้าหากลางฝ่ามือ แล้วงอนิ้วที่เหลือทับซ้อนนิ้วหัวแม่มือ จากนั้นให้ผู้ป่วยขยับข้อมือไปทางด้านตำแหน่งที่มีอาการปวด ที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวด/เจ็บมากขึ้น

โรคเดอเคอแวงรักษาอย่างไร?

การรักษาโรคเดอเคอแวงในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกหลังมีอาการคือ แพทย์จะรักษาโดย

  • ให้ผู้ป่วยลดการใช้งานข้อมือข้างที่มีอาการ
  • กินยาลดปวด/ยาแก้ปวด และยาต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบ
  • อาจร่วมกับการใส่อุปกรณ์ดามข้อมือด้านมีอาการ

ถ้าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้นดังกล่าว แพทย์อาจรักษาโดยการฉีดยาสเตอรอยด์เฉพาะที่บริเวณที่มีการกดเจ็บ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80-90 (80-90%)จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยการฉีดยา

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจมีอาการกลับเป็นซ้ำได้ ซึ่งมักเกิดภายใน 6 เดือน – 1 ปีหลังหายจากอาการครั้งแรก ถ้ามีอาการกลับเป็นซ้ำ สามารถรักษาด้วยการฉีดยาซ้ำได้อีก แต่ไม่ควรฉีดยานี้เกิน 2-3 ครั้ง ซึ่งถ้ายังคงมีอาการ แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัด

จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่?

การผ่าตัดรักษาโรคเดอเคอแวงเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น คือ กินยา ใส่อุปกรณ์ดามข้อมือ ฉีดยา ไม่เกิน 2-3 ครั้ง

การผ่าตัด แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณที่กดเจ็บ เปิดแผลผ่าตัดขนาดไม่เกิน 1-2 ซม. ใช้มีดกรีดเปิดปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อที่หนาตัว ทั่วไปใช้เวลาผ่าตัด ไม่เกิน 10-15 นาที

โรคเดอเคอแวงมีพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคเดอเคอแวงคือ เป็นโรคไม่ร้ายแรง เพียงแต่ทำให้เกิดอาการปวด และใช้งานมือได้น้อยลง การรักษาในช่วง 4-6 สัปดาห์แรก มีโอกาสหายด้วยยา แต่โอกาสต้องฉีดยาเพิ่มขึ้นหลัง 6 สัปดาห์ หายแล้วกลับเป็นซ้ำได้ ถ้าเป็นซ้ำ 2-3 ครั้ง ควรผ่าตัด และโอกาสเป็นซ้ำหลังผ่าตัด ‘น้อยมาก’

เมื่อเป็นโรคเดอเคอแวงควรดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อเป็นโรคเดอเคอแวง การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
  • ควรลดการใช้งานข้อมือ อาจร่วมกับการ ดามข้อมือ ตามแพทย์แนะนำ
  • กินยาลดปวด/ยาแก้ปวด และ/หรือยาต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบ และรอดูผลการรักษาประมาณ 4-6 สัปดาห์
  • ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรฉีดยาตามแพทย์แนะนำ

ป้องกันโรคเดอเคอแวงได้หรือไม่?

โรคเดอเคอแวง ป้องกันไม่ได้ เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ ความจำเป็นด้านอาชีพ อาจทำให้ไม่สามารถพักหรือลดการใช้ข้อมือได้